
บ้านร่วมสมัยวัสดุธรรมชาติกลมกลืนกับป่า
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเมืองใหญ่ๆ ของเวียดนาม โดยเฉพาะในใจกลางกรุงฮานอย ทำให้แทบไม่มีพื้นที่เหลือให้ครอบครัวและเด็กๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์และสัมผัสกับธรรมชาติ หลายๆ บ้านเลือกการดึงธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ด้วยการออกแบบบ้านสีเขียวที่บ้านดูเหมือนกระถางใบใหญ่ แต่บางครอบครัวที่พอมีงบประมาณมากขึ้น ก็สามารถสร้างบ้านพักในใจกลางธรรมชาติได้ เนื้อหานี้เราจะพาไปชมบ้านสองชั้นหน้าตาธรรมดาที่ชวนให้มารวมตัวกันในวันหยุดสุดสัปดาห์กับคนที่รัก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับวิถีชีวิตสมัยใหม่
ออกแบบ : PAK Architects
ภาพถ่าย : Trieu Chien
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านสองชั้นพื้นที่ 220 ตารางเมตรนี้ สร้างในเมือง Yên Bái บนพื้นที่เนินเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของชานเมืองฮานอย สถานที่ก่อสร้างล้อมรอบด้วยป่าธรรมชาติและลักษณะทางวัฒนธรรมพื้นเมืองมากมาย จึงออกแบบบ้านที่รูปลักษณ์ร่วมสมัยง่ายๆ กับหลังคาจั่วชายคากว้างแบบที่เราคุ้นตาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว โทนสีเหมือนอิฐดูกลมกลืนกับรอบๆ พื้นที่ที่บ้าน องค์ประกอบของบ้านเน้นให้สมาชิกในครอบครัวได้สัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น สร้างช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นและผ่อนคลายตลอดทั้งวัน
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
จากมุมมองของสถาปนิก ป่าอันกว้างใหญ่แห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยและพัฒนาโดยสัญชาตญาณ ดังนั้น เมื่อมนุษย์ต้องการกลับคืนสู่ธรรมชาติ การเป็นผู้มาแบ่งปันอาศัยของมนุษย์ควรต้องเคารพต่อสิ่งที่อยู่มาก่อน สิ่งนี้ทำให้สถาปนิกนิยามบ้านกลางป่าให้เป็นเหมือนรังนก เพราะเจ้าของบ้านก็จะต้องมีรังเป็นของตัวเองด้วย จากจุดนั้น ทีมงานจึงพัฒนาแนวคิดของ “รัง” ที่ครอบครัวสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย โดยมีพื้นที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกัน
การออกแบบอ้างอิงถึงบ้าน “Nha San” แบบดั้งเดิม (รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์แต่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายของบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อยบนภูเขาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) แต่นำมาปรับให้มีความร่วมสมัย ดีไซน์ของบ้านมีหลังคาลาดเอียงด้านบนของอาคาร ซึ่งตอบสนองกับรูปร่างของภูมิทัศน์ธรรมชาติโดยรอบได้อย่างดี โครงสร้างของเสาช่วยขับเคลื่อนห้องชั้น 2 และระบบหลังคาด้านบน การใช้วัสดุดิบๆ ที่คุ้นเคย เช่น หิน ไม้ คอนกรีต จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในบริบทแวดล้อม
เข้ามาภายในบ้านจะเห็นว่าชั้นล่างเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง ซึ่งถือเป็นลำดับความสำคัญหลักของบ้าน ทีมงานออกแบบโดยคำนึงถึงช่วงเวลาแห่งการกลับมาพบกัน ดังนั้นพื้นที่นี้ควรรองรับกิจกรรมที่เชื่อมโยงสมาชิกในครอบครัวได้สบายๆ จึงจัดวางฟังก์ชันใช้งานประจำวันหลัก อย่างครัว ห้องทานอาหาร ห้องนั่งเล่นไว้ด้วยกันในบริเวณเดียว จุดเน้นหลักของพื้นที่ภายในคือช่องว่างขนาดใหญ่ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ต่างๆ ภายใน และมีกระจกหลาย ๆ จุด ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของทิวทัศน์ได้อย่างเต็มที่ และเปิดเชื่อมต่อกับพื้นที่กลางแจ้งและสระว่ายน้ำ
นอกจากความใส่ใจในการจัดพื้นที่ใช้ชีวิตให้สามารถเชื่อมต่อจากภายนอกสู่ภายใน สถาปนิกยังพยายามสร้างฉากที่น่าสนใจมากมายในบ้าน อาทิ ผนังตกแต่งแผ่นหินสูงหลายเมตร เพดานคอนกรีตเปลือย ผนังสีส้มอิฐเจาะช่องแสงวงกลม พื้นไม้ลายก้างปลา ช่องว่างโถงสูงเหนือห้องนั่งเล่นและจุดเชื่อมต่อระหว่างบันไดและโถงทางเดิน ที่ให้ความรู้สึกโอ่โถง โปร่งตา และเป็นพื้นที่สำหรับการระบายอากาศตามธรรมชาติอีกด้วย
ส่วนของพื้นที่พักผ่อน ห้องนอนทั้งหมดถูกยกไปที่ชั้น 2 ซึ่งได้สร้างระเบียงและทางเดินด้านล่างทำหน้าที่เป็นพื้นที่กันชน ช่วยให้พื้นที่ภายนอกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ภายในได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยลดอิทธิพลของฝนและแสงแดดจากทิศตะวันตกที่มีต่อพื้นที่ภายในได้อีกด้วย
โถงสูงหลายเมตรที่ตกแต่งด้วยแผ่นหินขึ้นไปจนถึงหลังคา เป็นจุดโฟกัสสายตาที่เหมือนหน้าผาชวนมายืนชมวิว พื้นที่นี้จะเชื่อมต่อกับสะพานทางเดินบนชั้นสอง ซึ่งมีช่องแสงสกายไลท์เหนือส่วนนี้ ทำให้ภายในบ้านสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟฟ้าส่องสว่างช่อวงกลางวัน
โครงการนี้รวมเอาพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่น่าตื่นเต้น พื้นที่แต่ละแห่งมีเรื่องราวที่ที่สถาปนิกต้องการถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้สัมผัส โดยหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าของบ้านมีช่วงเวลาที่สะดวกสบายและสนุกสนานกับครอบครัว นอกจากนี้ทีมงานยังหวังว่าจะเป็นตัวอย่างกำหนดแนวทางให้โครงการอื่นๆ ที่อาจจะมีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ได้ออกแบบโดยพยายามลดผลกระทบเชิงลบต่อภูมิทัศน์โดยรวมให้เหลือน้อยที่สุด
แปลนบ้าน