
บ้านบนเนินต่างระดับ
สำหรับคนที่กำลังสร้างบ้านหรือสร้างสำเร็จไปแล้ว จะทราบดีว่าแต่ละขั้นตอนในการลงมือ ไม่ว่าจะเป็นการหาที่ดิน การออกแบบ การดีลงานกับผู้รับเหมา ช่าง ไม่มีขั้นตอนไหนที่เรียกว่า “ง่าย” แม้แต่ที่ดินที่เป็นพื้นราบรูปร่างสี่เหลี่ยมสวยงาม ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะไม่มีปัญหา แล้วหากเป็นพื้นที่เนินลักษณะแบบขั้นบันไดล่ะจะออกแบบยากขึ้นกี่เท่า แต่สิ่งที่กังวลใจจะหมดไปหากได้สถาปนิกฝีมือดีมาช่วยออกแบบ เหมือนเช่นบ้านนี้ที่ทำให้ที่ดินขันบันไดกลายเป็นบ้านที่น่าสนุกในทุกขั้น
ออกแบบ : wooooooow
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
การสร้างบ้านบนเนินเขาโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สถาปนิกโทโมฮิโระ ฮาตะ ต้องเผชิญกับความท้าทายด้วยไซต์ที่มีระดับไม่ซ้ำกันแต่ละแห่ง แถมยังมีหน้าที่ดินแคบอีกด้วย จึงเหลือพื้นที่ให้สร้างตัวบ้านน้อยมาก เห็นจากบ้านข้าง ๆ ที่ปล่อยพื้นที่เนินด้านหน้าให้เป็นสวนกว้างๆ ไปเลย แล้วทำอาคารอยู่ชิดบริเวณที่ราบด้านหลังแทน อุปสรรคเหล่านี้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่น่าสนใจ เพราะฮาตะมองหาข้อได้เปรียบของที่ดินแล้วนำมาปรับประยุกต์ให้เหมาะสม อาทิ ปัจจัยด้านบวกของธรรมชาติ เช่น ทิศทางของลม แสงแดด และความสูงในระดับที่ต่างกันซึ่งจะให้มุมมองที่ต่างกันด้วย ในระหว่างนั้นก็คิดว่าคนจะอาศัยอยู่ในบ้านที่ลาดชันนี้อย่างไรโดยที่ไม่รู้สึกติดขัด
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
จากแนวคิดนี้ทำให้เห็นว่า สถาปนิกม่ได้ให้ความสำคัญเพียงดีไซน์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเป้าไปที่การออกแบบพื้นที่ให้เจ้าของบ้านสามารถ “อาศัยอยู่บนทางลาด” ได้จริง โดยที่การใช้ชีวิตภายในสะดวกสบายและกลมกลืนกับภายนอก ขณะที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาระหว่างแต่ละชั้นได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการทำบ้านผนังสีขาวสะอาดตาที่ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป แต่ละจุดมีฟังก์ชันของตัวเอง และมีช่องเปิดลักษณะซุ้มโค้งเหมือนศิลปะโรมาเนสก์ หรือเรียกกันว่า ศิลปะนอร์มัน ดูเหมือน Santorini สถานที่ท่องเที่ยวในฝันในกรีซ ที่หลาย ๆ อยากไปสักครั้งในชีวิต
จากตัวอย่างโมเดลจำลอง เราจะเห็นว่าชุดของซุ้มนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแนวผนังที่คิดว่าอย่างดี เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อสเปซให้ความรู้สึกว่ามีพื้นที่ว่าง ไหลลื่น และเข้าถึงแสงธรรมชาติได้ ชั้นของซุ้มประตูเหล่านี้ทำให้เกิดการซ้อนกันของพื้นที่ว่าง ที่ทะลุถึงกันได้ช่วยให้นำทางไปยังห้องและชั้นต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการใช้ Organic form คือรูปทรงที่เลียนแบบมาจากธรรมชาติ เพื่อโต้ตอบกับพื้นที่ที่เปลี่ยนระหว่างกันอย่างราบรื่น
การตกแต่งภายในที่เรียบง่าย เน้นสีขาวและงานไม้ให้กลิ่นอายความเป็น minimal และยังเข้ากันได้ดีที่สุดกับความเป็นธรรมชาติ ทุกห้องในบ้านไม่ว่าจะเป็นครัว ห้องทานข้าว ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ก็จะมีองค์ประกอบของไม้สีอ่อน ๆ อยู่ทั้หมด และมีซุ้มประตูโค้งโล่ง ๆ อยู่รายรอบด้วย เมื่อมองผ่านช่องว่างเหล่านี้ก็จะเห็นสมาชิกในบ้านที่อยู่คนละห้องได้ชัดเจนแบบไม่มีอุปสรรค
ไม่เพียงแต่การเปิดพื้นที่แนวนอนเท่านั้นสถาปนิกยังเปิดพื้นที่แนวตั้งด้วยการเปิดพื้นเพดานบางจุดเชื่อมต่อในแนวตั้ง ให้บ้านเป็นโถงสูงที่สามารถมองลงมาเห็นห้องด้านล่างได้ คนที่อยู่ชั้นล่างก็มีปฏิสัมพันธ์กับชั้นบนง่าย ๆ อยู่ตรงไหนก็มองเห็นกัน ในระหว่างความต่างระดับนี้จะมีตัวช่วยคือ “บันได” รูปแบบต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ให้ขึ้น-ลงได้ง่าย ๆ เหมือนบ้านทั่วไป จนลืมไปเลยว่าที่นี่เป็นเนินไต่ระดับ
ความต่างระดับไม่ใช่ปัญหาเมื่อการจัดแปลนบ้านสามารถสอดรับกับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ตรงจุดที่สูงขึ้นก็มีบันไดเชื่อมต่อ มีชั้นลอยที่แวะใช้งานได้ ก่อนที่จะไปยังจุดอื่น ๆ มองไปมองมาก็เหมือนรังมดที่มีห้องเล็กห้องน้อยที่มีทางต่อเนื่องถึงกันได้หมด บางครั้งก็เป็นสนามเด็กเล่น ให้ลูก ๆ ปีนป่ายขึ้นลงอย่างน่าสนุก
จากความหนักใจในตอนแรกที่บ้านมีข้อจำกัดไม่เหมือนบ้านหลังอื่น ๆ เมื่อลองใส่ไอเดียเข้าไปใช้ประโยชน์จากสภาพพื้นที่อย่างเต็มที่ ตอนนี้ทุกคนในบ้านก็สามารถเพลิดเพลินกับทุกพื้นที่ในบ้าน และได้รับภูมิทัศน์ในเมืองได้อย่างง่ายดายผ่านช่องเปิดรอบด้าน ทำให้ทุกวันของที่นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีเบื่อ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านบนพื้นที่ลาดชันหรือมีระดับพื้นดินไม่เท่ากัน เป็นหนึ่งในลักษณะที่ดินที่เจ้าของบ้านมักไม่อยากได้ เนื่องจากจัดการที่ดินและแปลนบ้านได้ยาก บางที่เหลือที่ราบให้สร้างตัวอาคารน้อยมากจนใช้งานไม่ได้ ต้องปรับหน้าดินให้เท่ากัน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก แต่ในบางสถานการณ์สถาปนิกจะแก้ปัญหาด้วยการใช้ตอม่อ เสาคอนกรีต หรือเสาเหล็กยกอาคารในจุดที่ต่ำกว่าให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ราบ หรือทำแบบ้านนี้ คือ วางฟังก์ชันลงบนระดับที่ต่างกันเลย แต่ใช้วิธีการเชื่อมต่อด้วยบันได ทำชั้นลอยให้เหมือนบ้านค่อย ๆ ยกระดับดับขึ้นโดยไม่ต้องปรับพื้นที่ |
แปลนบ้าน