
ปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับอากาศเขตร้อน
ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองถูกกันออกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และอยากกลับไปสู่อ้อมกอดของสายลม แสงแดด ต้นไม้ใบหญ้าอีกครั้ง จะดีไหมหากเราสามารถเก็บสิ่งเหล่านี้เอาไว้ใกล้ตัวอย่าง “บ้าน” ที่ทุกเช้าตื่นมาก็เจอ ก่อนนอนก็ได้สัมผัส เนื้อหานี้เราจะพาไปชมบ้านแถวหลังหนึ่ง เป็นบ้านเก่าในย่านอัมปังจายาอันเงียบสงบของกัวลาลัมเปอร์ ปรับปรุงใหม่โดย ZLG Design จากภายนอกจะโดดเด่นด้วยวัสดุและรายละเอียดการออกแบบที่เต็มไปด้วยช่องว่างและต้นไม้ ซึ่งแสดงถึงความรักของเจ้าของที่มีต่อวิถีชีวิตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และออกแบบด้วยแนวคิดที่อบอุ่นหัวใจ
ออกแบบ : ZLG Design
ภาพถ่าย : Lawrence Choo, Lin Ho
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เจ้าของซึ่งเป็นสถาปนิกเอง ซื้อบ้านแถวแบบที่นิยมสร้างของมาเลเซียในยุค 80 เอาไว้ปรับปรุงเพื่ออยู่อาศัย ภายในบ้านก็เหมือนโครงการอื่นๆ ที่มีผนังก่อปิดแยกห้องเล็กห้องน้อย ตลอดระยะเวลา 27 ปี ที่ใช้งานมาทำให้มีความทรุดโทรมและไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ สถาปนิกจึงทำการปรับปรุงบางอย่างในปี 2015 แล้วเสร็จในปี 2018 เมื่อลูกๆ ย้ายออกไป ทำให้เจ้าของบ้านสามารถลดพื้นที่ลงได้หนึ่งในสามของพื้นที่เดิม ด้วยเหตุนี้จึงสามารถจัดภูมิทัศน์เขียวๆ และสวนสำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้มากขึ้น
ครึ่งบนของผนังฟาซาดใหม่เป็นชุดหน้าต่างบานเกล็ดไม้แบบเปิดได้ 6 ช่อง ในขณะที่ครึ่งล่างเป็นกระจกทั้งหมด โดยใช้กรอบโลหะรีไซเคิลและบานพับที่รื้อมาจากบ้านหลังเก่า ผนังบางส่วนใช้อิฐบล็อกคอนกรีตน้ำหนักเบาราคาถูก ที่ปล่อยทิ้งไว้เปล่าๆ โดยไม่ได้ฉาบปูนทั้งสองด้าน ทำให้ผนังสามารถ “หายใจ” ได้และไม่ปิดกั้นอากาศ
“เราสังเกตว่าธรรมชาติจะมีส่วนช่วยทำให้โครงการนี้มีชีวิตชีวาได้อย่างไร โดยไม่ต้องมีความวิตกกังวลหรือความคาดหวังใดๆ เพียงแค่ปล่อยวางและดูว่าสิ่งนี้จะพาเราไปสู่จุดไหน” เจ้าของ/สถาปนิกกล่าว ดังนั้นบ้านนี้จึงเน้นความเปิดโล่งเชื่อมต่อกับลานและสวนให้มากที่สุด ในชั้นล่างสุดประกอบด้วย ห้องสตูดิโอมีห้องนอน ห้องน้ำ พื้นที่ซักรีด และสวนหน้าบ้าน ที่เชื่อมต่อกับภายในผ่านประตูบานเฟี้ยมกระจกที่เปิดผนังออกได้กว้าง
ชั้นล่างจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ห้องนอนนอน/นั่งเล่น ที่ออกแบบไว้สำหรับให้ลูกๆ หรือเพื่อนๆ ที่มาเยี่ยมเยียนได้พักอย่างอิสระ และอีกด้านเป็นห้องโถงต่อเนื่องจากทางเข้าไปยังบันไดที่จะนำขึ้นไปพื้นที่นั่งเล่นหลักบนชั้นสอง
นอกจากสวนนอกบ้านแล้ว ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ได้ใกล้ชิดกับต้นไม้มากพอ จึงจัดให้มีคอร์ทยาร์ดจัดเป็นสวนปลูกต้นไม้เอาไว้ภายในตัวบ้านอีกจุดติดกับห้องนอน ซึ่งจะมีผนังช่องลม และหน้าต่างบานเกล็ดยาวติดตั้งเรียงเป็นแถวเหนือม้านั่งคอนกรีต สามารถเปิดออกเชื่อมต่อกับสวนได้ บรรยากาศห้องนี้จึงเหมือนได้นอนผ่อนคลายอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติทั้งสองด้าน
ด้วยแนวคิดในการเติมธรรมชาติลงในตัวบ้าน ทำให้เจ้าของเลือกรื้อพื้นเพดานของชั้นสองออกในส่วนที่ตรงกับสวน ทำให้ต้นไม้สามารถเติบโตสูงขึ้นทะลุถึงชั้น 2 หรือ 3 ได้ในอนาคต
หลายๆ ด้านของบ้านจะทำผนังที่ก่อด้วยอิฐเว้นช่องว่างสลับทึบ เป็นช่องลมให้บ้านได้ระบายอากาศ และรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน เมื่อแสงส่องลอดผ่านตามรูพรุนสูงหลายเมตรเหล่านี้ ทำให้ภายในเกิดมิติของแสงเงาที่ตกกระทบบนพื้นผิว ซึ่งจะเปลี่ยนทิศทางและรูปร่างไปตามการเดินทางของแสงแต่ละช่วงของวัน บ้านจึงเหมือนมีความระยิบระยับอยู่ตลอดเวลา
เมื่อมาถึงชั้นสองจะเห็นว่า ผนังภายในที่กั้นห้องทั้งหมดรวมทั้งผนังห้องน้ำถูกรื้อออก และไอส์แลนด์กลางครัวก็ถูกรื้อออกด้านในบางส่วน จุดประสงค์ที่ทำเช่นนี้เพื่อสร้างพื้นที่ภายในที่มีความต่อเนื่อง กว้างขวางและดูโปร่งสบาย ตอบโจทย์บ้านเขตร้อนชื้นได้มากขึ้น บนชั้นนี้มีฟังก์ชันหลัก ๆ คือ ห้องครัวแบบเปิดทำจากคอนกรีตและไม้ง่ายๆ แต่ขนาดใหญ่ใช้งานได้จริง โต๊ะทานข้าวไม้ขนาดใหญ่ที่ปรับใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ และมุมนั่งเล่นพักผ่อนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งชั้น
ตรงใจกลางบ้านจากชั้นล่างที่เจาะพื้นเพดานเหนือสวน และอีกหลายจุดที่มีความต่อเนื่องกัน สร้างพื้นที่เปิดโล่งสูงถึง 3 ชั้น ที่ทำให้สามารถมองเห็นกันได้จากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน มาพร้อมช่องแสงบนหลังคาขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ต้นไม้เติบโต บ้านก็ได้รับแสงโดยตรงจากด้านบนกระจายลงสู่ภายใน การเชื่อมต่อแนวตั้งนี้ยังทำให้บ้านมีการไหลเวียนของอากาศภายในดีขึ้นมาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดสะพานเชื่อมทางเดินใหม่รอบๆ ด้วย
จุดเด่นหนึ่งของบ้านนี้ คือ พื้นที่ปลูกต้นไม้บนผนังคอนกรีตสูงเอียง ส่วนนี้เป็นผนังกันดินเดิมที่สร้างไว้เพื่อความปลอดภัย ช่วยป้องกันน้ำท่วมและการพังทลาย โดยมีแผ่นคอนกรีตยื่นออกมาวางกระถางและปลูกไม้เลื้อยให้เติบโตไต่ขึ้นไปจนเต็มผนังตามกาลเวลา เหนือโซนนี้คลุมด้วยหลังคาตะแกรงเหล็กให้ครัวที่อยู่ติดกันมีบรรยากาศแบบกึ่งกลางแจ้งตามไปด้วย
บ้านหลังนี้สร้างความท้าทายภายในด้วยการไม่มีผนังกั้นตายตัว และไม่มีประตูแยกห้องแม้แต่บานเดียว (ยกเว้นประตูทางเข้า) พื้นที่นอนสองแห่งที่กั้นด้วยผ้าม่านเท่านั้น เนื่องจากการทำพื้นที่เปิดโล่งและมีการระบายอากาศตามธรรมชาติในทั้งสามชั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ การใช้วัสดุที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้น สอดคล้องกับสภาพอากาศ เจ้าของยังยอมรับคราบสนิมและร่องรอยจากการผุกร่อนได้ ทำให้ตัวอาคารมีแก่นแท้ บ้านหลังนี้จึงพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แปลนบ้าน