
บ้านแนวคิดธรรมชาติ
บ้านรูปทรงเรขาคณิตและช่องเปิดสำหรับการใช้ชีวิตในเขตร้อนที่น่ารื่นรมย์นี้มีชื่อว่า Vinyasa House สำหรับคนที่เล่นโยคะ น่าจะพอทราบว่า วินยาสะ เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับโยคะ ซึ่งหมายถึงการไหลเวียนที่ประสานกันและรวมเข้ากับความว่าง สถาปนิก Aaksen Responsible Architecture จึงนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับบ้านให้พื้นที่มีความลื่นไหล สร้างการหมุนเวียน เต็มไปด้วยแสงสว่าง และการระบายอากาศตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บ้านและผู้อยู่อาศัยสามารถ “หายใจ” ได้อย่างอิสระ ในขณะที่รูปแบบเรียบ ง่าย ทันสมัยเฉียบคมในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเงียบสงบทั้งภายในและภายนอก
ออกแบบ : Aaksen Responsible Architecture
ภาพถ่าย : Azzahra Dartaman
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2561 เมื่อเจ้าของบ้านต้องการที่อยู่อาศัยระยะยาว โดยมีภาพบ้านในจินตนการว่าจะเป็นทั้งพื้นที่ใช้ชีวิต พักผ่อน และรองรับงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ทำอาหาร อ่านหนังสือ ทำงานฝีมือ ยิมนาสติก พิลาทิส และโยคะ ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ทั้งนี้ที่ตั้งไซต์จะติดกับกรุงจาการ์ตาและ Depok ซึ่งบ้านชานเมืองทั่วไปในละแวกนี้จะมีโครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและหลังคาแหลม ดังนั้นสถาปนิกจึงหยิบส่วนนี้มาประยุกต์เป็นมวลทรงเรขาคณิตสีขาวที่สูงตระหง่านท่ามกลางหลังคาสีดำ ทำให้ตัวอาคารที่มีเอกลักษณ์ ทันสมัยโดดเด่นด้วย Character ตามความต้องการของเจ้าของ
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขยายใหญ่
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า บ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบให้สะท้อนถึงคำว่า “วินยาสะ” ซึ่งหมายถึงการไหลเวียนที่ประสานกันระหว่างการเคลื่อนไหวของร่างกายและการหายใจ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ สถาปนิกจึงได้กำหนดพื้นที่ด้านหน้าของบ้านให้ต่อเนื่องจากไปถึงด้านหลัง ตั้งแต่โรงจอดรถหน้าบ้านที่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับอาคารหลัก และปกคลุมด้วยหลังคาทรงเรียวยาวสีดำ ทำให้พื้นที่สนามหน้าบ้านและห้องโถงจะดูเหมือนปิดด้วยช่องเปิดที่จำกัดเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเข้าสู่ภายในจะเห็นว่าบ้านค่อยๆ เปิดกว้างออกสู่พื้นที่ open space ที่กระจุกตัวอยู่ด้านหลัง และมีช่องแสงช่องลมแทรกอยู่ในตำแหน่งที่แปลกตากว่าบ้านหลังอื่นๆ ทั่วไป
ในพื้นที่ใช้สอยหลักนี้จัดแปลนแบบ open plan เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ประกอบด้วยห้องครัว พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และพื้นที่ทำงานที่เชื่อมต่อถึงกันได้หมด แต่ใช้วิธีการยกระดับพื้นขึ้นในส่วนของมุมทำงานและปูด้วยวัสดุลายไม้ที่ต่างกับโซนอื่นๆ เพื่อบ่งบอกขอบเขตการใช้งานที่ต่างกัน แทนการก่ออิฐแบ่งเป็นห้องๆ ซึ่งจะทำให้บ้านดูแคบลง ส่วนที่เป็นไฮไลท์ของจุดนี้อยู่ที่ช่องรับแสง skylight รูปสามเหลี่ยมและช่องเปิดที่กว้างไปยังสวนหลังบ้าน ช่วยยกระดับความกว้างขวางและความโล่งของพื้นที่ โซน Living จึงมีการระบายอากาศที่ดี แสงที่ดี และสดชื่นด้วยองค์ประกอบจากธรรมชาติ
ขนาดของพื้นที่ใช้งานแต่ละฟังก์ชันถูกกำหนดให้รองรับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก เราจะเห็นว่าในส่วนแพนทรีครัวจะใช้พื้นที่น้อย ในขณะที่โซนนั่งพักผ่อนจะมีสเปซมากที่สุด และมีมุมนั่งทำงานที่เชื่อมต่อกับพื้นที่นั่งเล่นและสวน แสดงให้เห็นถึงความต้องการใกล้ชิดกับสมาชิกอื่นๆ ในบ้านและการเข้าถึงธรรมชาติไปพร้อมกับการทำงาน นอกจากนี้บ้านยังมีพื้นที่จัดเก็บเก็บข้าวของที่เป็นระเบียบมากขึ้น ด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบบิลท์อินที่ใช้พื้นที่ในแนวตั้งมากขึ้น ทำให้บ้านไม่ก็เสียพื้นที่ไปกับการวางตู้หรือชั้น
สัมผัสของไม้สีเข้มคล้ายกับบรรยากาศของบ้านพักตากอากาศเขตร้อนในบาหลี ที่สร้างบรรยากาศหรูหราผ่อนคลายในแบบเรียบง่าย
บ้านนี้จัดมวลอาคารหลักให้หันไปทางทิศตะวันออกเพื่อบังแดดทิศตะวันตก ทำให้บ้านค่อนข้างเย็นและใช้พื้นที่ติดแอร์น้อยที่สุด เติมด้วย Cross Ventilation หรือช่องเปิดที่ช่วยให้เกิดการระบายอากาศแบบลมผ่านอาคารด้านข้างบ้าน แถมยังมีเฉลียงขนาดใหญ่ที่เชื่อมกับสวนหลังบ้านทั้งชั้นล่างและชั้นบน ให้ทุกชั้นสามารถซึมซับบรรยากาศได้เท่าๆ กัน การจัดช่องเปิดที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่กำหนดเรื่องราวของบ้านเท่านั้น แต่ยังรองรับระดับความเป็นส่วนตัวโดยหลังบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวและน่าอยู่ที่สุด ห้องนอนจึงอยู่ในตำแหน่งที่หันไปทางสวนหลังบ้าน
Yanuar Pratama Firdaus อธิบายถึงแนวคิดในการทำพื้นที่เปิดกว้างขยายออกมาทางด้านหลังว่า “บ้านนี้ได้รับการออกแบบเพื่อให้มีบรรยากาศแบบวิลล่าริมทะเลเขตร้อน และเพื่อตอบสนองความต้องการในการพักผ่อนและบำบัดจิตใจในพื้นที่ที่เงียบสงบเป็นธรรมชาติ ด้วยพื้นไม้ ความเขียวขจี และแสงแดดส่องถึง พื้นที่นี้จึงกลายเป็น private zone เหมาะสำหรับการหลีกหนีจากเมืองที่วุ่นวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดโรคระบาดที่ต้องรักษาระยะห่าง ซึ่งทำให้การทำงาน การเข้าสังคม การพักผ่อนหย่อนใจ งานอดิเรก และกิจกรรมกีฬาส่วนใหญ่ดำเนินการจากที่บ้าน”
เนื่องจากช่องเปิดของบ้านกระจุกตัวอยู่ที่ด้านหลัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ส่วนหน้าของ Vinyasa House จะถูกปิดล้อมเกือบทั้งหมด พื้นที่ปิดของบ้านชั้นบนถูกสงวนไว้สำหรับพื้นที่บริการ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มืดทึบ เพราะภายในบ้านจะได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอจากช่องรับแสงรูปสามเหลี่ยม ที่มองจากภายนอกเหมือนหลังคาถูกตัดออกตรงมุมเป็นพื้นที่ดาดฟ้าที่เปิดโล่ง ช่องเปิดนี้คลุมด้วยเหล็กฉีกสีดำ ช่วยให้อากาศไหลเวียนภายในบ้านได้อย่างเหมาะสม
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การออกแบบบ้านที่ดี ต้องคำนึงทิศทางแสง ทำให้บ้านมีแสงที่ดีแต่บ้านไม่ร้อน และมีทิศทางลมทำให้ภายในบ้านให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก คุณภาพอากาศภายในบ้านดีขึ้น ดังนั้นการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) จึงสำคัญและจำเป็นโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น เพราะในสภาพอากาศที่ชื้นมากๆ ก็จะเก็บความร้อนได้มากจึงรู้สึกร้อนและเหนียวตัว ซึ่งเทคนิคที่ใช้มีอยู่หลายวิธี เช่น การระบายอากาศโดยให้ลมผ่านช่องเปิดในแนวนอน และการระบายอากาศแนวตั้งให้มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นที่สูงและระบายออกในส่วนบนของอาคาร
|
แปลนบ้าน