
สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
“สล่า” คำนี้สำหรับคนภาคอื่น ๆ ของไทยคงไม่คุ้น แต่ถ้ามาที่เมืองเหนือจะต้องเคยได้ยินบ้างเมื่อแวะเวียนไปยังหมู่บ้านที่มีงานหัตถกรรมพื้นถิ่น สล่าจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ภาษาถิ่นเหนือ แต่ได้รับอิทธิพลมาจากพี่น้องชาวไต (ไทใหญ่) ที่ใช้เรียกผู้ที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์ งานฝีมือต่างๆ ไปจนถึงงานก่อสร้าง เช่น สล่าสร้างบ้าน ฟังดูออกจะโบราณแต่เป็นคำที่ยังไม่ตาย ยังมีใช้กันทั่วไปในท้องถิ่นเหนือ สำหรับเนื้อหานี้เราจะพาไปชมวิถีสล่าสร้างบ้านในยุคศตวรรษที่ 21 ยางนาสตูดิโอ สถาปนิกในเชียงใหม่ ที่โดดเด่นเรื่องงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทงานไม้ให้สอดคล้องกับบริบท สภาพพื้นที่และวิถีชีวิต ซึ่งค่อย ๆ หายไปจากเมืองเชียงใหม่ไปเรื่อย ๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างสง่างาม
ออกแบบ : ยางนาสตูดิโอ
ภาพถ่าย : Pongsatorn Swadchatchwan
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
หลายคนยังจำภาพบ้านที่อยู่อาศัยหรือคุ้นเคยในชุมชนตั้งแต่จำความได้ ในถิ่นเหนือจะนิยมสร้างบ้านไม้มาโดยตลอด จนค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นบ้านกึ่งปูนกึ่งไม้ และกลายเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนกันเกือบจะทั้งหมด เพราะบ้านไม้เริ่มไม่ตอบโจทย์ชีวิต ทั้ง ๆ ที่ไม้มีเอกลักษณ์ส่วนตัวที่ชวนหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของลวดลาย ผิวสัมผัสที่นุ่มนวลเวลาย่ำเดิน หรือความหอมของกลิ่นไม้เวลาฝนตก สถาปนิกยางนาสตูดิโอที่สนใจงานไม้จึงหยิบนำเอาภูมิปัญญาช่างไม้ในอดีตมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ โครงการนี้ที่ชื่อ วิลล่าสันลมจอย ตั้งอยู่ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 280 ตร.ม. ที่ถนอมร่องรอยของกาลเวลาเอาไว้ ให้คนรุ่นใหม่ได้เดินทางไปสู่อนาคตร่วมกับบรรพบุรุษ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
สำหรับบ้านนี้มีลักษณะเป็นบ้านสองชั้น ดีไซน์คล้ายๆ บ้านในยุคอาณานิคมที่มักจะเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้และมีระเบียงยาวตลอดแนว ทั้งเสา ไม้ฝา พื้น ประตูหน้าต่างบางส่วนทำจากไม้เก่า หลังคากระเบื้องดินขอแบบล้านนา ให้รายละเอียดอันทรงคุณค่าที่ช่วยเติมเต็มเรื่องราวอดีตลงในบ้านหลังนี้ ในขณะเดียวกันประยุกต์องค์ประกอบของบ้านให้เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบันของเจ้าของบ้าน เช่น การใช้กระเบื้องแผ่นเรียบล้อไปกับกระเบื้องดินขอ ออกแบบให้มีทางลาดไม้ให้สามารถใช้งานรถเข็นได้ การออกแบบช่องเปิดช่องลมให้เหมาะสมกับสภาพภูิมอากาศเขตร้อนชื้น เกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตทั้งเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว
ด้านข้างและด้านหน้ามีเฉลียงขนาดใหญ่เชิญชวนให้ออกมานั่งรับลมได้ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ แนวคิดคล้าย ๆ กับการทำ “เติ๋น” ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้างเปิดฝาผนังด้านเดียวอยู่ด้านหน้าเรือน สำหรับนั่งทำงาน ต้อนรับแขกที่มาเยือนเรือนชาน และใช้พักผ่อนในเวลากลางวัน ส่วนบ้านล้านนาโบราณจะแยกเรือนเล็กเป็น “เฮือนไฟ” หรือห้องครัว ต่างหากไม่ไกลจากตัวบ้าน ทำให้กลิ่นและควันไม่รบกวนการใช้ชีวิต
สำหรับการออกแบบตกแต่งภายใน ยังคงเน้นการใช้องค์ประกอบของไม้ในส่วนพื้นและผนังแบบตีเกล็ด บางส่วนของบ้านโชว์ดครงสร้างเพดานไม้ แต่ก็มีบางส่วนปิดฝ้าเพดานและใส่บานเกล็ดช่วยระบายอากาศ ติดตั้งไฟ Track Light (ไฟรางสปอตไลท์) แบบบ้านยุคใหม่ที่ดูไม่ขัดกัน รอบ ๆ บ้านจะมีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่สถปานิกตั้งใจใส่เพื่อให้บ้านระบายอากาศร้อนได้ดี และเปิดรับลมธรรมชาติแทนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้เจ้าของบ้านได้สัมผัสคุณค่าของเนื้อไม้จริงๆ และได้รับประโยชน์จากไม้และการออกแบบให้มากที่สุด
มุมมองผลงานบ้านในยามค่ำที่งดงามราวกับได้ย้อนกลับไปในยุคก่อน ฝีมือสล่าหนุ่มรุ่นใหม่ที่ออกแบบด้วยความเข้าใจและมองเห็นคุณค่าของสิ่งเก่าอย่างเคารพ ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ความโมเดิร์นให้กับบ้านอย่างสวยงาม มีคุณค่า และทรงพลัง