
แต่งภายในแนวคิด Bauhaus ดิบ เรียบ เท่ แต่อบอุ่น
“เมื่อออกแบบภายใน เราเน้นย้ำว่าสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวมีความเป็นส่วนตัวของตัวเอง จึงควรตอบโจทย์ความต้องการให้ครอบคลุม” นี่คือแนวคิดของนักออกแบบ Michaela Zahorovska ที่ทำการตกแต่งโครงการบ้านหลังนี้ ซึ่งแต่ละโซนตีโจทย์ออกมาจากสไตล์ที่ชื่นชอบ ความต้องการช้งาน ไปจนถึงความปลอดภัย ทุกรายละเอียดจะรวมกันเป็นองค์ประกอบของแต่ละตารางเมตร ให้ทุกคนในบ้านรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว สะท้อนคำว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่” ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน
ออกแบบ : Michaela Zahorovska
ภาพถ่าย : Pavla Frau
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Vanguard Prague Loft ในสาธารณรัฐเช็ก เป็นชื่อโครงการตกแต่งภายใน ที่นำเสนอการใช้ชีวิตครอบครัวสมัยใหม่ ออกแบบตกแต่งโดย Michaela Zahorovska ซึ่งใช้หลักการดีไซน์ตามแนวคิดของ Bauhaus และเทคนิคการรีไซเคิล สำหรับบ้านโถงสูงที่มีชั้นลอยและห้องใต้หลังคา เน้นที่อบอุ่น ผ่อนคลาย ความคล่องตัว และสนุกสนาน เพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยที่โดดเด่นและหลากหลาย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ลักษณะเด่นของบ้านจุดหนึ่ง คือ ผนังกั้นกระจก การปรับสีและวัสดุ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากโรงเรียนสอนศิลปะแบบ Bauhaus ผสมผสานเส้นสายที่สะอาดตา องค์ประกอบที่เป็นระเบียบ ช่วยส่งเสริมความลื่นไหลของพื้นที่ ทำให้เกิดการตกแต่งภายในที่สมดุลแต่โดดเด่นที่ไม่ขับเคลื่อนตามเทรนด์
งานศิลปะ Bauhaus Style จะเป็นลักษณะของความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา อาจใช้รูปทรงเรขาคณิตมาทับซ้อนให้มีมิติ สำหรับสีพื้นฐานในการออกแบบชิ้นงานจะเป็นชุดแม่สี เช่น สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน เมื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้าน มักจะเห็นการเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีการแต่งเติม และลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออก เหลือแต่ส่วนสำคัญ อาทิ ไม้ คอนกรีตดิบๆ ไม่ฉาบทับ อิฐโชว์แนว
พื้นที่สาธารณะของบ้าน จะรวมไลฟ์สไตล์ประจำวันที่ใช้ร่วมกันเอาไว้ในพื้นที่เดียว ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว และครัว ซึ่งตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์หลายรูปแบบ หลากยุคสมัย บางชิ้นเป็นของใหม่ บางชิ้นเป็นของเก่านำมาใช้ใหม่ เช่น โซฟาดีไซเนอร์ TOGO ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โต๊ะ travertine วินเทจ เก้าอี้ฮาลาบาลาเก่าที่ทาสีใหม่ เคาน์เตอร์ครัวตกแต่งกระเบื้องหินขัด ทั้งรูปทรงและสีสัน รวมถึงแสง ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในคาเฟ่เลยทีเดียว
ภายในบ้านผ่านการปรับแปลนให้ดูโล่งและกว้างขึ้น โดยรื้อผนังเดิมและพื้นเพดานออกบางส่วน เพิ่มขนาดพื้นที่ใช้สอยจาก 95 เป็น 140 ตารางเมตร และมีผังพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ ตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของครอบครัวในแต่ละช่วงเวลา โครงสร้างผสมผสานความดิบของคานและผนังคอนกรีตเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นลอยใต้หลังคาที่เผยให้เห็นลุคแบบโรงงานอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าบ้านอันอบอุ่นสำหรับครอบครัวที่มีเด็กๆ สามารถสร้างขึ้นได้ในพื้นที่อุตสาหกรรมดิบๆ
“ห้องใต้หลังคาที่เด็กๆ มาก่อน” เป็นความตั้งใจของผู้ปกครองและสถาปนิก เพื่อแยกสัดส่วนการใช้งานส่วนรวมออกจากพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากเจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับลูกๆ ของตนเป็นอันดับแรก และเข้าใจว่าแต่ละคนแต่ละช่วงวัยจะแสวงหาความคิดริเริ่มและสไตล์ของตัวเอง ดังนั้นห้องบนชั้นลอยและห้องใต้หลังคาของลูก ๆ จึงมีทั้งหมดถึง 4 แห่ง ที่มีการตกแต่งและฟังก์ชันต่างกันไปตามวัยและความต้องการใช้งาน
เหนือพื้นที่สาธารณะ จะจัดเป็นพื้นที่นั่งเล่นแบบเปิดโล่งยืดหยุ่นสำหรับทำงานหรืออ่านหนังสือ โดยมีชั้นหนังสือบิลท์อินที่จัดวาง เก็บของได้มากอย่างเป็นระเบียบ และยังสามารถดึงส่วนบานปิดตู้ลงมาเป็นโต๊ะทำงานได้ด้วย นอกจากนี้ยังติดตั้งชิงช้า เปลเชือกสาน เอาไว้ให้เล่น หรือจะซ้อมเต้น โยคะ ไม่ว่ากิจกรรมใด ๆ ก็ม่วนจอยได้เต็มที่ และทันทีที่เด็กๆ เริ่มบินออกจากรังของครอบครัว ห้องนอนของพ่อแม่ก็สามารถออกมาขยายออกมาที่นี่ได้
โซนนี้จะเป็นห้องเด็กเล่นสำหรับน้องตัวน้อย จึงใช้คอนเซ็ปการตกแต่งที่ละมุน สดใสร่าเริง และสเกลของเฟอร์นิเจอร์ที่เล็กลงมากกว่าโซนของพี่ๆ เพื่อให้เข้ากับสรีระของเด็ก ๆ พร้อมกับดีไซน์ที่ลดมุมแหลมคม
สำหรับพื้นที่ห้องเด็กเล่นนั้นต้องบอกว่า “ใช้คำว่าน่ารักได้เปลืองมาก” เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่รายละเอียดของตกแต่งที่มุ้งมิ้ง ซุกซน ไม่ว่าจะเป็นของเล่นบล็อกไม้ บ้านจำลอง ลวดลายการ์ตูนเพนท์บนผนังที่มีทั้งคอนเซ็ปป่าและเมือง บันไดไม้แบบลอยตัวนำทางขึ้นไปชั้นลอย มีอุโมงค์สำหรับการปีนป่ายและเล่นอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการสำรวจ เป็นเหมือนสวรรค์เล็ก ๆ
แม้แต่โคมไฟแขวนก็ยังเข้ากับคอนเซ็ปห้องบรรยากาศป่า ด้วยการเลือกโคมไฟลิงถือหลอดไฟสีขาวและสีดำ เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยๆ ที่รู้สึกว่าน่าสนุกมากๆ
ห้องนอนเด็กไม่เน้นใหญ่ ไม่มีผนังกั้น เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่จะซุกตัวนอนอย่างอบอุ่นปลอดภัย โทนสีพาสเทลกลางๆ ไม่หวานเกินไป เน้นให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ ด้วยโทนสี วัสดุ ของตกแต่ง ทำให้ลืมความดิบกระด้างของคานคอนกรีตไปเลย ในอนาคตห้องเด็กสามารถแยกส่วนได้ด้วยการเพิ่มฉากกั้นระหว่างเตียง หรือจะทำเป็นห้องใหญ่ก็ได้เช่นกัน
กระเบื้องหินขัดสีต่างๆ ไม้พื้นปูลายสลับฟันปลา กระเบื้อง subway ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในยุควินเทจ ถูกนำกลับมาใช้ในแทบทุกจุดของบ้านนี้ โดยนักออกแบบหยิบจับมาผสมผสานกลิ่นอายของยุคสมัยเข้ากับบ้านโดยไม่รู้สึกถึงความเก่าหรือตกยุคเลย
ห้องนอนของพ่อแม่สามารถเข้าถึงได้จากชั้นลอยโซนอ่านหนังสือผ่านฉากกั้นกระจก นี่คือโซนส่วนตัวที่มีไว้สำหรับการพักผ่อนและสีที่ต่างจากบริเวณอื่นอย่างที่สุด ด้วยการตัดกันแบบเข้มๆ ของน้ำตาลไหม้ ไม้สีอ่อน และคอนกรีตดิบหยาบ คุณลักษณะเด่นคือหัวเตียงหุ้มตกแต่งด้วยตาข่ายสานแบบกรงไก่ ซึ่งเข้ากันอย่างลงตัวกับการตกแต่งภายในแบบอุตสาหกรรม เพิ่มมิติของแสงเงาในห้องด้วยไฟซ่อน บรรยากาศของห้องนอนที่เข้มเท่สะท้อนตัวตนของเจ้าของห้องได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของระเบียงนอกบ้านที่เชื่อมต่อโดยตรงกับพื้นที่นั่งเล่น ยังมีอีกหนึ่งจุดให้ออกมาใช้เวลาพักผ่อน ที่นี่นอกจากเก้าอี้โยกกลางแจ้งแล้ว ยังมีโต๊ะอีก 2 ตัวสำหรับดื่มกาแฟยามเช้า ซึ่งมีความเก่ตรงวัสดุทำจากเศษชิ้นส่วนของโครงสร้างคอนกรีต ที่ใช้ระหว่างการก่อสร้างโครงการ Vanguard นี้นี่เอง