
บ้านหน้าแคบลึก
Sake House ก็เป็นบ้านทรงตะเกียบที่มีความยาวมากกว่าความกว้างหลายเท่า ซึ่งพบได้มากขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วไปในเวียดนามสำหรับบ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยอันเงียบสงบในเขต 2 ของนครโฮจิมินห์ ขนาดของบ้านแคบๆ เพียง 4 เมตร แต่ความลึกค่อนข้างมากถึง 30 เมตร หน้าบ้านมีต้นสาเกที่บันทึกความทรงจำมากมายเอาไว้ ทีมสถาปนิกจึงคงต้นไม้นี้เอาไว้ พร้อมๆ กับได้เสนอวิธีแก้ปัญหาหลายอย่างเพื่อเอาชนะข้อเสียของไซต์งาน และพยายามใช้ประโยชน์จากข้อดีของบ้านให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้อยู่อาศัยได้มากที่สุด
ออกแบบ : G+Architects
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
หลายคนอาจคิดว่าที่แคบ ๆ ทำอะไรไม่ได้มาก ที่จัดสวนก็ไม่น่าจะมีและอยู่อาศัยไม่สบาย แต่บ้านพื้นที่ใช้สอย 120 ตารางเมตรหลังนี้กลับทลายข้อจำกัดที่ว่าได้อย่างดี แนวความคิดของทีมสถาปนิกคือการสร้างกรอบและให้ผู้อยู่อาศัย “เติมเต็ม” อย่างเป็นธรรมชาติ เริ่มจากลานหน้าบ้านเป็นทั้งที่จอดรถ ที่สำหรับให้เด็กๆ เล่น และที่ซึ่งต้นสาเกยืนต้นให้ร่มเงา รอบ ๆ มีต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เล็ก เถาวัลย์ถูกปลูกไว้อย่างชาญฉลาด ทำให้บ้านรายล้อมพืชพันธุ์ที่หลากหลาย และยังใส่ความสดใสด้วยแผ่นพื้นหลากสีสดใสต้อนรับการมาถึงอย่างเป็นมิตร
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ตัวบ้านมีความได้เปรียบตรงที่ต้นสาเกที่ปลูกมากว่า 15 ปีที่มีความสูงและทรงพุ่มกว้าง เมื่อคงไว้ในส่วนลานบ้านทำให้ได้บรรยากาศที่สดชื่นและน่ารื่นรมย์ ดีไซน์บ้านจึงพยายามกลับสู่ความเรียบง่าย โดยใช้วัตถุดิบหลายอย่าง เช่น อิฐ คอนกรีต ไม้ มาประกอบเข้าในตัวบ้านสร้างความรู้สึกกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม
ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านหากเงยหน้าขึ้นจะเห็นบันไดเหล็กนำไปที่ชานบ้านเล็ก ๆ ซึ่งจุดนี้จะเป็นโซนนั่งเล่นชมวิวหน้าห้องนอนที่อยู่ชั้นบน ทำให้บ้านมีความแปลกดูเป็นอิสระและมีฟังก์ชันน่าสนุก
หน้าบ้านติดตั้งผนังและประตูกระจก ซึ่งความใสของกระจกช่วยเบลอขอบเขตระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกให้เหมือนเป็นสเปซเดียวกัน ผนังที่เหมือนไม่มีผนังนี้ยังทำให้ลืมไปเลยว่าหน้ากว้างของบ้านมีเพียง 4 เมตรเท่านั้น ชั้นล่างสุดยังจัดแบบ open plan เปิดโล่งทะลุจากด้านหน้าถึงด้านหลัง เชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานให้กลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่โล่งๆ ไม่มีผนังกั้นที่ทำให้รู้สึกว่าบ้านแคบและอึดอัด
การตกแต่งภายในที่เรียบง่าย ด้วยการออกแบบแบบที่เลือกใช้วัสดุที่คุ้นตาแบบดั้งเดิม เช่น ไม้ อิฐแดง ผสมผสานคอนกรีตเปลือย ทำให้บ้านหลังเล็กนี้มีหลากหลายอารมณ์ผสมการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ อย่างลงตัว
หลังจากสำรวจสภาพปัจจุบันของบ้านแล้ว สถาปนิกชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่สองประการของบ้าน ประการแรก พื้นที่แคบ และมีแนวนอนลึกยาวติดกับบ้านข้างเคียง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการติดตั้งหน้าต่างด้านข้างตลอดจนการจัดวางภายใน เพื่อแก้ปัญหานี้ วิธีแก้ไขคือแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็น 2 ส่วนด้วยการออกแบบเล่นระดับ วางช่องแสงสกายไลท์ไว้ตรงกลางเพื่อปรับแสงธรรมชาติให้เหมาะสม โดยมีโครงสร้างบันไดที่เป็นตัวกลางเชื่อมนำไปสู่ระดับความสูงเชิงพื้นที่ที่หลากหลายและโปร่งสบาย ทำให้เกิดเส้นทางการไหลเวียนอากาศที่ลื่นไหล
ช่องแสง skylight บนหลังคาช่วยดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านจากด้านบน แก้ไขปัญหาการขาดพื้นที่ทำหน้าต่างด้านข้างอย่างได้ผล
พื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวมีความโดดเด่นในแง่ของระดับ ความสูง และขนาดที่จัดให้สลับกันไป ในส่วนสาธารณะที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ง่ายๆ จะเป็นแผ่นพื้นคอนกรีตโล่ง ๆ เปิดให้เห็นภายในชัดเจน แต่ในส่วนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวจะปิดผนังทึบ แต่มีบันไดเชื่อมและเปิดช่องแสงให้ยังมองเห็นกันได้
ปัญหาที่สองของบ้านสาเกคือ บ้านตั้งอยู่ทิศตะวันออก ด้านหลังรับแสงแดดทิศตะวันตกซึ่งด้านนี้ของบ้านจะร้อนกว่าจุดอื่นมาก เพื่อจำกัดแสงแดดและลดความร้อนโดยไม่บดบังทัศนียภาพ สถาปนิกจึงเสนอให้สร้างฟาซาดเป็นแผ่นคอนกรีตบาง ๆ ที่หมุนได้หลายมุมเรียงต่อกันเป็นช่องๆ ให้บ้านยังรับลมได้และรับแสงได้บ้าง ในขณะที่บางช่วงที่ต้องการแสงเพิ่มก็ปรับหมุนองศาได้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านที่สร้างบนเนื้อที่แคบแต่ลึก มีข้อจำกัดเรื่องช่องเปิดด้านข้างและการจัดการพื้นที่ภายใน ซึ่งวิธีการแก้ไขจะเน้นการจัดแปลนภายในให้โปร่งโล่งที่สุด อาจจะทำด้วยการจัดแปลน open plan ลดใช้ผนังแบ่งห้องในส่วนใช้งานสาธารณะ การเจาะเพดานขึ้นเป็น double space หรือจัดแปลนภายในแบบเล่นระดับ (Split Level) เพราะลักษณะของพื้นที่ภายในที่ลดหลั่นเหลื่อมกันและใช้บันไดเป็นตัวเชื่อมระหว่างพื้นที่ จะช่วยเพิ่มช่องว่างให้บ้าน ให้แสงและอากาศไหลเวียนภายใน ลดข้อจำกัดของบ้านหน้าแคบได้ดี นอกจากในเรื่องการใช้งานแล้ว บ้านเล่นระดับยังทำให้บ้านมีลูกเล่น เติมมิติของพื้นที่ใช้งาน ดูน่าสนใจกว่าการวางระดับพื้นในระนาบเดียวกัน |
โมเดลบ้าน