
บ้านสองชั้นใต้ถุนสูง
บ้านในแต่ละภูมิภาคก็มีข้อจำกัดและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ตัวบ้านต้องสอดรับกับลักษณะเฉพาะนั้น ๆ ด้วย อย่างเช่น บ้านในเขตน้ำท่วมถึง บ้านริมตลิ่งก็มักจะยกพื้นสูง บ้านเขตร้อนต้องมีประตูหน้าต่างมาก บ้านเขตหนาวต้องมีช่องแสงขนาดใหญ่ให้เพิ่มความอบอุ่นภายใน เป็นต้น ตัวอย่างบ้านที่เรานำเสนอในเนื้อหานี้ดูเผิน ๆ เหมือนบ้านโครงสร้างเหล็กกรุไม้สองชั้นยกพื้นสูงธรรมดา แต่ที่ต้องดีไซน์บ้านในลักษณะนี้ก็มีเหตุผลที่ซ่อนอยู่เช่นกันครับ
ออกแบบ : Gary Todd Architecture
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านที่เตรียมรับมือน้ำท่วมแผ่นดินไหว
เจ้าของบ้านต้องการที่พักอาศัย 2 หลัง เป็นบ้านขนาด 3 ห้องนอน และสำนักงานพร้อมที่อยู่อาศัยแบบเปิดโล่งที่เต็มไปด้วยความยืดหยุ่นในการใช้งานสำหรับครอบครัว ที่ตั้งของบ้านอยู่ในเขต TC3ของSt Albans หนึ่งในชานเมืองที่ใหญ่ที่สุดของไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งพื้นที่ TC3 นั้นเป็นที่ที่ความเสียหายจากแผ่นดินเหลว อยู่ในเขตอันตรายจากน้ำท่วม และมีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต จากการประเมินทางธรณีวิทยาทำให้จำเป็นต้องมีการออกแบบทางวิศวกรรมพิเศษของฐานรากและโครงสร้างอาคารที่แข็งแรงและแก้ปัญหาได้
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เพื่อเอาชนะปัญหาที่ดิน TC3 ได้มีการวางฐานรากโดยตอกเสาเข็มและคานคอนกรีตรองรับโครงข้อแข็ง (portal frames) เพื่อทำการถ่ายแรงกระทำทางด้านข้างของโครงสร้างที่เกิดจากแรงแผ่นดินไหวให้ถ่ายลงไปสู่ตัวฐานรากของโครงสร้าง อาคารที่สามารถต้านทานแผ่นดินไหว จะต้องมีลักษณะโครงสร้างต่อเนื่องสม่ำเสมอทางกายภาพทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง มีรูปทรงที่สมมาตร ในบ้านนี้โครงสร้างหลัก อาทิ เสาและคาน ทำจากเหล็กซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าคอนกรีตแต่ยืดหยุ่นกว่าและมีความเหนียวกว่า ความเบาและเหนียวนี่เองทำให้บ้านเหล็กมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวน้อยกว่าคอนกรีตที่หนัก แข็ง และเปราะ
บ้านสองชั้นที่โปร่งสบายทั้งภายนอกภายใน
ข้อดีของการสร้างบ้านให้เป็นสองชั้น เพื่อให้ระดับมุมมองสามารถมองข้ามหลังคาบ้านชั้นเดียวออกไปรับวิวสวนสาธารณะเซนต์อัลบานส์ได้ ส่วนพื้นที่ชั้นล่างที่เปิดโล่งกว้างในส่วนโรงรถเป็นเหมือนใต้ถุนที่ปล่อยให้ลมพาดผ่านได้เต็มที่ ไม่มีปัญหาเมื่อมีน้ำหลาก ส่วนในพื้นที่บ้านจะยกพื้นขึ้นสูงกว่าด้านนอกประมาณ 3 ขั้นบันได ซึ่งนักออกแบบดูจากประวัติการท่วมแล้วเห็นว่าเพียงพอจะช่วยป้องกันตัวบ้านจากการถูกน้ำท่วมได้
ภายในอาคารบ้านพักชั้นล่างประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ครัว มุมทานอาหาร ที่จัดแปลนแบบ open plan เชื่อมทุกฟังก์ชันให้สามารถเข้าถึงกันได้หมดโดยไม่มีผนังปิดทึบกั้น รอบ ๆ บ้านติดผนังกระจกกรอบอลูมิเนียมสีดำให้ความรู้สึกเบาและกว้างขวาง ช่วยเบลอขอบเขตภายในภายนอกและดึงเอาทิวทัศน์รอบ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านดูเผินๆ เหมือนบ้านไร้ผนัง
ครัวอบอุ่นและเปิดกว้าง
ห้องครัวตกแต่งไม้ดูอบอุ่นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รับประทานอาหารและนั่งเล่น ส่วนนี้เป็นครัวแบบเปิดผนังโล่งเพราะอยู่ติดกับประตูกระจกบานเลื่อนแบบ bi-parting หรือบานเลื่อนคู่ขนาดใหญ่ เปิดออกได้กว้างเพื่อเชื่อมต่อการใช้ชีวิตในบ้านกับชานไม้กลางแจ้ง ทำให้บ้านมีความต่อเนื่องของภายนอก-ภายในตามที่เจ้าของบ้านต้องการ
ชั้นบนของบ้านทั้งสองหลังเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวที่มีห้องนอนพร้อมห้องน้ำในตัว และห้องน้ำแยกต่างหาก ส่วนอาคารสำนักงานจะเป็นออฟฟิศด้านบนและที่อยู่อาศัยส่วนร่วมอยู่ด้านล่าง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การก่อสร้างบ้านไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด ๆ สิ่งที่สำคัญคือ การสืบค้นประวัติในท้องถิ่นว่าเคยประสบเหตุน้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุรุนแรงหรือไม่ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อที่ดิน หรือการออกแบบบ้านให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะดีกว่าการตามแก้ไขปัญหาทีหลัง |