
บ้านเย็นในเขตร้อนชื้น
หากถามว่าบ้านในเขตร้อนชื้นกลัวอะไรมากที่สุด เชื่อว่าหลายคำตอบน่าจะคล้ายๆ กัน คือ กลัวบ้านได้รับความร้อนจากแสงแดดจนอยุ่อาศัยไม่สบาย และไม่ต้องการให้ฝนสาดเข้ามาเพิ่มความชื้นในบ้าน ดังนั้นในการสร้างบ้านโดยเฉพาะเจ้าของบ้านรุ่นใหม่ๆ จึงออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อปกป้องภายในจากแดดฝน แต่ก็มีบ้านบางหลังที่คิดกลับกัน คือแทนที่จะกลัวฝน ทำไมเราถึงไม่อยู่ร่วมกับฝนแบบเป็นมิตรหล่ะ จากแนวคิดนั้นนำมาสู่องค์ประกอบภายในบ้านหลังนี้ที่ต้องทำให้หลายๆ คนแปลกใจครับ
ออกแบบ : Art on Architecture
ภาพถ่าย : Ar. Divya Rajesh
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านหลังนี้ชื่อโครงการ Ashokavilasam สร้างใน Ponnani ในรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย เจ้าของคือ Mr. Shineesh & Mrs. Rijina ที่ต้องการบ้านอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตัวบ้านเป็นอาคารชั้นเดียวแบบมีหน้ามุขหน้ายื่นออกมาสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ว่างหน้าบ้านแบบที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นจุดที่เด็ก ๆ และสมาชิกในบ้านจะออกมานั่งเล่นสบายๆ ระหว่างมุขสองด้านมีลานกรวดปลูกต้นไม้ไม่ผลัดใบสีเขียวเข้มให้ร่มเงากับบ้านได้เป็นอย่างดี
การลดความร้อนเป็นสิ่งที่ถูกคำนึงถึงในภูมิอากาศแบบอินเดียที่มีอากาศร้อนจัดทะลุ 50 องศา สถาปนิกจึงต้องเพิ่มช่องทางในการรับลมระบายความร้อนในบ้าน โดยเลือกอิฐช่องลมลวดลายกลีบดอกไม้มาแทรกอยู่ตามจุดต่างๆ ของบ้าน ซึ่งจะเหมือนกับ “จาลี” หรือช่องแสงที่แกะสลักเป็นตาข่ายด้วยไม้ หิน หรือตะแกรงตาข่าย ที่เราคุ้นตาจะเป็นลวดลายเรขาคณิตที่มีการถักทอซับซ้อน
เมื่อเข้ามาภายในบ้าน จะเห็นหลังคามุมนั่งเล่นที่เป็นทรงจั่วสูงที่เหมาะกับเขตร้อน เพราะสันหลังคาที่สูงและลาดเอียงช่วยให้ระบายน้ำฝนได้ดี สิ่งที่ต่างจากบ้านเราคือ หลังคาที่นี่ไม่มีฝ้าเพดานจะโชว์โครงสร้างหลังคาและแผ่นกระเบื้องดินเผาชัด ๆ ซึ่งแผ่นกระเบื้องดินผานี้เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาตั้งแต่อดีต มีคุณสมบัติให้สัมผัสเย็นไม่อมความร้อน
หลังม้านั่งไม้ตัวใหญ่จะมีแนวเส้นเชือกที่มีไม้เลื้อยไต่เรียงรายอยู่ ต้นไม้เหล่านี้จะสร้างม่านดอกไม้อันสวยงามเมื่อใบเลื้อยขึ้นเต็มทุกเส้นและออกดอกพร้อมกัน เมื่อรวมกับแปลงต้นไม้สไตล์ทรอปิคอลที่ปลูกเอาไว้ใจกลางบ้าน ทำให้ได้บรรยากาศของบ้านในสวนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด
มาถึงจุดไฮไลต์ของบ้าน คือ หลังคาที่มีลักษณะเหมือนปั้นหยากลับหัว เป็นปล่องยื่นลงมาเหนือพื้นที่ปลูกต้นไม้ ความลาดเอียงสี่ด้านของหลังคาช่วยให้น้ำไหลลงมารวมกันตรงกลาง เป็นพื้นที่รับน้ำโดยไม่ต้องกังวลเรื่องฝนสาดกระเซ็น นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งช่องทางในการระบายอากาศ และช่องรับแสงเข้าสู่ใจกลางบ้านช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้ดีแม้อยู่ในตัวอาคาร พร้อมกับสร้างบรรยากาศห้องทานข้าวและห้องนั่งเล่นแบบกลางแจ้ง บนช่องว่างนี้จะมีตะแกรงถี่ๆ ช่วยป้องกันแมลงเล็ก ๆ เข้าสู่ตัวบ้านด้วย
วันฝนตกในบ้านจะเต็มไปด้วยความชุ่มชื้น นั่งฟังเสียงฝนไปทานข้าวไปด้วย ให้อารมณ์สุนทรีย์กับการได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบชิดใกล้ ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำขังหรือล้นสร้างความชื้นที่อาจก่อความเสียหายภายใน เพราะสถาปนิกได้วางระบบการระบายน้ำเอาไว้ด้วยอย่างรัดกุม