
บ้านหน้าแคบ
การเป็นเจ้าของพื้นที่หน้าแคบลึกยาวเหมือนเส้นตะเกียบ เป็นใคร ๆ ก็คงหนักใจ เพราะรูปร่างที่ไม่เอื้อต่อการสร้างบ้านให้ขยายออกด้านข้างได้ แล้วบ้านจะสวยได้อย่างไร จะอยู่สบายเหมือนบ้านหลังอื่น ๆ หรือไม่ เนื้อหานี้มีคำตอบให้จากผลงานการออกแบบบ้าน Skinny House แค่ชื่อก็บ่งบอกว่าบางเฉียบ แต่ด้วยการออกแบบที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ทำให้ข้อจำกัดของบ้านหน้าแคบถูกทลายลง เหลือแค่บ้านที่สมาชิกทุกคนอยู่ได้แบบไม่อึดอัด ช่วยสร้างพื้นที่ใช้ชีวิตน้อย ๆ ให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าที่รู้สึก แถมจัดเต็มใส่ทุกฟังก์ชั่นตอบโจทย์การใช้งานได้ทั้ง Indoor และ Outdoor
ออกแบบ : toussaintvolz
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
เจ้าของบ้านลงทุนนอนราบกับพื้นให้เห็นความกว้างของบ้านชัด ๆ
บ้านหน้าแคบ 5.5 เมตร แยกเป็น 2 ฝั่ง เพิ่มความโปร่งเติมลมและแสง
บ้านกว้าง 5.5 เมตรออกแบบมาเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ เป็นความท้าทายที่แสดงให้เห็นการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง บ้านที่เป็นเหมือนกล่องสองหลังนี้สร้างบนพื้นที่ 79 ตารางวา ที่ซื้อราคา 250,000 เหรียญ หรือประมาณ 5.9 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาจากสถานที่ตั้งของ Clayfield ประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่คนอื่น ๆ คิดว่าดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในการสร้างบ้านสามห้องนอนในพื้นที่หน้าแคบแบบนี้ แต่เดวิดและคริสตี้ผู้สั่งสมประสบการณ์ 30 ปีในด้านสถาปัตยกรรม ผนึกกำลังร่วมกับกลุ่ม Thallon Mole เพื่อสร้างสรรค์บ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กลายเป็นความจริงได้สำเร็จ
เมื่อพิจารณารูปร่างของที่ดินหน้าแคบและลึก ทีมงานตัดสินใจแบ่งบ้านออกเป็น 2 ส่วนหันหลังชนกัน โดยมีพื้นที่ว่างคั่นกลาง ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ต้องการใส่พื้นที่ว่างสร้างลานกลางแจ้งที่ให้แสงสว่างในเวลากลางวัน เพิ่มการระบายอากาศตามธรรมชาติสู่ตัวบ้าน และ 2 คือ ปกป้องพื้นที่ใช้ชีวิตด้านในให้มีความเป็นส่วนตัว ลดเสียงรบกวนจากถนนทางรถไฟที่ผ่านด้านหน้าบ้าน
Double Space บ้านเพดานสูง เปลี่ยนจุดโฟกัสไปที่แนวตั้ง
ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่บ้านหน้าแคบ ทำให้ต้องใส่ความโปร่งสบายเข้าไปลดความรู้สึกอึดอัดในหลาย ๆ จุดของบ้าน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การช่องเปิดขนาดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งให้บ้านมากที่สุด อย่างเช่น หน้าบ้านทำเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ใส่ประตูบานเฟี้ยมที่พับเก็บเข้าข้างผนังได้หมด ผนังติดตั้งบานหน้าต่างขนาดต่าง ๆ ให้บ้านรับแสงธรรมชาติและวิสัยทัศน์ภายนอกได้มาก และการสร้างหลังคาให้สูงขึ้นกว่าปกติ ในส่วนหน้าของบ้านแต่ละด้านจะทำเพดานสูงแบบ Double Space ทำให้ดูโปร่งขึ้น
การเปิดบ้านให้เป็นโถงสูง ช่วยให้พื้นที่นั่งเล่นสบายตาและสร้างจุดโฟกัสไปในส่วนแนวตั้งของบ้าน ซึ่งจัดพื้นที่เป็นบนชั้นลอย จนแทบไม่รู้สึกถึงความแคบของบ้าน
ช่องเปิดรอบบ้าน ลดความอึดอัดเปิดบ้านให้โปร่ง
ชั้นบนของบ้านห้อมล้อมด้วยผนังบ้านใม้สีขาวที่ใช้เครื่อง CNC เจาะรูกลม ๆ เต็มพื้นที่ทั้ง 3 ด้าน ช่องว่างที่วางระยะเท่า ๆ กันนี้ทำให้บ้านไม่ขาดแสงและมีพื้นที่รับลมระบายอากาศ ในขณะที่ผนังยังทำหน้าที่เป็นฟาซาดเปิด-ปิดได้สร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้าน พร้อม ๆ กับเติมมิติความน่าสนุกของแสงและเงาไปด้วยในตัว
พื้นที่ใจกลางบ้านที่เชื่อมต่อบ้านทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน อยู่ในส่วนห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหารกลางแจ้งที่ทะลุต่อเนื่องกัน ครัวพื้นที่เล็ก ๆ จึงต้องจัดเคาน์เตอร์สำหรับเตรียมอาหารและเตาปรุงเรียงเป็นแถวเดียว โดยมีช่องหน้าต่างขนาดใหญ่อยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งสบายมีช่องทางระบายกลิ่น ควัน ลดความชื้นภายใน อีกด้านหนึ่งเป็นซิงค์สำหรับล้างแบบลอยตัวขนาดไม่ใหญ่ ทำให้ไม่กินพื้นที่สัญจรตรงกลาง
ผนังที่เปิดออกได้หลาย ๆ จุดในบ้าน ทำให้กรอบของบ้านหายไป บ้านดูสดชื่นและกว้างขึ้น
แนวการวางตัวของบ้านตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทำให้บ้านมีความเป็นส่วนตัวและไม่ได้รับผลกระทบจากแสงอาทิตย์ที่ค่อนข้างแรงตอนเช้าและช่วงบ่าย พื้นที่ใช้สอยหลักตั้งอยู่ที่ด้านหลังของบ้านเปิดออกสู่สนามหลังเล็ก ๆ ที่สามารถรับลมด้านตะวันออกเฉียงใต้ได้ดี แม้จะเป็นบ้านในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่หากได้รับการออกแบบอย่างเข้าใจก็สามารถทลายข้อจำกัด เป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่อยู่ได้สบายทั้งครอบครัว