
เลือกโซลาร์เซลล์อย่างไร ให้คุ้มทุน
อาจเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลให้วิถีชีวิตผู้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องใช้ชีวิตติดอยู่กับบ้านมากขึ้น จึงใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าเดิม ทำให้ปี 2564 นี้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีผู้ให้บริการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ มาให้เลือกใช้บริการกันมากขึ้น แต่ก่อนจะพาไปจัดสเปคโซลาร์เซลล์ อยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกันก่อนว่า “การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ไม่ใช่การใช้ไฟฟรี” แต่เป็นการลงทุนด้านพลังงานให้กับบ้านล่วงหน้า เสมือนกับการลงทุนด้านอื่น ๆ ที่ผู้ลงทุนต้องมุ่งหวังดอกผล กำไร ในขณะเดียวกันหากผู้ลงทุนไม่ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ การลงทุนครั้งนี้อาจจะได้ผลลัพธ์คือ ขาดทุน ก็เป็นได้ครับ
สนับสนุนโดย : SCG Solar Roof Solutions
ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
เครดิตภาพ : HAO Design
จากการสำรวจข้อมูลในปี 2564 การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์จากผู้ให้บริการรายต่าง ๆ มีค่าติดตั้งแพ็คเกจเริ่มต้นเบ็ดเสร็จประมาณ 1 แสนบาท หากค่าไฟที่บ้านไม่สูงมาก จะยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุนครับ เพราะกว่าจะคืนทุนได้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายสิบปี ถึงเวลานั้นแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์อาจเสื่อมชำรุดไปก่อน บ้านที่เหมาะสมกับติดตั้งโซลาร์เซลล์ จึงเป็นบ้านที่มีค่าไฟ 3,000 บาทขึ้นไป และมีการใช้พลังงานไฟฟ้าช่วงกลางวัน เช่น มีผู้อยู่อาศัยในบ้านเปิดแอร์ทั้งวัน, ใช้บ้านเป็น Home Office หรืออย่างยุคปัจจุบันที่หลายบ้านต้องทำงานแบบ Work from Home และลูก ๆ เรียนออนไลน์ที่บ้าน จะเหมาะสมมากครับ แต่ต้องประเมินให้ดีก่อนว่า การอยู่บ้านช่วงกลางวันของเรา เป็นแค่ชั่วคราวหรือถาวร
เหตุผลที่โซลาร์เซลล์ยังเหมาะเฉพาะการใช้งานช่วงกลางวัน นั่นเป็นเพราะระบบการติดตั้งที่ได้รับความนิยมสูงในยุคปัจจุบันคือระบบออนกริด ไม่มีการจัดเก็บพลังงานสำรอง จึงใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะช่วงที่มีแสงแดดเท่านั้น และหลังจากพระอาทิตย์เริ่มตกดิน หรือในวันที่ฝนตกฟ้าครึ้ม จะยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเช่นเดิมครับ
เลือกโซลาร์เซลล์กี่วัตต์ ถึงจะคุ้ม
หากใครเคยเลือกดูราคาแพ็คเกจจากผู้ให้บริการต่าง ๆ จะสังเกตเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการมีแพ็คเกจต่าง ๆ ให้เลือกตามจำนวนวัตต์ เช่น 1.35 kW , 3.1 kW, 5 kW เป็นต้น ค่าดังกล่าวหมายถึง ความสามารถสูงสุดที่แผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต่อชั่วโมง หากเป็นแพ็คเกจ 1.35 kW สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1.35 kW/ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง โซลาร์เซลล์จะไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพทั้งวัน จะขึ้นอยู่กับการติดตั้งและความเข้มแสงของช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย โดยมีค่าเฉลี่ยผลิตได้วันละ 4 ชั่วโมง ดังนั้น หากติดตั้งโซลาร์เซลล์แพ็คเกจ 1.35 kW จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 5.4 kW ครับ
ส่วนสูตรในการคำนวณแผงโซลาร์เซลล์มีหลายวิธี ส่วนใหญ่จะให้คำนวณหาจำนวนวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด เพื่อหาผลรวมของจำนวนวัตต์ทั้งหมด สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีทักษะความรู้ด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากใช่ไหมครับ เพราะนอกจากจะหาวัตต์รวมแล้ว ต้องวิเคราะห์แยกด้วยว่า แต่ละอุปกรณ์ใช้งานกี่ชั่วโมงต่อวัน สูตรลัดง่าย ๆ ที่บ้านไอเดียแนะนำ เป็นการเช็คหน่วยไฟฟ้าจริงที่ใช้ในแต่ละวันครับ โดยให้ทำการจดบันทึกหน่วยไฟฟ้าที่มิเตอร์ไฟหน้าบ้านช่วงเวลา 9.00 น.- 16.00 น. อย่างน้อย 7-15 วัน (ยิ่งนานยิ่งแม่นยำ) จากนั้นนำหน่วยไฟฟ้าที่บันทึกไว้หาค่าเฉลี่ยหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จริงช่วงกลางวัน
เช่น ค่าเฉลี่ยหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เฉพาะช่วงกลางวัน วันละ 18 หน่วย ให้นำหน่วยไฟฟ้าที่ใช้หารด้วย 4 ชั่วโมง จะได้ 4.5 kW เป็นค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมง ดังนั้นจำนวนวัตต์โซลาร์เซลล์ที่เหมาะสมกับบ้านหลังนี้ คือ 3-4 kW หากอิงตัวอย่างแพ็คเกจโซลาร์เซลล์จาก SCG จะเหมาะกับแพ็คเกจ 3.15 kW ครับ สิ่งสำคัญในการเลือกจำนวนวัตต์โซลาร์เซลล์ ให้เลือกต่ำกว่าที่ใช้จริง ไม่ควรเลือกแพ็คเกจที่สูงเกินการใช้งานจริง เพราะแม้โซลาร์เซลล์จะผลิตกำลังไฟได้มากขึ้น ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานในบ้าน จะมีเพียงประโยชน์พ่วงเล็กน้อยคือการขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้า ซึ่งได้หน่วยละ 2.20 บาท/หน่วย เท่านั้น (ตามนโยบายโซลาร์ภาคประชาชนปี พ.ศ. 2564)
ระยะเวลา คืนทุน กี่ปี
จุดคุ้มทุนแต่ละหลังแตกต่างกันมากครับ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานจริงและขึ้นอยู่กับหน้างานติดตั้ง หากติดตั้งในมุมองศาที่เหมาะสม ไม่มีเงาบดบัง โซลาร์เซลล์จะสามารถผลิตกำลังไฟได้เต็มประสิทธิภาพ ตัวเลขคุ้มทุนจากผู้ให้บริการจึงเป็นตัวเลขประมาณการณ์สูงสุดเท่านั้น และยังมีผลกับแพ็คเกจที่ติดตั้ง เพราะยิ่งแพ็คเกจสูงขึ้นค่าติดตั้งโดยเฉลี่ยจะประหยัดลง และผู้ที่ติดตั้งแพ็คเกจสูงมักใช้พลังงานไฟฟ้ามาก จึงคืนทุนได้ไวครับ
ตัวอย่าง
หากที่บ้านมีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันเฉลี่ยวันละ 18 หน่วย หากติดตั้งแพ็คเกจ 3.15 kW จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดประมาณวันละ 4 ชั่วโมง หรือ 15.75 kW หรือวันละ 12.6 หน่วยมิเตอร์ไฟฟ้า ปัจจุบันค่าไฟฟ้าหน่วยละประมาณ 4.2 บาท โซลาร์เซลล์จึงช่วยประหยัดค่าไฟได้วันละ 53 บาท หรือประมาณเดือนละ 1,587 บาท (โดยเฉลี่ยค่าไฟจะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ)
อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยการผลิตไฟได้ทั้งปีแล้ว ในความเป็นจริงบางวันอาจมีฝนตก ฟ้าครึ้ม หรือมีเหตุธุระใดทำให้ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน หากอิงราคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของ SCG ณ วันที่ 8 กันยายน 2564 แพ็คเกจ 3.15 kW มีค่าบริการ 169,000 บาท จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 9-10 ปี หลังจากผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว การใช้งานที่เหลือคือกำไร ซึ่งหากคำนวณเบื้องต้นไปถึง 25 ปี ตามระยะเวลาประกัน ผู้ติดตั้งจะได้กำไรประมาณ 2.8 แสนบาท
เลือกแผงโซลาร์เซลล์ ยี่ห้อใด
หากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปอย่างทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ผู้อ่านย่อมคุ้นเคยกับแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ กันดีใช่ไหมครับ แต่เมื่อเอ่ยถึงแผงโซลาร์เซลล์ หากไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เราแทบจะไม่รู้เลยว่า แบรนด์ไหนมีคุณภาพที่เชื่อถือได้ วิธีการเลือกแบรนด์จึงแนะนำให้เลือกโซลาร์เซลล์ในกลุ่ม Tier 1 เป็นการจัดลำดับมาตรฐานแบรนด์ระดับโลกโดย บลูมเบิร์ก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก บลูมเบิร์กจะมีเกณฑ์ต่าง ๆ ในการพิจารณา ตั้งแต่กระบวนการผลิต, งานวิจัย , ประสบการณ์การผลิตอย่างน้อย 5 ปี รวมทั้งคุณภาพต่าง ๆ จึงมั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ จะมีประสิทธิภาพที่ดี
นอกจากแผงโซลาร์เซลล์แล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป คือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งตัวแปลงไฟฟ้า Inverter จะต้องเป็นแบรนด์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะช่วยการันตีได้อีกขั้นว่า ผู้ใช้งานจะได้รับมาตรฐานความปลอดภัยและติดตั้งอย่างถูกกฎหมาย ไม่ส่งผลกระทบกับระบบไฟฟ้าภายหลัง
เลือกผู้ให้บริการ ติดตั้งโซลาร์เซลล์
การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะแตกต่างกับอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป ที่ผู้ใช้สามารถซื้อมาติดตั้งด้วยตนเองได้ แต่โซลาร์เซลล์คือระบบไฟฟ้า จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดำเนินงานติดตั้งให้ และจำเป็นต้องขออนุญาตการไฟฟ้า รวมทั้งหน่วยงานเขตหรือเทศบาลที่ดูแลพื้นที่นั้น ๆ ก่อนเสมอ จุดสำคัญจึงไม่เพียงแค่การเลือกโซลาร์เซลล์ แต่ต้องเลือกผู้ให้บริการมืออาชีพมาดูแลงานติดตั้งให้ด้วยครับ
- ต้องสำรวจพื้นที่ ประเมินหน้างานก่อนเสมอ
ไม่ใช่บ้านทุกหลังที่จะเหมาะกับติดตั้งโซลาร์เซลล์ หากผู้ขายพยายามยัดเยียดแพ็คเกจติดตั้ง โดยไม่ได้ประเมินหน้างานก่อน จุดนี้อาจทำให้การติดตั้งคืนทุนได้ช้าหรือขาดทุนเลยก็เป็นได้ครับ เพราะในงานติดตั้งจริงจะต้องวิเคราะห์ทิศทางรับแสงแดด พื้นที่ติดตั้ง รวมทั้งประเมินพฤติกรรมการใช้งานไฟฟ้าก่อนเสมอ เพราะหากติดตั้งในตำแหน่งไม่เหมาะสมหรือพื้นที่ติดตั้งไม่เพียงพอ การทำงานของโซลาร์เซลล์ย่อมมีประสิทธิภาพลดลง ที่สำคัญโครงสร้างของหลังคาบ้านมีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักโซลาร์ได้หรือไม่ ต้องซ่อมรั่วก่อนไหม สิ่งนี้มักเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านมองข้ามแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการติดโซลาร์จะอยู่คู่กับบ้านเราไปอีกหลายสิบปี
- เลือกผู้ให้บริการที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ Tier 1
จากข้อมูลข้างต้นผู้อ่านทราบกันแล้วว่า แบรนด์แผงโซลาร์เซลล์ในกลุ่ม Tier 1 เป็นแบรนด์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งการันตีได้ว่า ผู้ใช้จะได้รับสินค้าที่ได้มาตรฐาน หากผู้ให้บริการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ในกลุ่ม Tier 1 ในแพ็คเกจติดตั้ง ก็ย่อมมั่นใจได้อีกระดับว่าผู้ให้บริการคัดสรรสิ่งดี ๆ ให้กับผู้ใช้บริการ ในทางกลับกัน หากผู้ให้บริการไม่รู้จัก Tier 1 เลย ก็น่าคิดว่าเขาเป็นมืออาชีพเฉพาะทางจริงหรือไม่
- เลือกผู้ให้บริการที่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง
หากผู้ให้บริการแจ้งว่า ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต แนะนำว่าหนีห่างได้เลยครับ เพราะการขออนุญาตไม่ได้หมายถึงเพียงการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยครับ เพราะในขั้นตอนขออนุญาต จะต้องมีแบบโครงสร้างหลังคา แบบระบบไฟฟ้าที่จะติดตั้ง โดยทำการขออนุญาตที่การไฟฟ้านครหลวง และเขตหรือเทศบาลที่ดูแลพื้นที่นั้น ๆ ปัจจุบันผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะดำเนินการขออนุญาตให้ครับ
- รับประกัน บริการหลังการขาย
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า กว่าแผงโซลาร์เซลล์จะคืนทุนได้ไม่ง่ายเลย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลายาวนาน การรับประกันจึงเป็นสิ่งการันตีได้ว่า ผู้ให้บริการจะคุ้มครองสินค้าให้หากมีการชำรุดเสียหาย หรือประสิทธิภาพลดลง โดยทั่วไปแผงโซลาร์เซลล์จะรับประกัน 25 ปีเกือบทุกแบรนด์ครับ ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น Inverter รับประกัน 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับแบรนด์หรือผู้ให้บริการติดตั้ง อย่างไรก็ตามระยะเวลารับประกันอาจเป็นเพียงคำโฆษณา จำเป็นต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการประกอบการตัดสินใจด้วยครับ
สำหรับตัวอย่างภาพประกอบ และแพ็คเกจโซลาร์เซลล์ในเนื้อหาชุดนี้ เป็นการให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์โดย SCG Solar Roof Solutions บริการแบบ One Stop Service เริ่มตั้งแต่การสำรวจประเมินหน้างานโดยมืออาชีพ มีแพ็คเกจต่าง ๆ ให้เลือกอย่างหลากหลาย ที่สำคัญเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์จาก Tier 1 ซึ่งรับประกันทั้งตัวแผงและประสิทธิภาพการผลิตไฟยาวนานถึง 25 ปี โดย SCG ในส่วนของ Inverter เลือกใช้แบรนด์ที่ผ่านการรับรองจากการไฟฟ้า และรับประกันสูงถึง 10 ปี พร้อมบริการขออนุญาตติดตั้งและดำเนินงานติดตั้งโดยทีมงานมืออาชีพ
หากผู้อ่านสนใจสามารถติดต่อได้ที่ SCG Home Experience , SCG Home Solution, SCG Roofing Center และ SCG Home บุญถาวรทั่วประเทศ หรือโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ SCG HOME Contact Center 02-586-2222 หรือเปิดสำรวจหน้างานผ่านออนไลน์ได้ที่ SCGHome.com