
บ้านคอนกรีตหลังคารูปแบบผสม
การสร้างบ้านไม่มีสูตรสำเร็จ แม้จะมีรูปแบบที่เป็นหลักอยู่แล้ว ก็ใช่ว่าจะประยุกต์พลิกแพลงใส่จินตนาการใหม่ๆ ไม่ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เราเห็นผนังบ้านต้องตรงๆ บางหลังกลับเอียง สองด้านของตัวบ้านต้องเท่ากัน ก็ลองใส่ความไม่เท่าดู หรือหลังคา ก็จะเป็นรูปร่างที่มีชื่อเรียกอย่างหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หรือทรงมะนิลา ก็อาจจะมีบ้านสักหลังที่ทรงหลังคาไม่มีชื่อเรียก เพราะไม่ตรงกับรูปแบบไหน ๆ เลยสักอย่างเดียว ก็เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ทำให้ดูแปลกตา เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในญี่ปุ่น เจ้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้โลกของหลังคาของคุณเปลี่ยนไป
ออกแบบ : SAI Architectural Design Office
ถ่ายภาพ : Norihito Yamauchi
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านขนาดพื้นที่ 285 ตร.ม หลังนี้ไซต์ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สวยงามกลางภูมิทัศน์แบบชนบท เมือง Tanba Sasayama จังหวัด Hyogo ซึ่งยังหลงเหลือซากปรักหักพังของปราสาทโอซาวะและอื่นๆ กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณโดยรอบ มีผู้คนที่มีนามสกุลเดียวกันยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ด้วยที่ตั้งตั้งอยู่ในหุบเขามีทางน้ำไหลอยู่หน้าบ้าน มีตำนานเล่าว่าในสมัยโบราณมีทะเลสาบกระจายตัวอยู่ในพื้นที่นี้ สถาปนิกจึงจินตนาการถึงแบบบ้านที่จะเป็น “สถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงช่วงเวลาใหม่” ในธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ผ่านการออกแบบบ้านที่มีฐานเป็นแผ่นคอนกรีตยกพื้นดูเหมือนสร้างขึ้นในทะเลสาบด้วย และ “หลังคาบิด” ที่ให้ความรู้สึกพริ้วกลมกลืนกับภูมิทัศน์
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ตัวอาคารภายนอกนำเสนอความดิบ เรียบเย็น สงบ ของพื้นผิวคอนกรีตสีเทา มีทางลาดสำหรับรถเข็นให้ขึ้นได้ง่าย ๆ อยู่คนละฝั่งกับบันได ส่วนหลังคาโครงสร้างไม้ที่โชว์คานและวัสดุเปลือย มุงทับด้วยแผ่นยางมะตอย หรือ Shingle Roof ที่เป็นแผ่นบาง ๆ และมีความอ่อน สามารถปิดทับตามรูปแบบหลังคาที่มีความแอ่น โค้ง เว้า ซึ่งทำได้ยากในวัสดุมุงหลังคาชนิดอื่น ๆ หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหน้าตาของหลังคาไม่ว่าจะด้านบน ด้านข้างแต่ละด้านไม่มีความเหมือนกันเลย และมีหลายรูปทรงผสมกันจนไม่อาจจะระบุได้ชัด ๆ ว่าคือหลังคาแบบไหน
ส่วนของพื้นที่ออกแบบในปริมาตรที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ เช่น ห้องนั่งเล่น ทางเข้า พื้นที่ห้องน้ำ โดยลดพื้นที่ห้องน้ำและห้องส่วนตัวลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานส่วนรวมให้มากขึ้น และกำหนดความสูงเพดานที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ อย่างโซนห้องนั่งเล่นออกแบบให้โล่งยาวมาถึงครัวและห้องทานอาหาร ส่วนพื้นที่ซักล้างออกแบบให้มีความสูงน้อยที่สุด ด้วยองค์ประกอบนี้ บ้านจึงมีหลังคาที่มีความลาดเอียง ลดความสูงในทิศเหนือและทิศใต้ และรูปหลังคาที่เหมือนถูกบิดเป็นคลื่นในทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อกันให้รูปลักษณเหมือนสะท้อนภูเขาโดยรอบ
ที่ญี่ปุ่นมักประสบปัญหาแผ่นดินไหว บ้านนี้จึงมีระบบผนังกันแผ่นดินไหวรองรับพื้นที่ขนาดใหญ่ใต้ชายคามีความสมดุลเป็นอย่างดี รอบๆ บ้านมีช่องเปิดขนาดใหญ่ (มาก) และผนังกระจกทำให้เหมือนบ้านไม่มีผนัง ในตัวบ้านเองก็มีช่องว่างระหว่างผนัง เพื่อให้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสีเขียวโดยรอบรวมเข้ากับพื้นที่ใช้สอย รับแสง สายลม เสียงน้ำ มองดูความเปลี่ยนแปลงในฤดูกาลทั้งสี่ได้อย่างใกล้ชิด
แผ่นพื้นคอนกรีตหนาๆ ที่ยกสูงขึ้นจากพื้นท้องทุ่งนา และมีลำคลองเล็ก ๆ ไหลผ่าน เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นบ้านลอยตัวอยู่เหนือน้ำ พร้อมความโปร่งของผนัง ที่ทำให้บ้านเต็มไปด้วยความสุนทรีทั้งทางสายตาและการใช้ชีวิตจริง
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านญี่ปุ่นยุคใหม่ แต่โชว์เทคนิคภูมิปัญญาการก่อสร้างโบราณได้ดี คือ การเปิดให้เห็นโครงสร้างการทำงานไม้ในองค์ประกอบต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงหลังคา บันได ชั้นวาง โต๊ะ เป็นสุดยอดงานทักษะทางช่างที่ยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้แม้เวลาจะล่วงผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ที่เทคโนโลยีก้าวไกลก็ตาม
ภาพรวมของบ้านยุคใหม่ที่วางแผนโดยอิงจากประวัติศาสตร์ เน้นแนวคิดสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภูเขา ชนบท และทะเลสาบ ผสมผสานกับเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ร่วมกันทำให้บ้านนี้อยู่เหนือกาลเวลาในฐานะสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่ออดีตและสามารถแสดงอนาคตของ satoyama ได้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : วัสดุมุงหลังคามีส่วนอย่างมากในการสร้างความประทับใจในภาพรวม ทั้งนี้การเลือกวัสดุมุงให้เข้ากับสไตล์ของบ้าน สภาพภูมิอากาศ และการใช้งานก็สำคัญเช่นกัน สำหรับบ้านทั่วไปก็สามารถใช้วัสดุตามชอบ เช่น กระเบื้องลอนคู่ เมทัลชีท หลังคาแผ่นเรียบ หลังคาโปร่งแสง หลังคาคอนกรีต ที่มีคุณสมบัติและรูปลักษณ์ต่างกันไป แต่ในบ้านที่ดีไซน์แปลก ๆ อย่างบ้านที่หลังคาองศาเฉียงสูงหรือต่ำกว่าปกติ หลังคาโค้ง หลังคาเป็นรูปคลื่นจะเหมาะใช้ชิงเกิ้ลรูฟ (Shingle Roof) ที่ทำจากแผ่นไฟเบอร์ที่มีความแข็งแรงสูงลดการฉีกขาดได้ดี แล้วหุ้มด้วยยางมะตอยทั้ง 2 ด้าน น้ำหนักเบา สามารถติดบนหลังคารูปทรงอะไรก็ได้
|
แปลนบ้าน