
บ้านหลังคาเพิงหมาแหงนผนังกระจก
แรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการประเภทของสถาปัตยกรรม อาจจะมาจากประสบการณ์ ความทรงจำ สิ่งเล็ก ๆ น้อยๆ ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ หรือจากภูมิทัศน์ที่มีอยู่ แล้วนำมาตีความพร้อมกับมองหาวิธีการการสร้างจากมุมมองใหม่ๆ ที่จะทำให้บ้านที่คุ้นเคยนำเสนอมาในแบบที่ต่างไปพร้อมกับความสะดวกสบายที่ตามมาติด ๆ อย่างในโครงการนี้แสดงให้เห็นถึงการนำภูมิทัศน์ของเมือง ที่มีโรงงานแบบเฉียงสูงเรียงกันเหมือนฟันปลาแบบดั้งเดิมกลับมา ซึ่งไม่เพียงแต่ผ่านการอนุรักษ์เอกลักษณ์โรงงานเก่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกแบบวิธีการใช้พลังงานและเรียบเรียงวิถีชีวิตที่ต่างไปจากเดิมด้วย
ออกแบบ : Norihisaka Washima
ภาพถ่าย : SHINKENCHIKU | jumpei suzuki
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านหลังนี้มีพื้นที่รวม 98.73 ตร.ม. ออกแบบสำหรับคู่รักหนุ่มสาวที่มีลูกสามคน ที่ตั้งอยู่ในเมืองอิจิโนะมิยะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในอดีตด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้า เมืองนี้มีทิวทัศน์ถนนที่มีเอกลักษณ์ซึ่งเต็มไปด้วยโรงงานหลายแห่งมีหลังคาแบบฟันเลื่อย สิ่งนี้จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้สถาปนิก norihisa kawashima นำเสนอหลังคาแบบเพิงหมาแหงนเฉียงสูงเรียงซ้อนกัน 3 ผืน โดยหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้กับกับถนน
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
นอกจากแนวคิดเรื่องรูปทรงหลังคาที่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมกับสังคมโดยรอบแล้ว บ้านนี้ยังใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบสภาพแวดล้อมของโลก จึงต้องการให้บ้านพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถรู้สึกเชื่อมโยงกับโลกได้อย่างแท้จริง กุญแจสำคัญประการหนึ่งคือความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ ทิศทางของลม ให้การอยู่อาศัยสอดคล้องกับบริบท โดยพึ่งพาพลังงานประดิษฐ์น้อยที่สุด แต่ก็ยังอยู่ได้สบายในทุกความเปลี่ยนแปลง โดยสถาปนิกอธิบายว่า ‘ควรออกแบบพื้นที่ให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น แม้ในบางครั้งที่อาจต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงของธรรมชาติ ก็ควรยังอยู่ได้ด้วยความโล่งใจ’
หลังคาที่เฉียงสูงขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าของบ้าน ทำเป็นเฉลียงให้เด็ก ๆ ออกมานั่งเล่นได้สบายๆ ผนังที่เป็นกระจกทั้งหมดทำหน้าที่เบอลขอบเขตระหว่างภายในภายนอก ให้สมาชิกได้เพลิดเพลินกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติภายในบ้าน ในขณะที่ตัวบ้านก็ได้รับการปกป้องจากฝน ลม และอุณหภูมิที่แตกต่างกัน หลังคาฟันเลื่อยในโรงงานทอผ้ามักจะหันไปทางทิศเหนือ เพื่อให้รับแสงได้บ้านแล้วเปิดไฟส่องสว่างช่วยตลอดทั้งปี ในทางกลับกัน หลังคาฟันเลื่อยของบ้านหลังนี้มีพื้นที่ผนังกระจกที่หันไปทางทิศใต้ ดังนั้นลักษณะของแสงจึงแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ในบ้านที่ติดตั้งผนังกระจกเป็นช่อง ๆ ยาวตลอดอาคาร ส่งผลให้แสงแดดกระจายเข้าสู่ภายใน ทำให้ห้องสว่างขึ้น เพิ่มความอบอุ่นในฤดูหนาวที่หนาวเย็น (ซึ่งไม่เหมาะกับเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน) นอกจากนั้นยังเกิดมิติของแสงเงาตกกระทบบนผนังและพื้นเมื่อแสงที่เปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ ให้สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอย่างสวยงาม
การตกแต่งภายในบ้านเรียบง่ายในสไตล์โมเดิร์นมินิมอล ลดการใช้ผนังแบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อย มีเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็น เน้นการใช้สีขาวและสีอ่อนๆ เป็นหลัก เพื่อให้บ้านดูกว้าง สบายตา และสะท้อนแสงได้ดี แต่ละล็อคของบ้านใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งบ่งบอกขอบเขต จึงสามารถเข้าถึงกันได้ง่ายแบบไม่ต้องคอยเปิดปิดประตู ส่วนการแยกฟังก์ชันอาคารข้างหน้าหลังเฉลียงจะเป็นห้องครัว โต๊ะทานข้าว มุมนั่งเล่น ส่วนกล่องข้างหลังจะเป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ และห้องนอนเด็กที่มีผนังแยกเป็นล็อกๆ มีโ๖ะทำการบ้านเรียงยาวให้เด็กใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น
ทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นโซนใช้งานสาธารณะหลัก ๆ หรือพื้นที่ใช้งานส่วนตัวอย่าง ห้องนอน ห้องน้ำ ได้รับแสงอย่างทั่วถึง ทั้งจากหน้าต่าง ผนัง ประตู และช่องแสง skylight ด้านบน ที่ให้มุมมองของแสงในองศาเฉียงๆ ไม่ให้สร้างผลกระทบเรื่องความร้อนภายใน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านกระจกในทิศใต้หรือตะวันตก อาจจะเติมความสวยงามและลดการใช้พลังงานความร้อนในบ้านเขตหนาว แต่สำหรับบ้านเขตร้อนจะทำให้ภายในอบอ้าวจนอยู่อาศัยไม่สบายในช่วงกลางวัน การออกแบบบ้านจึงต้องศึกษาทิศทางการเดินทางของแสงให้ดี เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของบ้านในแต่ละโซน ในบ้านเขตร้อนแนะนำว่า ควรติดตั้งห้องกระจกหรือห้องนอนอยู่ทางทิศเหนือ เพพราะด้านนั้นจะรับแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า ได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 6.30 น. – 9.00 น. เมื่อถึงช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรอ้อมทิศใต้ ห้องนอนที่อยู่ทางทิศเหนือจะไม่สะสมความร้อน ถ้าหากเป็นช่วงฤดูหนาวก็จะมีลมเย็น ๆ พัดโชยเข้ามาด้วย
|
แปลนบ้าน