
รีโนเวทบ้านเก่าในลุคโมเดิร์นมินิมอล
“หลายๆคนอาจจะมองว่าการนำดีไซน์ 2 ยุค มาอยู่รวมกันจะเข้ากันหรือเปล่า ซึ่งในช่วงแรกที่สร้างเสร็จก็รู้สึกว่าตัวบ้านออกมาดูแปลกตาไปอีกแบบ เป็นประสบการณ์ใหม่แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกว่าบ้านเดิมของเราก็ยังคงอยู่กับเราครับ” ประโยคอธิบายนี้มาจากสถาปนิกถึงโปรเจ็คการรีโนเวทบ้านชื่อ Reborn House ตั้งอยู่ในประเทศไทยนี่เอง บ้านเก่ามีอายุเกือบ 30 ปี มีลักษณะสถาปัตยกรรมบางอย่างที่ค่อนข้างเฉพาะและเป็นคุณค่าทางจิตใจ เจ้าของบ้านจึงไม่ต้องการที่จะละทิ้งตัวตนดั้งเดิมไปทั้งหมด ซึ่งสถาปนิกก็สามารถนำส่วนผสมของมุมมองต่างยุคเข้ามาอยู่รวมกันได้อย่างน่าสนใจ โดยใช้เวลาตั้งแต่ออกแบบจนถึงก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง
ออกแบบ : Knp Wongthavornman
ภาพถ่าย : Rungkit Charoenwat
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ก่อนปรับปรุง บ้านที่อายุเกือบ 30 ปี มีลักษณะหลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ บ่งบอกเอกลักษณ์ของบ้านรุ่นก่อน เมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงโจทย์แรกของทางครอบครัว คือ ต้องการเก็บบันไดและหลังคาเดิมเพื่อเป็นความทรงจำ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการบ้านสไตล์มินิมอลที่ทันสมัย ความรู้สึกที่ขัดแย้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่าองค์ประกอบที่แตกต่างยุคสมัยนี้ควรนำมารวมกันหรือไม่ ท้ายที่สุดสถาปนิกตัดสินใจ “ทดลองให้ดีไซน์แบบใหม่และองค์ประกอบเดิมในบ้านมีการ contrast หรือตรงกันข้ามกัน โดยให้แบบใหม่มีความเรียบง่ายที่สุดและมีสีที่อ่อนกว่า เพื่อขับให้องค์ประกอบเดิมในบ้านเด่นขึ้น”
หลังจากปรับปรุงบ้าน รูปลักษณ์ของ Reborn House ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยลายเส้นการออกแบบและวัสดุที่ทันสมัย โดยนักออกแบบยังคงส่วนบนสุดของหลังคาเอาไว้ ส่วนตัวบ้านจะคลุมด้วย fabric facade สีขาวโปร่งๆ ใส่มุมโค้งให้ความรู้สึกนุ่มนวล ประตูและรั้วเปลี่ยนจากอัลลอยด์เป็นคอนกรีตพ่น Texture ทรายและเหล็กโทนสีเทาขาว ตรงกลางส่วนหน้าของอาคารมีต้นกระพี้จั่นขนาดใหญ่ทรงพุ่มสูงเหนือชั้น 1 ช่วยเพิ่มร่มเงา และปกป้องความเป็นส่วนตัวของพื้นที่อยู่อาศัยภายใน และกลายเป็นจุดโฟกัสสายตาของบ้าน
เจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับการนำพื้นที่สีเขียวมาสู่ทุกมุมของพื้นที่อยู่อาศัย นอกจากจะทำให้บ้านมีชีวิตชีวาแล้ว ยังเป็นโซลูชันที่ช่วยลดความรุนแรงของสภาพอากาศร้อนในประเทศไทยได้ดี นอกจากหน้าบ้านที่ปลูกต้นไม้ใหญ๋แล้ว ภายในยังปลูกต้นไม้ริมระเบียงเป็นแนว และไม้เลื้อยลีกวนยูที่ห้อยย้อยลงมาบริเวณหน้าต่างพื้นที่ส่วนกลางเป็นเหมือนผ้าม่านลายเถาวัลย์ที่ช่วยกรองแสง ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านยังมีจุดล้างมือให้สะอาด ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบบ้านอยู่ระหว่างช่วงโควิด-19 ระบาด จึงเพิ่มเข้าไปและยังใช้งานได้ตลอด
ผนังบ้านถูกเปลี่ยนเป็นกระจกใส ช่วยให้บ้านรับแสงธรรมชาติได้เต็มที่บ้านจึงสว่างและประหยัดพลังงานไฟฟ้าในช่วงกลางวันได้มาก ประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่เปิดออกเชื่อมต่อกับชานบ้านที่ทำเรียงยาวขนานกันไป เพื่อรวมพื้นที่ว่างและสวนสีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ทุกเวลา
ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องทำงานของ Reborn House ถูกจัดวางให้เชื่อมต่อกันในแนวนอน พื้นที่ภายในจึงยืดหยุ่น ลื่นไหล และมั่นใจได้ถึงความสะดวกสบายเต็มรูปแบบ
ภายในบ้านลบภาพลักษณ์ของบ้านสองชั้นแบบเดิมที่มักจะมีพื้นเพดานทึบปิดกั้นระหว่างชั้น ด้วยการเจาะพื้นที่ขึ้นไปในแนวตั้งให้เป็นโถงสูง Double Space ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งและสามารถมองเห็นกันระหว่างชั้นได้ดีขึ้น ผนังของบริเวณชั้นบนใส่กระจกเพิ่มช่องทางกระจายแสงลงสู่ภายในได้มากขึ้น การตกแต่งโทนสีขาวเป็นฉากหลังและตามด้วยงานไม้โทนสีอ่อนๆ ทำให้บ้านดูนุ่มนวลแบบที่ต้องการ
มุมมองจากชั้นบนลงมาจะเห็นความเคลื่อนไหวในพื้นที่ห้องครัว-ห้องรับประทานอาหาร สร้างความรู้สึกใกล้ชิดและมีส่วนร่วมระหว่างกันได้ง่ายขึ้น
ส่วนของบันไดบ้านเดิมที่มีลูกกรงกลึงและลูกนอนบันไดไม้ทาสีน้ำตาลเข้มแบบสมัยนิยม จะอยู่ด้านหลังของตู้ครัวไม้ แม้สีบันไดจะเข้มกว่าทุกจุดในบ้านแต่ไม่ได้ดูขัดตาแต่ประการใด เมื่อเดินตามบันไดขึ้นมาบนชั้นสอง จะพบกับห้องพระตกแต่งด้วยวัสดุลายหินอ่อนดูมินิมอล แต่พื้นไม้ปาร์เก้สีเข้มและลูกกรงบันไดที่ยังคงเดิม ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกถึงบรรยากาศที่อบอุ่นและคุ้นเคยทุกครั้งที่กลับบ้าน
ไม่เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้นที่บ้านดูสวยงาม เมื่อท้องฟ้าค่อยๆ เริ่มมืด บ้านนี้จะเปล่งประกายจากแสงไฟที่กระจายผ่านเปลือกบ้านสีขาว มองดูจากภายนอกเหมือนโคมไฟโมเดิร์นดวงใหญ่ ส่วนประกอบอื่นๆ ของบ้าน เช่น บันได เพดาน ตู้ ที่ตกแต่งด้วยไฟซ่อนก็สร้างบรรยากาศและเพิ่มมิติทางสายตาให้บ้านยิ่งสวยงาม