
บ้านชนบท ทนทานต่อแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหว เป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่สร้างผลกระทบรุนแรงกับมนุษย์ ทั้งด้านชีวิตและทรัยพ์สิน ตัวอย่างเช่น หลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเดือนเมษายน ปีพ. ศ. 2560 บนบริเวณพื้นที่ชนบทของ Los Horconcitos-Manabí ประเทศเอกัวดอร์ บ้านเรือนในเขตแผ่นดินไหวก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนทำให้ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก al borde+el sindicato arquitectura จึงได้พัฒนาต้นแบบบ้านสำหรับผู้ประสบภัย ซึ่งมีราคาเท่ากับบ้านที่รัฐจัดส่งให้ แต่ปรับแบบบ้านเข้ากับผู้ใช้และสถานที่ปลูกสร้าง ที่เป็นชนบทให้ใช้งานได้ดีเหมาะสมกับบริบทยิ่งขึ้น
ออกแบบ : al borde+el sindicato arquitectura
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ผลงานการออกแบบบ้านสำหรับผู้ประสบภัย เป็นบ้านชั้นเดียวหน้าตาเรียบ ๆ สร้างรากฐานและตอม่อให้แข็งแรงด้วยคอนกรีตขนาดใหญ่ ออกแบบมาเพื่อป้องกันแรงเฉือนและแรงดึงจากแผ่นดินไหว ยกสูงจากพื้นไม่มากพอให้มีพื้นที่ระบายอากาศ โดยปกติบ้านต้านแผ่นดินไหวจะหุ้มรอบเสาด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ทำให้เสาแข็งแรงขึ้น แต่บ้านนี้ประหยัดงบประมาณด้วยการหล่อคอนกรีตลงในยางรถ เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของตอม่อ
บ้านแบบเดิม (ซ้ายบน) ที่พังทลายจากแรงสั่นสะเทือน มีทั้งบ้านคอนกรีตและบ้านไม้ เปรียบเทียบกับภาพที่เป็นบ้านของรัฐ (ช่องขวาบน) จะเห็นว่ารูปแบบบ้านของทีมงาน (รูปล่าง) ดูเข้ากันได้กับสังคมชนบทเกษตรกรรมมากกว่า
บูธจัดแสดงวัสดุสำเร็จรูปต่างๆ ที่ใช้สร้างบ้าน
ผนังและองค์ประกอบอื่น ๆ ของบ้านสร้างจากวัสดุสำเร็จรูป อย่างเช่น ไม้อัด และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่หาง่ายๆ ในพื้นที่ชนบท โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะ ก็ทำโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะไม้อัดหรือไม้ธรรมชาติจะมีความยืดหยุ่น ทำให้โครงสร้างสามารถเคลื่อนไหวได้ เพื่อให้ไม่ฝืนรับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวโดยตรง ทั้งนี้ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการเลือกใช้วัสดุบ้าน ๆ คือ ชาวบ้านสามารถต่อเติมบ้านเองในภายหลังได้ไม่ยากนัก
ระบบโครงสร้าง (Structure) ของอาคารเป็นแบบ Modular ซึ่งช่วยให้แต่ละโครงการสามารถปรับและออกแบบตามเงื่อนไขของแต่ละจุด ลักษณะโครงสร้างที่ต้องต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ทำให้รูปทรงบ้านออกมาสมมาตร เป็นอาคารชั้นเดียวแบ่งตัวบ้านออกได้เป็น 3 ช่อง หลังคาทรงจั่วกางออกมาจากจุดศูนย์กลางเท่า ๆ กัน
การกำหนดทิศทางของบ้าน เน้นใช้ประโยชน์จากกระแสการไหลของอากาศ สร้างช่องเปิดขนาดใหญ่ให้รับและระบายอากาศถ่ายเทในบ้านได้สะดวก ในส่วนที่ต้องการปกป้องบ้านจากแสงอาทิตย์ก็ก่อปิดทึบ
ช่วงกลางของตัวบ้านถัดจากชานบ้าน ติดผนังกระจกและหน้าต่างบานไม้ที่ใส่กระจกเช่นกัน ความใสของกระจกหน้าต่างช่วยให้บ้านดูโปร่งโล่ง ระบายอากาศร้อนได้ดี ทำให้ผู้อยู่ในบ้านรับวิสัยทัศน์อันสวยงามภายนอกได้เต็มที่ สร้างบรรยากาศที่ทันสมัยขึ้นกว่าแบบบ้านธรรมดา และยังมีประโยชน์อีกหนึ่งประการที่แฝงอยู่คือ กระจกจะทำหน้าที่เป็นผนังอาคารไปในตัว ด้วยความที่เป็นวัสดุมีความยืดหยุ่น จึงสามารถโค้งงอและแกว่งไกวในลักษณะคล้ายๆ กับการแกว่งไกวของต้นไม้ที่ถูกลมพัดกระโชกแรงๆ แต่ไม่พังคลืนลงมาง่าย ๆ
ส่วนของพื้น ผนัง และหลังคา สามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น วัสดุปูพื้น สามารถใช้ได้ทั้งไม้ธรรมชาติ ไม้สังเคราะห์ แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ส่วนของผนังจะใช้ไม้จริง ไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด (smart board) ไม้อัดซีเมนต์บอร์ด (viva board) หรือไม้ WPC (wood plastic composite) สำหรับบ้านนี้พื้นบ้านปูด้วยไม้ ผนังบ้านฉาบปูนผสมวัชพืชสับ (หรือดินปั้นฟาง) สร้าง texture ที่สวยงามให้กับบ้าน สีของดินให้ผืนผนังที่มีความงามตามธรรมชาติ ดินผสมหรือปูนพลาสเตอร์ผสมนี้ยังมีคุณสมบัติทนต่อแผ่นดินไหวได้ดีกว่าบ้านดินแบบอิฐดินดิบด้วย
บ้านนี้สร้างขึ้นโดยมีทีมงานก่อสร้าง 2 คน และผู้ช่วยที่เป็นเกษตรกรสองคน ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้าง เข้ามาร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการก่อสร้าง ที่จัดขึ้นโดย ENOBRA แล้วลงมือก่อร่างสร้างบ้านออกมาเป็นหลังได้งดงาม ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงสองเดือนก็พร้อมเข้าอยู่
แปลนอาคาร