
บ้านเขตร้อนชื้น
ความรักความผูกพันกับธรรมชาติพันธุ์ไม้ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมมากมาย เช่นเดียวกันกับบ้านในประเทศอินโดนีเซียหลังนี้ ที่แต่เดิมคนในท้องถิ่นดั้งเดิมก็มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างแนบแน่นอยู่แล้ว แม้จะเป็นบ้านของคนรุ่นใหม่แต่ความปรารถนาของเจ้าของก็ยังต้องการ “ชีวิตสีเขียว” จึงเน้นให้ทุกพื้นที่แทรกด้วยต้นไม้เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ออกแบบ : Ismail Solehudin Architecture
ภาพถ่าย : Mario Wibowo
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้าน 2 วัสดุสำหรับคนชีวิตติดสีเขียว
บ้านขนาด 200 ตารางเมตรเป็นของครอบครัวชาวอินโดนีเซียที่เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่อกัมปง ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่ด้วยกันค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อสร้างบ้านของตัวเองพวกเขาจึงต้องการสร้างประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันเหมือนในอดีต ความฝันดังกล่าวบวกกับความรักธรรมชาติได้กลายมาเป็น “แนวทาง” สำหรับสถาปนิกในการสร้างบ้านหลังนี้ เมื่อมองจากภายนอกเราจะเห็นรูปทรงที่ดูเหมือนไม่ได้สัดส่วนและการผสมผสานของสีและวัสดุที่ตัดกัน ทำให้ด้านหน้ามีความโดดเด่นและสวยงาม สถาปนิกได้เลือกใช้อิฐและพีวีซีแผ่นลอนในการสร้างผนังและหลังคาสำหรับบ้าน วัสดุทั้งสองนี้ช่วยลดผลกระทบของอุณหภูมิอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยภายในให้บ้านเย็นสบายอยู่เสมอ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ประตูทางเข้าออกแบบอย่างเรียบง่ายและปลอดภัย โดยไม่บดบังความสวยงามโดยธรรมชาติของโครงการ อิฐแดง “โอบอุ้ม” ประตูหลักให้ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย สถาปนิกเรียงอิฐแบบไม่มีแพทเทิร์นตายตัว บางจุดเรียงแนวตรง บางจุดเอียงเฉียงเพื่อเบี่ยงทางเดินของแสง และเว้นระยะห่างให้ลมสามารถเข้าสู่ตัวบ้านได้ ทางเดินไม้เปิดพื้นที่ภายในบ้านให้กว้างและโปร่งสบาย เมื่อมารวมเข้ากับต้นไม้ที่ปลูกไว้สองข้างทางเข้าทำให้บ้านกัมปงนี้มีความสดชื่นและมีชีวิตชีวา
อิฐและต้นไม้โอบอุ้มบ้านให้สดชื่น
จุดเด่นประการแรกของโครงการอยู่ที่ทางเข้าที่ค่อนข้าง “รก” ชวนให้นึกถึงชีวิตที่แออัดและวุ่นวายของครอบครัวในอดีต ซึ่งความรกที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการนำข้าวของมาทับถมกันอย่างไม่มีระเบียบแต่เป็นการนำต้นไม้และของตกแต่งมาวางไว้รายรอบจนดูเหมือนยกป่าน้อย ๆ เข้ามาเก็บไว้ข้างใน ที่นี่สถาปนิกได้ผสมผสานวัสดุต้นไม้และแสงธรรมชาติหลายประเภทเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างพื้นที่ที่สนุกสนานและอบอุ่นสำหรับครอบครัว
พื้นที่ใช้สอยที่ Kampoong House ได้รับการขยายออกอย่างสร้างสรรค์ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ในแนวนอนสถาปนิกพยายามลดการใช้ผนังแบ่งห้องลง เพื่อให้สัญจรเข้าถึงกันได้ง่าย ส่วนพื้นที่โถงสูงขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างสองชั้นตามทางเดินหลัก ตรงจุดนี้จะสร้างการไหลที่ราบรื่นจากบนลงล่าง ทุกห้องได้รับการออกแบบอย่างอิสระเปิดกว้างเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอก รวมทั้งพื้นที่ใช้สอยแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งสะดวกและสบายยิ่งขึ้นเมื่อจัดให้อยู่ติดกับ “พื้นที่สีเขียว” ของครอบครัว
ถัดจากพื้นที่ต้อนรับจะเป็นทางเดินที่ขนาบด้วยสวนเล็ก ๆ ทั้งสองข้าง และทะลุพื้นที่ Double space มาถึงครัวและมุมพักผ่อนที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสงบสุข การตกแต่งใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้คุณภาพสูง เก้าอี้หนัง และพื้นหินให้ความรู้สึกหรูหราเล็ก ๆ ตัดกับภาพความเรียบง่ายของอิบแดงบ้าน ๆ เจ้าของต้องการสร้างสถานที่ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างราบรื่น จึงทำประตูกระจกบานเฟี้ยมพับเก็บได้ออกสู่สนามหญ้าขนาดเล็กที่ปลูกไว้ที่ด้านหลังของบ้าน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมา
ยิ่งสูงแต่ไม่หนาวแถมยังชิดใกล้
โถงสูงแทรกกลางอาคารลบความรู้สึกของบ้านสองสามชั้นแบบเดิม ๆ ที่ต้องปิดเพดานแบ่งสัดส่วนใช้งานระหว่างชั้นจนดูมืด มีช่องวางเพียงตรงโถงบันได ซึ่งทำให้บ้านมีปัญหาเรื่องแสงกลางอาคารและการระบายอากาศ เมื่อเจาะเพดานออกเชื่อมต่อในแนวตั้งแล้วใส่วัสดุโปร่งแสงตรงหลังคาแบบนี้ จะช่วยดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ใจกลางบ้าน ห้องต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบที่ว่างนี้สามารถเปิดออกมาติดต่อสื่อสารกันได้
ระหว่างชั้นจะมีจุดแวะและทางเดินเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะมีที่ว่างขนาดใหญ่อยู่สถาปนิกจึงใส่ลูกเล่นสนุก ๆ ด้วยการสานตาข่ายเชือกใยยักษ์สีขาวเป็นเปลขนาดใหญ่ให้สมาชิกในบ้านมานั่งเล่นนอนเล่น ส่วนนี้จะตรงกับมุมนั่งเล่นข้างล่างพอดี ทำให้สามารถมองเห็นกันได้แบบไม่ขาดการติดต่อ
ห้องนอนตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยวัสดุธรรมชาติและโทนสีกลาง ๆ แต่เต็มไปด้วยลูกเล่น อาทิ การกรุไม้แผ่นใหญ่ตรงผนังและเพดานเหนือเตียงนอน ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นซุ้มไม้ที่ปกป้องเจ้าของห้องอยู่อย่างอบอุ่น พื้นที่เพดานที่เฉียงสูงเพิ่มความโปร่ง ช่องแสงแนวนอนด้านบนระหว่างผนังกับหลังคา ทำให้แสงเข้ามาในองศาที่สวยงาม เติมความสว่างพร้อมมิตอที่แปลกตา หน้าต่างที่เปิดกว้างทำให้ห้องพักได้ภาพธรรมชาติที่สดชื่นสบายตา
ทุกที่ต้องมีธรรมชาติ
แม้แต่ในห้องน้ำก็ตกแต่งโดยจำลองพื้นที่ธรรมชาติเข้ามาเก็บไว้ภายใน ด้วยการยกกระถางต้นไม้เข้ามาตกแต่ง พื้นปูกระเบื้องลายไม้สีน้ำตาลเข้ม และโรยกรวดเอาไว้รอบ ๆ เพิ่มความสุนทรีทุกครั้งที่เข้ามาใช้งาน
บ้านหลังนี้คือการตกผลึกของความคิดสร้างสรรค์โดยการนำเอาวัสดุสมัยและฟังก์ชันใหม่ ๆ มาผสานเข้ากับงานพื้นถิ่นของอินโดนีเซีย บ้านกัมปงนี้ยังถือเป็นแบบอย่างของผู้ที่กำลังมองหาพื้นที่สีเขียวสะดวกสบายอย่างแท้จริงสำหรับครอบครัวด้วย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การเจาะบางส่วนของเพดานออก เพื่อสร้างโถงสูงแบบ Double space ใจกลางบ้าน แล้วแบ่งอาคารออกแยกส่วนแบบนี้ไม่ได้มีให้เห็นในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังเริ่มนิยมในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ด้วย เช่น เวียดนาม ที่มักนำเสนอบ้านที่มีช่องว่างและสร้างชั้นลอยหรือห้องรอบ ๆ ช่องเหล่านี้ ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้แสงและลมเดินทางภายในบ้านได้ดีขึ้น อากาศร้อนสามารถลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงและระบายออกจากบ้านได้ง่าย สิ่งที่เป็นผลพลอยได้คือ การเปิดพื้นที่สื่อสารระหว่างในบ้านที่มีมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยเพดานทึบๆ อีกต่อไป |
แปลนบ้าน