
บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล
เราเชื่อว่าน้อยคนที่ชอบอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อึกทึกครึกโครม ในทางกลับกันหลาย ๆ คนต่างมองหาพื้นที่ชีวิตสงบ ๆ แม้จะต้องเดินทางไกลขึ้น หรือจ่ายเงินมากกว่าก็ยอม บ้านหลังนี้ในประเทศอินเดียนับว่าโชคดีที่อยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์อันเงียบสงบ เดิมไซต์นี้ประกอบด้วยต้นมะม่วงขนาดใหญ่สองต้นและราชพฤกษ์สีทอง ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ช่วยเสริมความร่มรื่นสวยงามของไซต์ได้เป็นอย่างดี เมื่อต้องการก่อสร้างอาคารใหม่จึงตัดสินใจที่จะรักษาไว้ และออกแบบบ้านให้เข้ากันได้กับแนวต้นไม้ที่อยู่ด้านหน้า ส่วนพื้นที่ภายในตกแต่งโดยยึดธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน ให้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสระดับพรีเมียมแก่เจ้าของบ้านอย่างแท้จริง
ออกแบบ : Mudbricks
ภาพถ่าย : Justin Sebastian
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านสองชั้นหลังนี้ตั้งอยู่ในบริบทกึ่งเมืองของเมือง Kodungallur อันเลื่องชื่อ ในประเทศอินเดีย ที่พักนี้ได้รับการออกแบบสำหรับครอบครัวที่มีความปรารถนาจะมีบ้านที่เรียบง่ายและสวยงามในบ้านเกิดของเขา ซึ่งต้องใช้การพูดคุยกันอย่างละเอียด เพื่อปรับแต่งบ้านความต้องการพื้นฐานและตอบทุกโจทย์ได้มากที่สุด การออกแบบพัฒนาขึ้นโดยพิจารณาจากสถานที่ตั้งของไซต์ในบริบทของเมือง และคำนึงถึงความสนใจของลูกค้า ไลฟ์สไตล์ประจำวัน ไปจนถึงความถี่ในการรับแขกและเพื่อนฝูง เพราะจะมีผลต่อการจัดการพื้นที่ทั้งหมด หลังจากการหารือสรุปออกมาเป็นบ้านสีเอิร์ธโทนที่ล้อมด้วยธรรมชาติ และภายในที่รู้สึกเหมือนยกพื้นที่กลางแจ้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
สเปซหน้าบ้านก่อนเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยภายใน โดดเด่นด้วยการวางสวนน้ำเล็ก ๆ ใกล้ทางเข้า ทำให้เกิดความสดชื่นและเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจ การเพิ่มน้ำพุสร้างเสียงการไหลของน้ำที่เติมสุนทรียศาสตร์ธรรมชาติให้บ้าน พร้อม ๆ กับลดเสียงรบกวนอื่น ๆ รอบบ้าน นอกจากน้ำก็ยังมีดอกไม้ ไม้เลื้อย และใบไม้ เพิ่มความสงบร่มเย็นให้กระจายไปทั่วบริเวณ ตัวสระน้ำเลือกใช้โทนสีน้ำเงินเข้ม ช่วยเติมเต็มพื้นผิวน้ำได้อย่างสวยงาม
จากโถงทางเข้าบ้านเปิดออกสู่ลานภายใน ซึ่งประกอบด้วยผนังน้ำตกที่มี Texture จากแผ่นหินที่กรุเต็มพื้นที่สูงสองชั้น ให้ความรู้สึกถึงผืนดินที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ข้างล่างรายล้อมไปด้วยก้อนกรวดและต้นไม้ ก่อเป็นส่วนผสมของสีเขียวและผืนดินอีกครั้ง เหนือจุดนี้มีช่องแสง skylight ทำให้บ้านสว่างไสว เหมือนมีพื้นที่กลางแจ้งอยู่ในบ้าน เป็นไปตามแนวคิดการตกแต่งแบบ outside in-inside out
ในส่วนของพื้นที่ใช้งาน สถาปนิกออกแบบโดยคำนึงถึงการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเจ้าของกับผู้คน เพื่อประมวลมาเป็นการจัดพื้นที่พื้นฐาน โดยแบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ครอบครัว และส่วนตัวอย่างชัดเจน เพื่อให้มีพื้นที่กว้างขวางและมีคุณภาพในยามแขกและจัดงานสังสรรค์ในครอบครัว ในขณะที่ให้ความเป็นส่วนตัวในระดับที่ต้องการแก่พื้นที่ครอบครัว พื้นที่ใช้สอยส่วนตัวถือเป็นจุดสำคัญของบ้าน แต่แทนที่จะเป็นห้องทั่วไปที่มีผนังทั้งสี่ด้าน ทีมงานกลับวางผังแบบเปิด (open plan) สร้างโซนห้องนั่งเล่น ครัว ทานข้าวที่เชื่อมถึงกัน
จากการรวมเอาองค์ประกอบของดวงอาทิตย์ การเปิดกว้างเชื่อมต่อทั้งแนวนอนและแนวตั้ง น้ำ และธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันในบ้านเขตร้อนหลังนี้ ทำให้ห้องนั่งเล่นได้รับแสงสีทองในยามเช้าตรู่ ช่วงกลางวันมีสายลมอ่อน ๆ พาดผ่าน นั่งฟังเสียงน้ำเพลิน ๆ ทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องพบมาตลอดวันได้อย่างง่ายดาย จนลืมไปเลยว่าที่นี่เป็นบานในเขตร้อนชื้น
องค์ประกอบหนึ่งที่สถาปนิกใช้งานกับบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ เป็นฉากฉลุที่ทำหน้าที่กั้นแบ่งโซนใช้งานมอบความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่นั้นอย่างหลวม ๆ เรียกว่า jaali ลายโปร่ง ๆ ให้ความรู้สึกเบา สร้างความสวยงามและบรรยากาศของบ้าน ตอกย้ำเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมความเป็นอินเดียที่ชัดเจนในบ้านร่วมสมัย
ห้องทานข้าวและห้องครัวที่แยกออกมาอีกด้าน แม้จะมีผนังกั้นให้ความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้นกว่าห้องนั่งเล่น แต่ก็สร้างความเชื่อมต่อได้ง่ายเพราะไม่มีประตูปิดกั้น และยังเจาะช่องเปิดขนาดใหญ่ใส่เคาน์เตอร์บาร์เล็ก ๆ สำหรับเป็นช่องส่งอาหาร ในขณะที่ยังพอมองเห็นกันได้
ห้องนอนทั้งหมดขนาด 5 ห้องนอน แบ่งเป็นสำหรับเจ้าของบ้าน 1 ห้อง ห้องนอนลูกสองคน ห้องสำหรับคุณยายที่มีอายุมากแล้ว และห้องสำหรับแขกผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ชั้นบน เพื่อแยกโซนการพักผ่อนออกไปจากส่วนใช้งานที่มีความเคลื่อนไหวมาก ยกเว้นห้องผู้สูงอายุที่ถูกจัดไว้ด้านล่าง เพื่อความปลอดภัยและการใช้งานที่สะดวก
บ้านหลังนี้ไม่ได้มีแค่สอ่งก่อสร้าง อิฐ ปูน คอนหกรีต หิน เท่านั้น แต่ยังมีเสียงน้ำไหลรินที่เพิ่มคว่มสงบ กลิ่นหอมสดชื่นของดอกไม้ มิติของแสงที่กรองจากดวงอาทิตย์ เงาที่มีลวดลายตกกระทบบนผนังเรียบ และความสง่างามของโทนสีที่ให้พื้นที่ ทำให้บ้านมีความผ่อนคลายแต่ก็เต็มไปด้วยออร่าของความหรูอยู่เช่นกัน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : เมื่อก่อนเราคิดว่าการจัดสวนในบริเวณบ้าน เป็นการเชื่อมตัวเราเข้ากับธรรมชาติแล้ว แต่มาถึงยุคนี้ยิ่งแนบสนิทขึ้นกว่าเดิม ด้วยการจับสวนเข้ามาจัดไว้ข้างในบ้านเสียเลย เป็นสถาปัตยกรรมสีเขียวที่รวมคอร์ท (Courtyard) ปลูกต้นไม้หรือสวนน้ำอยู่ตรงกลางบ้าน นอกจากนี้ยังมีช่องแสงทั้งจากด้านข้างและด้านบนในลักษณะ (skylight) รับแสงธรรมชาติเพียงพอต่อการเจริญเติบโต บ้านจึงกลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของสวนกลางแจ้ง แบบ outside in- inside out คือมองดูแล้วแทบแยกไม่ออกว่าเป็นบ้านอยู่ในสวนหรือสวนอยู่ในบ้าน |