
บ้านท้ายซอยที่ไม่ขาดแสง ลม และพื้นที่
บ้านในซอยตัน นอกจากฮวงจุ้ยจะไม่ดีควรหลีกเลี่ยงแล้ว ในแง่ของการจัดการทิศทางแสงและลมก็ยังยากด้วย หากคิดว่าบ้านซอยตันทำเลแย่แล้ว ลองมาดูบ้านหลังนี้ในเวียดนามที่ได้รู้ข้อมูลคร่าวๆ แล้วรู้สึกเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะไม่เพียงแต่ตั้งอยู่ในซอยตันสัญจรได้ทางเดียวแล้ว ยังมีเพื่อนบ้านขนาบซ้ายขวา รูปทรงที่ดินหน้าแคบแต่ลึก เท่านั้นยังไม่พอ บ้านยังหันหน้าไปทางทิศตะวันตกที่รับแสงได้ดีที่สุดด้วย แต่ทุกปัญหาที่ว่ามา G+architects สามารถรับมือได้ด้วยเทคนิคและการใช้วัสดุธรรมดาๆ เท่านั้น
ออกแบบ : G+architects
ภาพถ่าย : Quang Dam
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้าน 3 ชั้นนี้ชื่อ M House อยู่ใน Go Vap เมืองโฮจิมินห์ ที่มีพื้นที่ขนาด 72.5 ตร.ม. (กว้าง 5 ม. ลึกประมาณ 14-15 ม.) ถือเป็นความท้าทายมากมายสำหรับสถาปนิก เพราะตั้งอยู่สุดซอยตัน โดยส่วนหน้าอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกโดยตรงทำให้แดดร้อนส่องเต็มๆ โครงการจึงประสบปัญหายากทั้งเรื่องพื้นที่ การระบายอากาศ และแสงสว่าง ส่วนโจทย์ของเจ้าของบ้านมีง่ายๆ คือ การใช้ชั้นล่างเพื่อวัตถุประสงค์ในการเช่า ขณะเดียวกันก็รักษาความเป็นส่วนตัวและความสะดวกสบายสำหรับสมาชิกในครอบครัวในชั้นอื่นๆ จึงจำเป็นต้องจัดไม่ให้พื้นที่กิจกรรมทับซ้อนกันด้วย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
จากการเรียบเรียงทั้งความต้องการและปัญหา สถาปนิกของ G+Architects จึงได้คิดโซลูชันที่สร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนบ้านพื้นที่น้อยๆ นี้ ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่โปร่งสบาย เต็มไปด้วยแสง และมั่นใจถึงความเป็นส่วนตัวสำหรับทั้งเจ้าของบ้านและผู้เช่า โดยการสร้างกำแพงแบ่งระหว่างพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลางของบ้านและทำทางเข้าแยกต่างหาก โซลูชันนี้ไม่เพียงแต่แยกสัดส่วนที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับพื้นที่อยู่อาศัยอีกด้วย
นี่คือกำแพงอิฐเรียบที่ใช้แยกพื้นที่ที่กล่าวถึงข้างบน ซึ่งจะทอดยาวจากชั้นล่างขึ้นไปถึงหลังคา กลายเป็นโถงสูงหลายเมตรที่เอื้อให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นได้ดี เหนือโถงนี้ยังมีช่องแสงสกายไลท์รับแสงตรงๆ จากด้านบน สร้างความสว่างเหมือนบันไดกลางแจ้งลงในตัวบ้าน
อีกหนึ่งจุดที่แก้ไขแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีต่ออาคารหลายๆ อย่าง คือ การออกแบบส่วนหน้าอาคารด้วยการก่อเป็นบล็อกช่องลมอย่างชาญฉลาด เพื่อ “ควบคุม” แสงแดดจ้าที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ในขณะเดียวกัน รูพรุนเหล่านี้ก็ช่วยนำลมเข้ามาระบายอากาศลดความอับชื้นภายใน บ้านจึงดูเหมือน “อาบ” ท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ อีกทั้งยังช่วยพรางสายตาให้ความเป็นส่วนตัวกับพื้นที่ใช้ชีวิิตภายใน ทำให้เกิดมุมเล็กๆ แห่งความสงบในใจกลางเมืองที่พลุกพล่าน
ผนังที่สองของบ้านจะหมุนเป็นมุม 15 องศา เพื่อสร้างพื้นที่เปิดโล่งสำหรับชั้น 1 และช่องรับแสงสำหรับชั้นล่าง (ลานภายในที่ห้องตั้งอยู่) พร้อมบันไดขึ้นสู่ชั้นสอง
ฟังก์ชันหลักของบ้านนี้ ได้แก่ ห้องนอน 3 ห้อง ห้องครัว 1 ห้อง และพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลาง การออกแบบทุกรูปแบบตั้งแต่แผนผังภายใน ไปจนถึงการเลือกสี มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้สอย เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน ฯลฯ ออกแบบให้มีรูปแบบเปิดโล่ง โปร่งสบาย และเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิก อย่างห้องนั่งเล่นจะเชื่อมต่อกับพื้นที่รับประทานอาหารและห้องครัวในพื้นที่เดียว จากชั้นบนมองลงมาเป็นคนที่นั่งเล่นอยู่ชั้นล่างได้ แม้จะมีถึงสามชั้นและถูกแบ่งพื้นที่ตัดมุมของบ้านให้ต่างจากบ้านหลังอื่น แต่ก็ไม่ขาดการปฏิสัมพันธ์
ในส่วนของตกแต่งภายในแบบมินิมอลลดพื้นที่ภายในให้เหลือน้อยที่สุด และเน้นการใช้งานเป็นหลัก แต่ละมุมใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อย่างมุมครัวที่มีผนังโค้งเหลือพื้นที่เล็ก ๆ ก็ใช้ทำเคาน์เตอร์ครัวรูปสามเหลี่ยมมุมมนได้ ช่วยให้บ้านโปร่ง ขจัดความรู้สึกคับแคบที่มักพบในบ้านที่มีพื้นที่หน้าแคบลึก
นอกจากช่องหน้าต่าง ช่องแสง ช่องลมขนาดใหญ่ บ้านนี้ยังมีช่องเปิดขนาดเล็กอยู่เป็นระยะบนผนังและหลังคา ช่วยให้บ้านได้รับแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และยังสร้างเอฟเฟ็กต์ของแสงและเงาตกกระทบสวยๆ ที่เปลี่ยนตำแหน่งและรูปร่างไปตามการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์
ห้องนอนได้รับแสงสว่างจาก 2 ด้าน คือจากผนังช่องลมด้านหน้า กับช่องกระจกเหนือโต๊ะอเนกประสงค์ ทำให้โต๊ะมีแสงธรรมชาติเพียงพอเสมอโดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบไฟที่ซับซ้อน
ระบบฟาซาดบล็อกช่องลมนี้ ไม่ได้เป็นเพียง “รู” ในผนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเท่านั้น แต่ยังได้รับการคำนวณขนาดและระยะห่างอย่างรอบคอบ เพื่อให้แสงและการระบายอากาศเหมาะสมที่สุดสำหรับบ้านเขตร้อนชื้นหลังนี้
แปลนบ้าน