
ชุมชนโหล่งฮิมคาว
วัฒนธรรมล้านนา กับการใช้ชีวิตแบบ Slow Life
เมื่อประมาณ 3-5 ปีก่อน วิถีการใช้ชีวิตแบบช้า ๆ หรือที่นิยามกันว่า “Slow Life” กลายเป็นวิถีที่ได้รับความนิยมสูงมาก ส่งผลให้ผู้คนรุ่นใหม่ ต้องการผันตนเองออกจากกระแสสังคมเมือง ที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ออกมาใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตนต้องการ แต่การใช้ชีวิตแบบ Slow Life อาจกลายเป็นคำถามในใจใครหลายคน ว่าจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จริงหรือไม่ ในเนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” พาไปรู้จักกับชุมชนโหล่งฮิมคาว ชุมชนที่มีการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง ด้วยสโลแกนที่ว่า “เรากินช้า ๆ เดินช้า ๆ ซื้อขายช้า ๆ อู้จ๋าม่วน ๆ” พร้อมกับได้เก็บภาพบรรยากาศกาดต่อนยอนและ ฉำฉา Market มาฝากครับ
ภาพ | เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
ผู้เขียนรู้จักกาดต่อนยอนและชุมชนโหล่งฮิมคาวจากเพจ “ฉำฉา” ฉำฉา Market เป็นกาดเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เน้นขายเสื้อผ้าที่ผลิตจากผู้คนในท้องถิ่น ผ้าฝ้าย ผ้ามัดย้อม และได้ทราบว่าตลาดฉำฉา ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโหล่งฮิมคาว การไปเที่ยวกาดต่อนยอนครั้งนี้ จึงเสมือนได้ไปแหล่งท่องเที่ยวถึง 3 แห่งพร้อมกัน นั่นคือ ชุมชนโหล่งฮิมคาว ตลาดฉำฉา และกาดต่อยอน แต่จุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการได้รู้จักชุมชนโหล่งฮิมคาว ซึ่งเป็นแกนกลางของแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 3 แห่งนี้ครับ
รู้จักกับชุมชนโหล่งฮิมคาว
ชุมชนโหล่งฮิมคาว ตั้งอยู่ที่บ้านมอญ สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนที่อยู่อย่างเรียบง่ายหลังวัดสีมาราม ติดกับริมแม่น้ำคาวโหล่งฮิมคาวเป็นภาษาพื้นเมือง คำว่าโหล่ง แปลว่า ย่าน ส่วนฮิมคาว คือ ริมแม่น้ำคาว ความหมายคือชุมชนย่านริมแม่น้ำคาวนั่นเองครับ ผู้คนในชุมชนมีสโลแกนในการใช้ชีวิต คือ “เรากินช้า ๆ เดินช้า ๆ ซื้อขายช้า ๆ อู้จ๋าม่วน ๆ” (หากใครเคยไปตลาดบ่อสร้างแหล่งหัตถกรรมทำร่มและเครื่องเงิน ชุมชนโหล่งฮิมคาวจะไปเส้นทางเดียวกันครับ แต่ถึงก่อนบ่อสร้างประมาณ 5 กิโลเมตร)
โหล่งฮิมคาวมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตผ้าฝ้าย ได้มาตรฐานรางวัลชนะเลิศ GI การออกแบบเสื้อผ้าจะมุ่งเน้นการผสมผสานระหว่างแฟชั่นล้านนาเดิม ประยุกต์ให้เหมาะสมกับแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ ภายในชุมชนแบ่งเป็นบ้านไม้เรือนไทยหลังเล็ก ๆ โดยบ้านเหล่านี้เป็นเสมือน Home Office มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้าพื้นเมือง โดยแต่ละบ้านจะเปิดบ้านเพื่อจำหน่ายสินค้าของตนเอง และมีกิจกรรมเวิร์คช้อปทุกวัน (ปิดวันพุธ)
สวนต้นฝ้ายและต้นคราม วัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้า
ต้นคราม สำหรับย้อมผ้าสีฟ้า น้ำเงินคราม
ต้นฝ้าย วัตถุดิบในการทำผ้าฝ้าย
อุปกรณ์สำหรับทำเสื้อผ้า
กาดต่อนยอน
สำหรับกาดต่อนยอน (กาด ภาษาเหนือ แปลว่า ตลาด) อาจเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมประจำปีของชุมชนโหล่งฮิมคาว นอกจากร้านค้าที่อยู่ในชุมชนแล้ว ยังมีร้านค้าจากชุมชนอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นงานหัตถรรมทำมือ ผลิตสินค้าและจำหน่ายด้วยตนเอง โดยงานจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลยี่เป็งหรือวันลอยกระทง ซึ่งช่วงดังกล่าวภาคเหนือมีอากาศหนาว บรรยากาศการเดินจึงเพลิดเพลินใจไม่น้อยครับ แต่น่าเสียดายในวันที่ทีมงานบ้านไอเดียได้ไปเยี่ยมชมเป็นเย็นวันสุดท้ายของงาน ใครต้องการมากาดต่อนยอน จึงต้องรออีกครั้งปีหน้าเลยครับ
บรรยากาศภายในกาดต่อนยอน กาดประจำปีของชาวโหล่งฮิมคาว
ฉำฉา Market
สำหรับท่านที่ต้องการเที่ยวชมชุมชนโหล่งฮิมคาว แม้จะพลาดช้อปสินค้าในกาดต่อนยอน แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะทุก ๆ วันเสาร์และวันอาทิตย์ ภายในชุมชนมี ฉำฉา Market ตลาดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ใต้ต้นจามจุรีหรือชื่อท้องถิ่น “ต้นฉำฉา” ต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาไปทั่วทั้งตลาด โดยตลาดดังกล่าวจะเปิดเฉพาะช่วงกลางวัน หลังจากพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน แม่ค้าก็จะทยอยเก็บร้าน สินค้าส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าจากผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม งานหัตถกรรม และขนมขบเคี้ยวทานเล่น หรือหากใครหิวมีร้านพิซซ่าบนรถบัสในรูปแบบ Homemade ให้ทานกันด้วยครับ
นับเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ไปแล้วรู้สึกอิ่มเอิบใจ ที่ได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้า พาตนเองไปใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตนต้องการ แต่การใช้ชีวิต Slow Life เพียงลำพัง อาจขาดเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุน การรวมตัวกันเป็นชุมชน เพื่อได้แบ่งปัน ช่วยกันให้ผลผลิตจากแบรนด์เล็ก ๆ กลายเป็นชุมชนขนาดย่อม ๆ ช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จัก ให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยี่ยมชม นับเป็นแนวทางที่สามารถใช้ชีวิตในแบบฉบับที่ตนต้องการ พร้อมกับได้ทำในสิ่งที่ตนรัก และมีรายได้ในการใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กัน อยู่ได้ด้วยตัวชุมชนเอง ผู้อ่านท่านใดมีโอกาสมาเชียงใหม่ พลาดไม่ได้ที่จะมาเยี่ยมชมชุมชนโหล่งฮิมคาวครับ