
บ้านคอนกรีตโชว์กริดไลน์และเส้นโค้ง
ต้องยอมรับว่า “บ้าน” ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ ซึ่งอาจจะมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา หรือวนไปที่สิ่งเดิมๆ ที่ผ่านการตีความใหม่ๆ ทั้งนี้ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปอย่างไร “คอนกรีต” ก็จะยังเป็นหนึ่งในวัสดุที่อยู่คู่บ้านเสมอไม่เคยหายไป ในช่วงหนึ่งการโชว์พื้นผิวแบบสัจจะวัสดุไม่ทาสี ไม่ฉาบทับ เป็นที่นิยมมาก เราจึงได้เห็นบ้านปูนเปลือย บ้านปูนขัดมัน ดิบ ๆ เท่ ๆ กันมาก แม้ว่าช่วงนี้บ้านสไตล์นี้จะซาลงไป แต่เราเชื่อว่าด้วยเอกลักษณ์ของพื้นผิว จะยังคงมีคนเทใจให้บ้านคอนกรีตเปลือย เพียงแต่อาจจะนำมาจับคู่วัสดุ และนำเสนอเส้นสาย มุมองแบบอื่น ๆ ที่เราอาจไม่ค่อยเห็น เหมือนบ้านหลังนี้ครับ
ออกแบบ : Porebski Architects
ภาพถ่าย : Tom Ferguson
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านสองชั้นที่เห็นอยุ่นี้ เป็นส่วนต่ เติมของกระท่อมเล็ก ๆ ที่สร้างในปี 1882 ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกด้านในของซิดนีย์ ได้รับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับลไฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบสวนและแสง จึงออกแบบให้เป็นบ้านประตูกระจก ลดการใช้ผนังภายในเพื่อสร้างความเชื่อมต่อ ส่งผลให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางซึ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างสำหรับการใช้ชีวิตแบบครอบครัวร่วมสมัย ในเลย์เอาต์รูปตัว L ที่ขยายออกมาต่อเนื่องสู่กลางแจ้งอย่างลื่นไหล เพื่อให้เจ้าของมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ในวัสดุสไตล์เท่ ๆ อย่างคอนกรีตที่ถูกลดทอนความกระด้างลงด้วยเส้นโค้งและงานไม้
ห้องนั่งเล่นเปิดประตูได้กว้างเชื่อมต่อสนามหญ้า สะดุดตากับม้านั่งในสวนทำจากคอนกรีตทรงโค้งวางเบาะสีเหลืองสดใสน่านั่ง ตั้งอยู่ภายในสวนที่มีภูมิทัศน์สวยงามล้อมรอบด้วยต้นมะกอกและสวนแนวตั้งเขียวๆ มีเตาบาร์บีคิวพร้อมรับปาร์ตี้ในวันพิเศษ
ถัดจากห้องนั่งเล่นจะมีสเต็ปบันไดนำขึ้นไปสู่ห้องครัว ที่ตกแต่งด้วยโทนสีขาวโดดเด่น พื้นที่มีแสงธรรมชาติที่ส่องกระจายมาจากสกายไลท์ด้านบนที่เจาะเป็นช่องว่างเหนือไอส์แลนด์ตัวใหญ่ท็อปสวย ชวนให้เข้ามาใช้งานปรุงอาหารเตรียมอาหารบ่อยๆ หรือจะจัดเลี้ยงต้อนรับการมาของเพื่อน ๆ ก็ไม่มีปัญหา เพราะครัวนอกจากมีฟังก์ชันครบ พร้อม พื้นที่จัดเก็บเป็นระเบียบในผนังแล้ว วัสดุท็อปไอส์แลนด์ยังสวยเป็นพิเศษ สามารถใช้ครัวเป็นจุดโชว์ของบ้านได้เลย
การออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากลักษณะที่ดินที่มีความต่างระดับ ทำให้ภายในเปลี่ยนฟังก์ชันอย่างค่อยเป็นค่อยไป บนสเต็ปบันไดที่แยกระหว่างห้องนั่งเล่นไปครัว จากครัวไปห้องทานข้าว ซึ่งค่อย ๆ ไหลลงมาแบบเล่นระดับ โดยไม่ต้องมีผนังก่อทึบกั้น เราก็สามารถแบ่งสัดส่วนการใช้งานที่แตกต่างได้ง่ายๆ ไม่ทำให้บ้านดูแคบหรือรู้สึกอึดอัด
บันไดทำจากไม้ระแนงมีสีเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ในบ้าน การออกแบบบันไดไม่สูงชันเกินไปและมีราวจับ ทำให้การขึ้นสูงปลอดภัย
ห้องนอนของเด็กถูกเน้นด้วยการออกแบบโคมไฟ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากดาวเคราะห์ในกาแล็กซี่ ยิ่งทำให้ห้องน่ารักน่าสนุก เป็นการออกแบบที่นอกจากจะเข้าใจพื้นที่แล้ว ยังใส่ใจทุกรายละเอียดเพื่อให้ตอบโจทย์ความชอบของผู้อยู่อาศัยได้ครบทุกคน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านที่มีพื้นที่ดินไม่เท่ากันหรือเป็นเนินหรือไม่ราบเรียบ ไม่ใช่ข้อจำกัดเสมอไปหากลองหาข้อดีของพื้นที่เจอ เช่น อาจจะปรับพื้นที่ภายในให้เป็นบ้านเล่นระดับ ที่มีลักษณะของพื้นที่ใช้สอยภายในลดหลั่นกัน การเล่นระดับจะช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบ้านที่ค่อนข้างเล็ก เพราะใช้การเหลื่อมของพื้นที่เป็นการแบ่งฟังก์ชันอย่างเป็นสัดส่วน โดยไม่มีพื้นเพดานหรือผนังปิดทึบจึงไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด ระยะทางในการเดินขึ้นแต่ละชั้นก็ไม่ได้สูงมากเท่าบันไดบ้านปกติ นอกจากในเรื่องการใช้งานแล้ว บ้านเล่นระดับยังทำให้บ้านมีลูกเล่น เติมมิติของพื้นที่ใช้งาน ดูน่าสนใจกว่าการวางระดับพื้นในระนาบเดียวกัน นอกจากใช้ประโยชน์ได้ดีแล้วยังสนุกสนานมากขึ้น |
แปลนบ้าน