
บ้านสองชั้นบนเนินลาดชัน
ผู้อ่ายเคยได้ยินสำนวนฝรั่งที่พูดกันว่า “young at heart” ไหมครับ ถ้าจะแปลเป็นไทยง่าย ๆ ก็คงจะประมาณ “สูงวัยหัวใจยังหนุ่ม” ซึ่งก็หมายถึงการปล่อยให้อายุเป็นแค่ตัวเลขที่วิ่งไป แต่ใจยังสดใสร่าเริงมีความทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมในการฟังเพลง การแต่งตัว หรือแม้แต่เรื่องบ้านก็ไม่จำเป็นต้องสร้างบ้านแบบเก่า ๆ ลองมองหามุมมองใหม่ ๆ ในการอยู่อาศัย ให้ทุกวันของชีวิตที่เหลือเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่น่าจดจำ ซึ่งเจ้าของบ้านนี้ก็เช่นเดียวกันครับ
ออกแบบ : Base Urbana, Pessoa Arquitetos
ภาพถ่าย : Pedro Vannucchi
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
โครงการบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในเมืองเซาโฮเซดอสคัมปอส เมืองเซาเปาโล สถาปนิกได้รับโจทย์จากคู่สามีภรรยาสูงอายุ (อายุ 87 และ 79 ปี) ซึ่งไม่ชอบอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ให้ช่วยออกแบบบ้าน ทั้งคู่เป็นศิลปินด้านพลาสติกและนักออกแบบเครื่องบินชื่อดัง และยังเคยอาศัยอยู่ในบ้านที่ออกแบบโดย Oscar Niemeyer ใน Aeronautics Institute of Technology (ITA) พวกเขาจึงอยากอาศัยอยู่ในบ้านที่ดูทันสมัยอีกครั้ง โดยมีพื้นที่ใช้สอยที่ผสมผสานกัน มีแสงสว่างเพียงพอจากกระจกขนาดใหญ่ และมีการระบายอากาศที่ดี
ไซต์สร้างบ้านอยู่บนที่ดินมุมขนาด 156 ตารางวา และมีความลาดชันจากระดับต่ำสุดถึงสูงสุดประมาณ 5 เมตร แต่จุดชมวิวที่ดีที่สุดของพื้นที่คือบริเวณด้านล่างของแปลงที่ดินทางด้านทิศใต้ จึงจัดให้เป็นบริเวณสวนและสนามหญ้า ทั้งนี้เพื่อให้ภายในได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสมในทุกห้อง จึงกำหนดให้มีลานกลางเป็นส่วนหนึ่งของโครงการและจัดระบบโปรแกรมทั้งหมดของบ้านให้เชื่อมต่อลานได้ สำหรับแนวคิดของบ้านจะเลือกใช้รูปทรงกล่องเรียบง่ายเป็นสากล ให้ความเข้มข้นทางรูปแบบที่แตกต่างจากสถาปัตยกรรมหลายชั้นรอบ ๆ อย่างเด่นชัด
ด้วยความลาดชัดของที่ดิน จึงต้องวางตำแหน่งทางเข้าบ้านอยู่บริเวณส่วนบน ผ่านลานกลางบ้าน และเน้นสายตาด้วยแผ่นคอนกรีตที่มีเพดานสูงถึง 2.30 เมตร ซึ่งครอบคลุมโรงรถ ทางเข้าบ้าน และห้องครัว ความแตกต่างของความสูงของเพดานระหว่างแผ่นคอนกรีตนี้กับแผ่นพื้นคอนกรีต ซึ่งครอบคลุมห้องอื่นๆ ของบ้าน ทำให้เกิดความเหลื่อมขึ้นเล็กน้อย สถาปนิกจึงใช้พื้นที่นี้ทำช่องเปิดแนวนอนติดเพดาน ให้แสงสว่างและการระบายอากาศที่ดีแก่ห้อง
พื้นที่ใช้ชีวิตส่วนรวมหลัก ๆ ทั้งห้องนั่งเล่น ครัว ห้องทานข้าว ถูกยกมารวมกันไว้ที่ชั้นนี้ ผ่านแปลนแบบ open plan ที่ทำให้บ้านดูกว้างสะดวกในการสัญจรและใช้งาน ในบางส่วนของบ้านจะใช้ตัวเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวช่วยกำหนดขอบเขต เช่น โซฟา โต๊ะทานอาหาร แต่บางฟังก์ชันจะถูกกำหนดตำแหน่งอย่างตายตัวด้วยการก่อด้วยคอนกรีตเปลือยเป็นจุด ๆ อาทิ ตู้เก็บของ เคาน์เตอร์ครัว เป็นต้น
ในส่วนของวัสดุที่เลือกใช้สำหรับการก่อสร้างบ้านนี้ เจ้าของต้องการให้องค์ประกอบต่างๆ สวย ทนทาน แต่ประหยัด โดยใช้แนวทางง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น เสาคอนกรีตเปลือยที่ช่วยพยุงปริมาตรของห้อง ผนังปูนเปลือยที่ใช้ในการจัดวางองค์ประกอบภายในบ้าน ได้แก่ เสา พื้น แผ่นพื้น และเฟอร์นิเจอร์คอนกรีต นอกจากนี้ก็มีผนังก่อคอนกรีตบล็อก บางส่วนฉาบทับ บางส่วนไม่ฉาบทับ และผนังบล็อกช่องลม หลังจากสร้างโครงสร้างแล้วบ้านก็ดูเกือบจะเสร็จทั้งหลัง เหลือการตกแต่งอีกเพียงเล็กน้อย
เพื่อให้การออกแบบเสร็จสมบูรณ์ สถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้สั่งทำพิเศษ กรอบประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมสีเทาเข้ม และกระเบื้องพื้นดินเผาสีส้มอมแดง ซึ่งใช้ในทุกห้องของบ้าน ตัดกับความดิบเรียบของคอนกรีตและบล็อก
เนื่องจากอายุของผู้อยู่อาศัย บ้านชั้นล่างจึงมีความสำคัญในวันที่ขึ้นบันไดไม่ไหว ดังนั้นฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับใช้ชีวิตประจำวันก็ถูกจัดให้มีอยู่ในชั้นนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น โต๊ะทานอาหาร ห้องซักรีด ห้องน้ำ และห้องนอนสามห้อง รวมถึงสตูดิโอทำงานด้วย รอบๆ พื้นที่นี้ล้อมด้วยประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อเฉลียงลงไปยังสนามหญ้า ซึ่งใช้ประโยชน์จากความลาดเอียงตามธรรมชาติของแปลงที่ดินอย่างเต็มที่
เมื่อขับรถผ่านบ้านในช่วงกลางวัน ก็จะเห็นตัวบ้านที่มีสถาปัตยกรรมเด่นชัดกว่าบ้านหลังอื่นๆ ทั้งแผงกระจกขนาดใหญ่ให้ความโปร่งใสตามที่ต้องการ และสวนสนามหญ้าขนาดใหญ่ที่ไม่มีผนังเปิดโล่งสู่ถนน เน้นย้ำถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของผู้อยู่อาศัยที่แบ่งปันทัศนียภาพสวยๆ ให้กับชุมชน แต่ในช่วงค่ำยิ่งให้บรรยากาศที่สะดุดตา จากแสงไฟที่ส่องผ่านกระจกใสเหมือนโคมไฟดวงใหญ่ที่ต้องมองแล้วมองอีก
แปลนบ้าน