
บ้านฟาซาดอิฐช่องลม
สาระสำคัญของการสร้างบ้าน คือ การกำหนดรูปแบบความเป็นอยู่อาศัยตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เพื่อทำความเข้าใจว่าต้องทำอะไรทุกวัน ลักษณะของพื้นที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ นอกจากนั้นก็ต้องคำนึงถึงทิศทางแสง ลม สภาพอากาศ เพื่อให้บ้านตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากที่สุด จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการดีไซน์หน้าตาบ้านและการเลือกวัสดุ ที่ขึ้นอยู่กับงบประมาณ คุณสมบัติ และความชอบส่วนตัว สำหรับบางคนอาจชอบวัสดุใหม่ ๆ แต่กับบางคนอาจยังหลงใหลในความคลาสสิคของวัสดุเก่า ๆ อย่าง “อิฐ” แล้วนำมาตีความใส่ฟังก์ชันหรือรูปแบบที่น่าสนใจและดึงดูดให้ผู้พบเห็นต้องรู้สึกสนใจในความสวยงาม
ออกแบบ : Activo Estudio
ภาพถ่าย : Daniel Ojeda
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
หลังจากกำหนดเงื่อนไขหลักของบ้าน เช่น ประสิทธิภาพเชิงพื้นที่ การปรับตัวให้เข้ากับไซต์ และการประยุกต์ใช้วัสดุที่มีต้นทุนต่ำให้สอดรับสภาพอากาศ Casa Juantana จึงเลือก “อิฐ” เป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้าน เพราะราคาถูกและปรับใช้งานได้หลากหลาย จุดเด่นของบ้านภายนอกอยู่ที่ผนังที่ด้วยตกแต่งด้วยอิฐในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพื่อสร้างมิติของผนังบ้านให้ดูสวยงามเท่านั้น แต่แพทเทิร์นการวางอิฐยังสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของการใช้แสงธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในตัวบ้านด้วย
การก่อสร้างบ้านใช้เทคนิคดั้งเดิมเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและผนังอิฐ ผสมผสานเทคนิคทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลที่สอดคล้องกับระบบควบคุมสภาพอากาศเช่น การใช้พื้นคอนกรีตเพื่อปรับปรุงความเฉื่อยทางความร้อน ผนังใช้ระบบสองชั้น มีฟาซาดด้าหนน้าเป็นผนังอิฐช่องลมที่เกิดจากการเรียงอิฐสลับทึบและโปร่ง ในองศาที่เอียงเบี่ยงทิศทางแสง ช่วยปกป้องห้องจากแสงแดดที่มากเกินไป แต่ยังเปิดพื้นที่ให้บ้านรับแสงและลมได้ โดยมีผนังบ้านหลักอยู่ด้านในอีกชั้น
แบ่งพื้นที่โครงการออกเป็น 2 ระดับ คือ ชั้นล่างที่จัดพื้นที่ทางสังคมและส่วนบริการ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร แกลลอรี่ ห้องอ่านหนังสือ รวมทั้งห้องครัว ห้องซักรีด ห้องน้ำ และห้องเก็บของ ชั้นบนมี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ข้างล่างเน้นพื้นที่โปร่งโล่งและใช้งานได้หลากหลาย สร้างความต่อเนื่องของช่องเปิดที่ทำให้บ้านดูเป็นอิสระ รอบ ๆ พื้นที่ใช้สอยเต็มไปด้วยถูกอาบด้วยแสงธรรมชาติสามารถรับลมและภูมิทัศน์ภายนอกได้เต็มที่
เกือบสุดปลายอาคารมีบันไดนำไปสู่ชั้นสอง ที่ทำจากไม้มาประกอบเข้าด้วยกันแบบไม่มีลูกตั้ง ทำให้บันไดดูเปลือยเห็นโครงสร้างคล้ายกระดูกสันหลังลอยตัว ที่ผสานระดับต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยความตั้งใจ หลังคาเหนือบันไดใส่สกายไลท์เป็นช่องทางรับแสงสว่างจากด้านบน เพิ่มความปลอดภัยในการเดินขึ้นลง และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านช่องกลางวัน ในขณะที่มีช่องทางระบายความร้อนจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบนแล้วไหลออกจากตัวบ้าน โซนบันไดจึงความอบอุ่นเชิงพื้นที่และเป็นช่องทางระบายอากาศไปพร้อมกัน
ผนังฟาซาดอิฐช่องลม ที่มีความโปร่งโล่งทำให้ลมธรรมชาติสามารถผ่านเข้ามาภายในตัวอาคารได้ ช่วยในการระบายอากาศภายในอาคารให้ไม่ร้อนอบอ้าว ในขณะที่มีส่วนทึบก็มีจุดโปร่ง ๆ รับแสงเข้าสู่ภายในอาคารตามลวดลายอิฐ ทำให้อาคารไม่ขาดแสง บ้านดูมีชีวิตชีวาจากแสงเงาที่กระทบอย่างแตกต่างในแต่ละช่วงเวลาระหว่างวัน ในยามค่ำเมื่อเปิดไฟส่องสว่างก็สร้างอัตลักษณ์ในอีกอารมณ์ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องฝุ่นหรือควันที่จะเข้ามารบกวนภายในบ้าน เพราะยังมีผนังชั้นในเป็นบานกระจกใสที่เปิดหรือปิดได้ตามสถานการณ์
บ้านนี้มีลีลาการเรียงอิฐหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นอิฐเรียงโชว์แนว อิฐตันเรียงนูนมี Texture อิฐมีรูพรุนเรียงเฉียงๆ อิฐเรียงเว้นช่องธรรมดา ซึ่งแต่ละรูปแบบให้ความสวยต่างกัน และกำหนดฟังก์ชันที่ต่างกันด้วย
พื้นที่อื่น ๆ ในบ้านบ้านได้รับการออกแบบโดยพยายามปรับเปลี่ยนพื้นดินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรักษาพืชพันธุ์ที่มีอยู่และปรับปรุงให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ต้นไม้จึงมีปฏิสัมพันธ์กับบ้านทั้งในฐานะส่วนขยายจากตัวบ้านที่ทำหน้าที่ปกคลุมให้ร่มเงา และยังเป็นตัวช่วยควบคุมสภาพอากาศด้วย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : “Ventilation Block Facade” คือ การออกแบบฟาซาดหรือเปลือกบ้านที่มีช่องทางระบายอากาศให้กับอาคาร จึงไม่เหมือนผนังก่ออิฐฉาบปิดทึบเหมือนที่เราคุ้นเคยกันในบ้านทั่วไป ฟาซาดแบบนี้เริ่มนิยมใช้กันมากขึ้น เพราะช่วยควบคุมอุณหภูมิ เป็นปราการปกป้องผนังชั้นในจากแสง และยังปล่อยให้อากาศภายนอกไหลเข้าตัวบ้านผ่านช่องว่างเล็ก ๆ ทำให้บ้านเย็น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่พรางสายตาผู้คนที่ผ่านไปมาด้วย วัสดุที่ใช้ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น ในบ้านร้อนชื้น วัสดุจะต้องไม่สะสมความร้อน สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ดี และระบายความร้อนได้ดี ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีส่วนต่อการตัดสินใจอาจเป็น ด้านงบประมาณและความยากง่ายในการก่อสร้าง เป็นต้น |
แปลนบ้าน