
บ้านหน้าแคบลึก
ถ้าต้องนั่งในรถบัสที่เป็นหมือนกล่องสี่เหลี่ยมแล้วต้องอยู่ชิดติดกันกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ คงรู้สึกอึดอัดแน่ ๆ บ้านตึกหรือทาวน์เฮาส์ที่ต้องสร้างติดๆ กันก็คงไม่ต่างกัน ในเวียดนามก็มีบ้านรูปทรงแคบแบบเดียวกันตั้งชิดติดกันไปหมด บ้านประเภทนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดช่องทางระบายอกาศและแสงสว่าง เนื่องจากผนังด้านข้างต้องใช้ร่วมกับบ้านหลังอื่น ๆ ซึ่งข้อจำกัดนี้เป็นหนึ่งความท้าทายที่สถาปนิกต้องก้าวข้าม เพื่อให้ภายในเต็มไปด้วยสภาวะสบายแม้จะถูกขนาบข้างเหมือนฝาแฝดอิน-จันก็ตาม
ออกแบบ : Limdim Housevn
ภาพถ่าย : Quang Dam
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านหน้าแคบที่รับมือกับร้อนและชื้น
บ้าน Jalousie สร้างในซอยแออัดบนพื้นที่หน้ากว้างเพียง 7 x 14 เมตรในเมืองเว้ เขตเมืองของประเทศเวียดนาม ข้อจำกัดของอาคารนี้นอกจากจะมีหน้าแคบ ผนังติดกับบ้านหลังอื่น ๆ ทั้งสองด้านแล้ว ตัวตึกยังหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งรับแสงแดดได้มากในเวลากลางวัน นอกจากนั้นเมืองเว้ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในเวียดนาม มาครบทั้งแดดทั้งฝนถ้าไม่มีช่องแสงช่องลมที่เพียงพอ ภายในบ้านต้องร้อนและชื้นอย่างไม่ต้องสงสัย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เมื่ออยู่ในสภาพอากาศและบริบทเช่นนี้ วิธีแก้โจทย์ของสถาปนิกจึงเริ่มต้นที่การทำส่วนหน้าของอาคารให้เป็นเลเยอร์ คือเหลื่อมกันไปเล็กน้อย เพื่อทำให้เกิดช่องว่างใส่ช่องแสงและช่องลมระบายอากาศและกันน้ำด้านข้างได้ เหมือนกับวิธีที่ช่างไม้ทำประตูบานเกล็ด จากแนวคิดดังกล่าวทีมงานใช้โครงร่างอีก 2 แบบ แบบหนึ่งคือใส่บานเกล็ดกระจกและฟาซาดเป็นไม้แบบพับได้ที่ด้านหน้า เพื่อให้ทำหน้าที่กั้นกรองแสงที่เกินจำเป็นพร้อมกับรับลม และอีกแบบคือระบบผนังบล็อกช่องลมเต็มผืนที่ด้านหลัง
ใส่ช่องว่างให้บ้านหายใจในทุกทาง
ภาพแผนผังอาคารจะเห็นว่าด้านหน้าค่อนข้างปิด เพราะต้องการเพิ่มความเป็นส่วนตัวและกรองแสง แต่ลมและแสงยังสามารถเข้าสู่อาคารได้อย่างเต็มที่จากด้านหลัง และยังมีช่องเปิดในอาคารที่ทำให้ภายในระบายอากาศได้เต็มที่ จากประตูเข้ามาจะเป็นโถงสูงมีบันไดให้ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปยังส่วนออฟฟิศ ระหว่างนี้จะมีช่องแสงทั้งแนวนอนแนวตั้ง จึงทำให้อาคารไม่มีความรู้สึกมืดหรือทึบเลย
ผนังที่ออกแบบเป็นประตูพับได้ที่ด้านหน้าปิดกั้นแสงแดดและช่วยให้บ้านรับมือกับฝนตกในฤดูหนาวได้ดี แต่ยังช่วยให้อากาศเข้าและออกได้อย่างราบรื่น ไม่เพียงเท่านั้นรอยพับเหล่านี้มีส่วนช่วยให้รูปทรงของอาคารมีความพิเศษโดดเด่นในขณะที่ยังดูเรียบๆ
เจาะเพดานเชื่อมทางรับแสง
ระหว่างชั้นไม่ได้ปิดเพดานทึบทั้งหมดเหมือนที่เราคุ้นเคยในบ้านสองชั้นขึ้นไป แต่ทีมงานเลือกเจาะพื้นออกส่วนหนึ่ง สร้างช่องว่างเชื่อมต่อในแนวตั้งขนาดใหญ่ วิธีนี้จะทำให้ร้อนในอาคารลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดีอากาศใหม่ไหลเข้ามาแทนที่ได้ง่าย ช่วงว่างแนวตั้งนี้ถูกแบ่งทำเป็นชั้นลอยให้คนที่อยู่ต่างชั้นสามารถสื่อสารกันได้ใกล้ชิดขึ้น เมื่อมารวมเข้ากับช่องแสง skylight ที่จัดไว้ในตำแหน่งที่ตรงกันแล้ว ทำให้บ้านได้รับแสงสว่างตรง ๆ จากด้านบน หมดปัญหาเรื่องช่องทางรับแสงจากด้านข้างไปในทันที
ผนังช่องลมและสวนเพิ่มความสดชื่น
Breeze Block หรือผนังช่องลมด้านหลัง ทำให้บ้านเต็มไปด้วยรูพรุน ช่วยให้อากาศใหม่ ๆ ภายนอกและแสงสว่างไหลเข้ามาในบ้าน แต่ยังป้องกันผลกระทบจากความร้อนในฤดูร้อนและฝนที่ทำให้อากาศเย็นจัดในฤดูหนาว ระบบนี้รวมกับ skylight และประตูกระจกที่ด้านหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าการกระจายของแสงแดดจะเพียงพอในช่วงกลางวัน แต่ไม่ต้องกลัวฝนสาดเพราะใช้วิธีการเรียงอิฐเฉียงเหลื่อมกัน เป็นองศาที่บังฝนให้กันไปด้วยในตัว
ไหน ๆ ก็มีช่องทางรับแสงรับลมสวย ๆ แล้ว สถาปนิกก็ใช้ประโยชน์จากสกายไลท์และระบบระบายอากาศที่ส่วนหลังเพิ่มเติม ด้วยการทำโครงเหล็กสีขาวให้ออกมานั่งห้อยขาเล่นนอกห้องนอน แขวนต้นไม้ทำสวนในบ้าน สร้างเลเยอร์สีเขียวให้กับบ้าน สวนนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องปรับอากาศตามธรรมชาติ ทำให้อากาศเย็นและสะอาดขึ้นก่อนเข้าไปในบ้านรวมทั้งลดความร้อนที่เกิดจากรังสีดวงอาทิตย์ได้พร้อม ๆ กัน
ในห้องนอนขนาดกะทัดรัดที่ต้องการสร้างห้องน้ำไว้ในตัว การก่อผนังอิฐฉาบปูนปิดทึบ ยิ่งทำให้ภายในดูอึดอัด เมื่อเปลี่ยนมาเป็นผนังกระจกสร้างขอบเขตระหว่างห้องน้ำกับห้องนอน จะช่วยเบลอพื้นที่ทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ความใสของกระจกพรางตาให้ดูเหมือนห้องกว้างขึ้น และยังได้รับความสดชื่นจากสวนที่จัดเอาไว้ในห้องน้ำได้ชัดเจนด้วย
อาบน้ำผ่อนคลายในห้องกระจก
สุขใจกับการอาบน้ำท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่จัดสรรไว้ภายในห้องน้ำ และช่องแสง Skylight ที่รับความสว่างจากด้านบน ทำให้รู้สึกเหมือนอาบน้ำกลางแจ้ง แอบเซ็กซี่เล็ก ๆ กับผนังกระจกที่คนในห้องนอนมองเห็นได้ แต่ถ้ารู้สึกเขินก็เลื่อนผ้าม่านปิดเอาไว้ ส่วนผนังด้านหลังระดับเหนือศีรษะจะเป็นบล็อกช่องลม รับอากาศภายนอกให้เข้ามาช่วยลดความชื้นภายใน
บรรยากาศภายนอกบ้านที่จัดแสงไฟอย่างสวยงาม ยิ่งทำให้เห็นเส้นสายของอาคาร และจังหวะของการใส่ช่องเปิดชัดเจนขึ้น แต่ละชั้นของบ้านเต็มไปด้วยสวน ที่ให้มุมมองสีเขียวในทุกมุมมองไม่ว่าจะเป็นทางเข้า เมื่อเปิดจากห้องนอน ในห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งบนหลังคาดาดฟ้า ทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกผ่อนคลายและดื่มด่ำกับธรรมชาติได้ทุกมิติ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ปัญหาการขาดแสงและช่องทางระบายอากาศในอาคารที่มีผนังติด ๆ กันมีให้เห็นในทุกที่ ในโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ หรือการรีโนเวทอาคารเก่า มักจะแก้ไขปัญหาด้วยการทำผนังติดกับบ้านข้าง ๆ เป็นเหมือนกำแพง แล้วเลือกขยับตัวอาคารเข้ามาด้านในอีกนิดให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ เพื่อให้สามารถใส่ช่องแสงหรือประตูกระจกขนาดใหญ่ที่ผนังบ้านด้านข้างได้ ผนังส่วนหน้าและหลังอาจเป็นเปลี่ยนเป็นบานประตูหน้าต่างที่เปิดออกได้กว้าง หรือฟาซาดที่มีรูพรุนให้รับลมได้มากขึ้น ภายในอาคารรื้อเพดานที่ปิดกั้นระหว่างชั้นออกเพิ่มช่องการให้อากาศเคลื่อนที่ พร้อมกับติดช่องแสง skylight ดึงแสงธรรมชาติเข้ามาจากด้านบนก็ช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน |
แปลนบ้าน