
บ้านคอนกรีตโมเดิร์นสไตล์ญี่ปุ่น
เมื่อมองมาที่ ‘Iyashi House’ แวบแรก จะรู้สึกได้ถึงความนิ่ง เรียบ สงบ ชวนให้ผู้มาเยือนหลับตาแล้วละทิ้งสิ่งรบกวนจิตใจลืมโลกดิจิทัลชั่วครู่ เพราะถูกมนต์สะกดจากโทนสีของบ้านและภูมิทัศน์โดยรอบ ในขณะเดียวกันความละเอียดอ่อนทางสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกลักษณะของบ้านก็ชวนให้ประทับใจ แม้อาคารจะส่งเสียงไม่ได้แต่เรากลับรับรู้ได้ถึงเสียงแห่งความเงียบที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่บ้านที่เสริมด้วยธรรมชาติพริ้วไหว เป็นอีกหนึ่งแบบบ้านโมเดริ์นที่ปรากฎตัวอย่างโดดเด่นในบริบทที่ห่างไกลจากเมือง
ออกแบบ : Pranala Associates
ภาพถ่าย : Mario Wibowo
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านคอนกรีตโชว์ตัวตนที่เรียบ นิ่ง สงบ
บ้านขนาด 462 ตร.ม. ตั้งอยู่ในชานเมืองริมทะเลสาบอันเงียบสงบของบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย มีชื่อมาจากคำในภาษาญี่ปุ่น “Iyashi” มีความหมายถึง การบำบัด ฟื้นฟู หรือความรู้สึกสงบ ‘Iyashi House’ มี 3 ห้องนอน เป็นบ้านที่ตั้งใจเอาไว้อยู่หลังเกษียณและเป็นสถานที่รวมตัวกันของครอบครัวและเพื่อนฝูง บ้านหลังนี้จึงได้รับการออกแบบให้เป็นเต็มไปด้วยบรรยากาศของการหยุดเพื่อพัก ท่ามกลางความเงียบแสงธรรมชาติและทิวทัศน์ที่งดงาม
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ต้นหญ้าหน้าบ้าน ใช้อ่อนสยบแข็ง
เมื่อมองจากข้างหน้าจะสัมผัสถึงความหนักแน่นของคอนกรีตที่โอบล้อมบ้านเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงความอ่อนนุ่มจากยอดหญ้า Alang Alang ที่ถูกสายลมอ่อน ๆ พัดให้เอนพริ้วลดทอนความกระด้างของคอนกรีตได้เป็นอย่างดี ถัดจากรั้วเป็นทางเดินเข้าหลักนำไปสู่ลานภายในปูด้วยแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปและประดับด้วยต้นไม้ที่เขียวชอุ่มตลอดปี ตัวสถาปัตยกรรมมีการวางแนวที่คมชัดของคอนกรีตหล่อในที่ที่โชว์เส้นกริดไลน์และรูน็อตแบบไม่ปกปิด เห็นเนื้อแท้ของวัสดุที่ประกอบเป็นบ้านทั้ง รั้ว ผนัง เพดาน และหลังคา
หลังคาทรงจั่วสไตล์ญี่ปุ่นที่โดดเด่นได้รับการขยับเข้าด้านในจากผนังคอนกรีตเล็กน้อย และเสริมด้วยโครงสร้างเหล็กยื่นออกมาที่ช่วยทำให้บ้านมีลักษณะ “กึ่งลอยตัว” ภายในประกอบด้วยอาคารสองหลังที่หันหน้าไปทางทิศใต้เชื่อมต่อกันผ่านที่ว่างและวิ่งขนานกันและหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำดับพื้นที่โดยรวมได้รับการปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศของท้องถิ่น จึงเลือกใช้วัสดุที่ดูแลง่ายลดความยุ่งยากในการบำรุงรักษา และศึกษาทิศทางแสงลมเพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศที่สิ้นเปลืองค่าไฟ
2 อาคารที่เปิดกว้างให้ใช้งานแบบสบาย
อาคารด้านซ้ายเป็นบ้านสองชั้น มีห้องนั่งเล่นส่วนตัว ห้องนอนสำหรับแขก 2 ห้องพร้อมห้องน้ำรวมที่ชั้นล่าง และห้องนอนใหญ่มีห้องน้ำในตัวและระเบียงกว้าง ๆ ที่ชั้นสอง อาคารด้านขวาเป็นบ้านชั้นเดียวมีห้องครัวแบบเปิดพื้นที่เชื่อมต่อกับส่วนรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่นกว้างขวางที่ลื่นไหลต่อเนื่องออกไปสู่ระเบียงกลางแจ้งและสนามหญ้า
การตกแต่งภายในยังคงเน้นความเรียบง่ายแบบโมเดิร์นมินิมอลกับโทนสีกลาง ๆ ของเฟอร์นิเจอร์สีเทา ไม้ และคอนกรีตที่ไม่แต่งแต้มใด ๆ สถาปนิกยังจับแก่นแท้ของบ้านที่สะท้อนจิตวิญญาณดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นที่มนุษย์กับธรรมชาติผูกพันกันเหนียวแน่น แล้วนำมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านสมัยใหม่อย่างแนบเนียน เห็นได้จากฝ้าเพดานหลังคาห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารที่ทำจากแผงหวายทอมือ
เฉลียงที่ปูไม้ Ulin Wood ที่สวยงามและเป็นไม้หายากในอินโดนีเซีย มีหลังคาคลุมส่วนยื่นที่ยื่นออกมายาวสี่เมตรจึงไม่ต้องกังวลเรื่องแดดและฝน ส่วนนี้ยังเป็นกรอบทิวทัศน์ริมทะเลสาบและสร้างเอฟเฟกต์ของช่องทางที่จะดึงภูมิทัศน์เข้ามาในบ้าน รอบ ๆ บ้านและบันไดปูด้วยหินแอนดีไซต์ซึ่งช่วยซับน้ำฝนไม่ให้กระเด็นถูกผนัง นี่เป็นเพียงตัวอย่างขององค์ประกอบวัสดุที่หลากหลายของโครงการซึ่งได้รับการคัดเลือกมาอย่างดี และกำหนดให้เข้ากับยุคสมัยอย่างสง่างาม พร้อมสอดรับกับสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดูได้เป็นอย่างดี
สถาปนิกพยายามจัดการทำงานร่วมกันที่ทันสมัยระหว่างมิติในร่มและกลางแจ้งเข้ากับการใช้ชีวิตในเขตร้อนของชาวอินโดนีเซีย จากรายละเอียดการออกแบบและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในที่อยู่อาศัยนี้ เราจะเห็นการเปิดเชื่อมต่อพื้นที่ภายในภายนอกผ่านประตูการจกบานสไลด์ขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในส่วนห้องนั่งเล่นหรือแม้กระทั่งห้องนอน คงกล่าวได้ว่าระเบียง เฉลียง และชาน เป็นตัวชูโรงทางสถาปัตยกรรมก็ไม่ผิดนัก
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บันดุง อินโดนีเซีย อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 768 เมตร โดยปกติจึงมีสภาพอากาศเย็นกว่าเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย เมืองนี้อยู่ในเขตแม่น้ำ รายล้อมด้วยภูเขาไฟ มีลักษณะทางภูมิประเทศที่มีระบบป้องกันตัวโดยธรรมชาติเป็นอย่างดี แต่ก็มีความร้อนและชื้นคล้าย ๆ ประเทศไทย การทำบ้านหลังคาจั่วจะเป็นตัวช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นและระบายออกจากบ้านได้ดี ประกอบกับการทำช่องเปิดด้านข้างให้รับลมและรับแสงธรรมชาติได้ ทำให้บ้านตอบโจทย์อากาศร้อนชื้นได้ดี |
แปลนบ้าน