เมนู

ไม่อยากให้ไม้แตก ต้องเลือกใช้”สกรูแบบไหน”

“สกรูแบบไหน” เจาะไม้ไม่แตก

สกรูเจาะไม้

งานซ่อมแซมบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์ไม้เล็ก ๆ บางครั้งก็ลงมือทำเองได้ไม่ต้องจ้างช่าง แต่ถ้าจำเป็นต้องไปเลือกซื้อสกรูมาใช้ หลายท่านอาจจะยืนงง เพราะสกรูมีมากมายหลายแบบ ไม่เหมือนตะปูที่ต่างกันแค่ขนาดและความยาว ส่วนสกรูมีทั้งหัวกลม หัวแบน แบบเกลียวทั้งตัว แบบเกลียวเฉพาะช่วงล่าง จนตัดสินใจเลือกไม่ถูกว่าจะใช้สกรูตัวไหนดี ใครกำลังประสบปัญหานี้อยู่ เนื้อหานี้เรามีวิธีการเลือกใช้สกรูให้ถูกประเภทมาฝากกันครับ

ที่มา|ภาพThe handymans daughter
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

เชื่อว่าหลายคนจะมีประสบการณ์เดียวกันคือ เมื่อไปห้างค้าส่งวัสดุก่อสร้างใหญ่ๆ แล้วเห็นสกรู น็อต ที่วางอยู่ในกล่องหลายๆ ชั้นขนาดมหึมา ทำเอาสับสนว่าแต่ละอย่างไม่เหมือนกันยังไง จะใช้กับงานไม้ต้องใช้รูปแบบไหนถึงจะเหมาะ เผลอ ๆ อาจจะหยิบสำหรับงานเหล็กไปเสียอีก ซึ่งถามว่าใช้ได้ไหม ก็ใช้ได้นะครับ แต่ก็อาจจะเจาะเข้าเนื้อไม้แล้วปริแตกได้ หรือยึดได้ไม่ดีเท่าที่ควร เราลองมาค่อยๆ ทำความรู้จักกับสกรูให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กันครับ

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

กายวิภาคของสกรูเจาะไม้

สกรูจะมีหน้าที่คล้ายตะปู แต่จะอาศัยแรงหมุนเพื่อให้เกลียวเคลื่อนที่เข้าไปเจาะทะลุเข้าไปในเนื้อวัตถุให้ยึดติดกันได้ ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องการเลือกใช้สกรูสำหรับเจาะไม้ เราต้องพูดถึงส่วนต่างๆ ของสกรูเสียก่อน เพราะนี่จะเป็นขั้นตอนแรกช่วยลดความลึกลับมากมายในการเลือกใช้สกรูได้ถูกต้อง โดยองค์ประกอบของสกรูจะมีหลัก คือ ส่วนหัว แกน เกลียว และปลายสกรู ซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน และในสกรูสำหรับงานไม้จะมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนชนิดอื่น ๆ

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

ส่วนหัวสกรู เป็นจุดที่สว่านบิดสกรูเข้ากับไม้ มีสองประเภทหลัก

1. สกรูเกลียวปล่อยหัวกลมนูน (Pan Head Tapping Screw) หัวสกรูเป็นรูปทรงวงกลมนูนแบบหัวแฉก (+) จะเหมาะกับงานโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องเจาะผายให้หัวจมลงไปในพื้นผิวงาน

2. สกรูหัวแบน (Flat head screws) สกรูเหล่านี้มีด้านบนแบนและด้านล่างเป็นรูปกรวย เวลาขันสกรูจะช่วยให้หัวจมลงในไม้และราบไปกับพื้นผิว ทำให้งานดูเรียบร้อย

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

สกรูเกลียวปล่อยหัวกลมนูน ลักษณะปลายคล้ายหัวสว่าน (Self Drilling Screw) ซึ่งจะใช้งานเจาะไม้ยึดเข้ากับเหล็ก เพราะปลายสว่านจะสามารถไขเข้าไปในเนื้อเหล็กได้ง่าย โดยไม่ต้องเจาะนำปลาย สกรูเกลียวปล่อยปลายสว่านยังมีแบบที่มีปีก 2 ข้าง ช่วยลดการแตกหักของเนื้อวัสดุไม้ได้ดี หัวสกรูที่นูนออกมาจะปล่อยไว้แบบนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการ service ภายหลังก็ได้ แต่ก็จะทำให้มีส่วนนูนออกมาไม่เรียบไปกับพื้นผิววัสดุ เหมาะกับจุดที่ไม่ได้วางของหรือต้องโป๊วเก็บหัวสกรูให้เรียบร้อย


ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

สกรูหัวแบน (Flat head screws)

ความต่างของแกน เกลียว และปลายสกรูเจาะไม้

สกรูที่ใช้สำหรับงานไม้ จะมีลักษณะเกลียวเหมือนสว่าน (tapping screw) ซึ่งช่างมักจะเรียกว่าสกรูเกลียวปล่อย เนื่องจากสกรูแบบนี้สามารถเจาะรูขันเข้าเนื้องานได้ด้วยตัวของมันเองได้เลย ไม่ต้องใช้น็อตตัวเมียมาช่วยยึด และเมื่อยิงสกรูหรือขันสกรูแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่นิยมไขสกรูตัวนั้นออกมาอีก

สกรูสำหรับงานไม้

ทั้งนี้สกรูเกลียวปล่อยทั่วไป จะใช้งานแบบอเนกประสงค์เจาะยึดได้กับหลายวัสดุ แต่สกรูเกลียวปล่อยสำหรับงานไม้โดยเฉพาะ จะไม่มีเกลียวตลอดแกน สังเกตว่าช่วงแกนที่ต่อจากหัวจะเรียบเป็นแกนเปล่า และจะเริ่มมีเกลียวช่วงกลางถึงปลาย ซึ่งส่วนที่ไม่มีเกลียวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้การยึดต่อกันระหว่างไม้สองแผ่นแข็งแรงขึ้นนั่นเอง

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

เกลียวสกรู จะมีทั้งร่องเกลียวหยาบและเกลียวละเอียด โดยเกลียวหยาบจะห่างใช้กับงานไม้ทั่วไป เกลียวละเอียดเหมาะใช้กับไม้ที่เนื้อเปราะ หรือการเจาะบริเวณปลายไม้ มุมไม้ ที่เสี่ยงต่อการแตกหักง่าย ส่วนปลายและเกลียวจะค่อนข้างคมกว่าสกรูเกลียวปล่อยทั่วไป บางรุ่นมีการตัดบากที่สุดปลายเกลียว ช่วยให้การเจาะแม่นยำมากขึ้น สกรูมุดลงเนื้อไม้ได้เร็ว และยึดไม้สองชิ้นเข้าด้วยกันอย่างแนบสนิท ลดการคลายตัวออกจากกันได้ดีเมื่อมีแรงมากระทบ

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

ประเภทและวิธีเลือกสกรูสำหรับงานไม้

ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่าสกรูแบบ Hybrid ที่มีส่วนผสมของคอไร้เกลียว ฐานตรงหัวมีเส้นที่เป็นเดือยคว้าน รวมทั้งเพิ่มเกลียวแนวทะแยงขึ้นมาเพื่อช่วยกระจายแรงบิดจากอุปกรณ์สว่านเวลาขัน และแรงบิดของไม้ที่มีเนื้อแข็ง ทำให้สกรูจมลงเนื้อไม้ได้เร็วขึ้น ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ หัวดาวหรือ Torx มีลักษณะคล้ายดาวหกแฉก ซึ่งจะทนทานต่อแรงบิดสูงและแทบจะไม่กระดอนหลุดจากสว่าน

ลักษณะแฉกบนหัวสกรูที่แตกต่างกัน ก็มีผลต่อการใช้งานที่ยากหรือง่ายเหมือนกันนะครับ แบบที่คุณน่าจะคุ้นเคยมากที่สุดน่าจะเป็นแบบหัวแฉก (Philips head)  ซึ่งมักจะเด้งออกหรือหลุดออกจากหัวสว่านเมื่อแรงบิดเพิ่มขึ้น หรือหัวแฉกเยินง่ายจนขันสกรูต่อไปไม่ได้ สำหรับสกรูหัวเตเปอร์ผ่า จะไม่ค่อยนิยมใช้ในบ้านเรามากนัก เพราะเวลาขันสกรูมักจะเคลื่อนได้ง่าย ส่วนสกรูหัวสี่เหลี่ยม (Square head or Robertson) มักจะใช้ร่วมกับ pocket hole screws เวลาขันสกรูจะง่ายกว่าแบบหัวแฉก เนื่องจากช่องสี่เหลี่ยมจะล็อคหัวดอกสว่านไว้ แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยและง่ายเท่ากับหัวรูปดาว 6 แฉก

เห็นไหมครับว่า สกรูสำหรับเจาะไม้นั้นแอบมีความพิเศษที่คิดมาให้คนทำงานไม้ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เลือกซื้อสกรูให้ถูกชนิดการซ่อมแซมงานไม้ในบ้านก็ไม่ยากอีกต่อไปครับ

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด