
บ้านบนพื้นที่เนิน ยกสูงไม่กระทบหน้าดินเดิม
แม้ว่าบ้านเราจะมีอุทกภัยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีน้ำป่าไหลหลาก แต่ในปี 2567 นี้หนักหนาที่สุด เพราะกระแสน้ำและความสูงของระดับน้ำในหลายพื้นที่ทุบทำลายสถิติอย่างไม่เคยปรากฎ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินแบบคาดไม่ถึง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ต้องหันกลับมามองบ้านดั้งเดิมทางภาคเหนือที่มักจะสร้างแบบยกสูงมีใต้ถุน เพื่อให้ทั้งน้ำและลมไหลผ่านตัวบ้านได้สะดวก นับว่าเป็นภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมที่มาจากการเข้าใจธรรมชาติและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบ้านลักษณะนี้ถูกแทนที่ด้วยบ้านก่ออิฐปิดทึบที่มองว่าทันสมัยและสวยงามกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถทำบ้านมีใต้ถุนแบบที่ไม่เชยได้ เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในญี่ปุ่นที่เรานำมาให้ชมกันครับ
ออกแบบ : Nanometer architecture
ภาพถ่าย : ToLoLo Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
House Off the Ground เป็นโครงการบ้านนี้ที่แตกต่างจากอาคารอื่นในละแวกเดียวกัน เพราะลักษณะเป็นบ้านยกพื้นสูงมีใต้ถุน ซึ่งแนวคิดนี้มีที่มีจากการออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์ข้อจำกัดทางสภาพภูมิประเทศ โดยแต่เดิมบริเวณนี้เป็นทุ่งนาที่หลงเหลืออยู่ในย่านที่อยู่อาศัย และมีพื้นที่ไซต์ตามธรรมชาติไม่ราบเรียบ บ้านที่อยู่รอบๆ จะใช้วิธีปรับหน้าดินให้เท่ากันแล้วถึงสร้างบ้าน หรือสร้างโรงจอดรถกึ่งใต้ดินแล้วสร้างตัวบ้านทับข้างบน อย่างไรก็ตาม การปรับหน้าดินและทำกำแพงกันดินต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องมองหาโซลูชันใหม่ที่ทั้งถูกและดีแทนที่
มองจากภาพ Bird’s eye view อาจจะเห็นไม่ชัดว่าภูมิประเทศของไวต์ไม่ราบเรียบอย่างไร เมื่อลองดูภาพที่ถ่ายจากด้านข้างจะเห็นได้ชัดว่า ไซต์ไม่ได้เพียงไม่ราบเรียบเท่านั้น แต่กลับกันคือเป็นเนินลาดชันเลยทีเดียว โดยมีความสูงขึ้นไป 5 เมตรจากถนนด้านหน้าไปด้านหลัง
ที่มาภาพ: interactiongreen.com
nageiredo อาคารญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ใช้บนหน้าผา ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบที่เรียกว่า Kake zukuri
ส่วนหนึ่งของแนวคิดบ้านนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก kake zukuri ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มักทำบนหน้าผา อีกทั้งทีมงานเลือกที่จะเคารพประวัติศาสตร์ของสถานที่ในฐานะพื้นที่เกษตรกรรม จึงใช้วิธียกบ้านขึ้นวางบนโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากวิธีสร้างบ้านบนทางลาดขึ้นเนินอื่นๆ ที่มักสร้างตัวอาคารวางเป็นขั้นๆ ให้ตรงกับความลาดชันของพื้นที่ แต่สถาปนิกใช้โซลูชันคล้ายการ “แขวน” โดยปล่อยให้ภูมิประเทศเดิมส่วนใหญ่ยังคงอยู่ ทำให้บ้านเหมือนกำลังลอยตัวอยู่เหนือหน้าผา และเกิดพื้นที่ว่างแนวนอนเหนือพื้นดิน เป็นใต้ถุนบ้านที่ใช้รับลมเย็นๆ ลดความชื้นใต้บ้าน และยังใช้เป็นพื้นที่จอดรถใต้อาคาร จัดสวน อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลหากมีน้ำท่วมด้วย
ทางเข้าบ้านจะตั้งอยู่ลึกเข้าไปที่ด้านหลังของอาคาร จึงต้องผ่านพื้นที่สีเขียวไปด้วยตลอดทาง สร้างความสุนทรีย์ในทุกก้าวที่ค่อยๆ เดิน ซึ่งส่วนนี้สถาปนิกอธิบายเพิ่มเติมว่า ” แม้ว่าลูกค้าจะขอไม่ให้มีสวน เนื่องจากมีปัญหาในการบำรุงรักษา แต่การใช้เส้นทางนี้ทุกวันก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการดูแลได้ พื้นที่ใต้เสาสามารถใช้เป็นสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ ได้ ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร”
ในส่วนของแปลนอาคาร เมื่อสถาปนิกลองออกแบบตามโจทย์ให้มาก็พบว่า พื้นที่อาคารชั้นเดียวไม่พอ เพื่อให้พื้นที่ใช้งานครอบคลุมจะต้องเป็นแบบสองชั้น แต่กฎระเบียบสำหรับอาคารเริ่มเข้มงวดมากขึ้น และราคาของวัสดุก่อสร้างก็สูงขึ้น ดังนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้โครงสร้างชั้นเดียวแบบ LDK หรือห้องที่มีพื้นที่การใช้สอยทุกอย่างรวมกันอยู่ในนั้นโดยไม่มีการกั้นห้อง มีการก่อปิดทึบเฉพาะส่วนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูงเป็นหลัก และส่วนของอาคารที่ใส่ความสูงของอาคารเพิ่มขึ้นไปจะอยู่ปลายสุดของบ้านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ในประเทศญี่ปุ่นที่เข้มงวดกับงานสถาปัตยกรรมมาก ๆ ไม่เพียงแต่เรื่องความสูงเท่านั้นที่นักออกแบบต้องแก้ปัญหา ยังมีอัตราการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาควบคุมด้วย ดังนั้นความกว้างของ LDK จึงถูกจำกัดให้แคบลง หากสังเกตดูจะเห็นส่วนนี้อยู่ตรงกลางอาคารที่เว้าเข้ามาข้างใน เหลือเพียงแผนผังชั้นรูปตัว I ที่ติดตั้งหน้าต่างกระจกเป็นแนวยาวทั้งสองด้าน เพื่อขยายแผนผังชั้นและสร้างพื้นที่กว้างขวางขึ้น ในความสูงจากพื้นถึงเพดานที่ 3.8 เมตร
ส่วนที่เรียกว่า LDK ของญี่ปุ่น หรือการทำบ้านแบบ open plan ที่รวมเอาห้องครัว ห้องนั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหารมาอยู่รวมกันเป็นโถงโล่งๆ ทำให้บ้านดูกว้าง ลื่นไหล และยืดหยุ่น สมาชิกในบ้านทุกคนสามารถใช้งานพร้อมกันได้ในหลายๆ กิจกรรมทำให้บ้านเต็มไปด้วยความอบอุ่น
พื้นที่ใช้สอยภายที่เป็นอัตราส่วนครอบคลุม (ตามกฎระเบียบของญี่ปุ่น) ในบ้านหลังนี้ ประกอบด้วยห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องน้ำ ที่จัดเรียงแบบสองชั้นที่ปลายโครงสร้างเพื่อความปลอดภัย และจุดที่แสดงความชาญฉลาดของสถาปนิก อยู่ที่การเพิ่มพื้นที่อาคารไม่ให้เกินกว่าที่กำหนดไว้ และใช้การแบ่งพื้นที่สร้างห้องใต้หลังคาเป็นส่วนของห้องนอน ห้องเก็บของ ซึ่งจะไม่นับเป็นชั้นเพิ่มเติม
แม้ภายในบ้านจะดูเรียบๆ กับวัสดุไม้ คอนกรีตที่ไม่เติมแต่งสีสรรตามแบบฉบับของความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็แอบมีความน่ารักเล็ก ๆ กับการสร้างห้องวางบนเสาไม้ ดูเหมือนบ้านซ้อนอยู่ในบ้านที่ชวนให้รู้สึกแปลกใจ