เมนู

ปรับปรุงบ้านเก่าให้น่าอยู่ ยังคงอบอุ่นด้วยผืนไม้และลายอิฐ

ปรับปรุงบ้านเก่า

รีโนเวทบ้านเก่าอย่างเคารพของเดิม

นอกเหนือจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแล้ว เมืองฮอยอันยังเผชิญกับความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้นในเมืองเก่า จึงเกิดภาวะเสื่อมถอยของอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมในระหว่างกระบวนการกลายเป็นเมือง ทำให้ต้องทบทวนว่าจะหาจุดร่วมตรงกลางระหว่างสิ่งใหม่กับของเก่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร โดยเฉพาะบ้านไม้ในย่านเมืองเก่าที่ได้รับสถานะการอนุรักษ์พิเศษจากคณะกรรมการยูเนสโก ซึ่งพ่อค้าชาวจีนและเวียดนามได้สร้างไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-19 และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การรื้อถอนทั้งหมดจึงไม่สามารถทำได้ และบ้านอิฐผสมไม้หลังนี้ก็เช่นเดียวกัน โครงการนี้จึงเน้นไปที่การปรับปรุงในพื้นที่ใหม่ แต่ยังคงรักษาลักษณะเฉพาะของบ้านไม้ในย่านเมืองเก่าเอาไว้

ออกแบบ : k59 Atelier
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

ก่อนรีโนเวท

Before: บริเวณชั้นล่างส่วนห้องนั่งเล่นเดิมที่ไม่มีบันได ไม่มีความเชื่อมต่อของช่องแสงชั้นบนและล่าง ภายในมีผนังแบ่งกั้นเป็นห้องเล็กห้องน้อย ได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้ดูกว้างและโปร่งสว่างขึ้น

บ้านโถงสูงตกแต่งไม้และอิฐแดง

หลังจากที่ทีมงานทำการสำรวจและประเมินผลโครงสร้างบ้านแล้ว ก็ตั้งใจที่จะนำเสน่ห์เฉพาะตัวของบ้านไม้ในย่านเมืองเก่ากลับคืนมา พร้อมทั้งเพิ่มความทันสมัยให้กับบ้านเหล่านี้ โดยผสมผสานวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์และการออกแบบร่วมสมัยเข้าด้วยกัน งานนี้จึงท้าทายเป็นอย่างมาก ทำให้โครงการนี้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาค่อนข้างนานโดยมีแนวคิดหลักสามประการ ได้แก่ นำวัสดุและโครงสร้างที่มีอยู่มาใช้ใหม่ การจินตนาการใหม่ว่าผู้คนจะสัญจรไปมาอย่างไร และการสร้างแบ่งสัดส่วนพื้นที่ด้วยโครงไม้และผ้า ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพแนวทางการก่อสร้างที่เก่าแก่ของเวียดนาม

โครงสร้างผนังอิฐและเสาเก่าระหว่างรีโนเวท

บ้านโถงสูงตกแต่งไม้และอิฐ

ในบ้านฮอยอันจะมีไลฟ์สไตล์เรียบง่าย พร้อมพื้นที่เปิดโล่งมากมาย เช่น ลานบ้าน พื้นที่ส่วนกลาง ช่วยเชื่อมโยงกิจกรรมของทุกคนภายในบ้าน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่นอนที่มีประตูไม้และผ้าม่านให้เห็นได้ทุกที่ในบ้าน เรื่องราวการออกแบบภายในจึงเริ่มต้นจากการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างภายในและภายนอก ผ่านพื้นที่โล่งและช่องเปิดขนาดใหญ่หลายๆ ด้านรอบบ้าน ทำให้ออกไปใช้งานสวนเต็มไปด้วยชีวิตชีวาได้ง่ายขึ้นหลังการปรับปรุงใหม่

ผนังไม้มีฟังก์ชันม้านั่งที่เก็บของได้

ภายในบ้านยังคงโครงสร้างหลัก ๆ ที่ยังใช้ได้เอาไว้อย่างเรียบร้อยสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นไม้ คอนกรีต หรือผนังอิฐ ซึ่งวัสดุมีบทบาทสำคัญในการเน้นย้ำบรรยากาศแบบดั้งเดิมอันเงียบสงบ แต่ในส่วนที่เป็นต้องรื้อหรือเพิ่มขึ้นมาก็มีเช่นกัน อาทิ การรื้อผนังเดิมบางจุดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างห้องต่างๆ ที่ลื่นไหล และการจัดสัดส่วนใหม่ของฟังก์ชันใช้งานส่วนตัว โดยจะใช้ผนังกรุไม้ ประตูทึบ และบานไม้ระแนง ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมองออกไปด้านนอกได้ ในขณะที่ยังคงความเป็นส่วนตัวภายในบ้าน

ก่อนรีโนเวท

ห้องนั่งเล่นและทานข้าวโปร่งโล่งในชั้นล่าง

หากสังเกตภาพก่อนรีโนเวท จะเห็นว่าตำแหน่งบันไดเก่าจะอยู่ด้านหลัง ไม่ใช่ตำแหน่งปัจจุบันที่อยู่ด้านหน้าตรงส่วนนั่งเล่น บันไดเดิมถูกเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่เป็นห้องน้ำและห้องเก็บของ ซึ่งเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างงานฝีมือแบบดั้งเดิมกับความสะดวกสบายแบบสมัยใหม่ วิธีการเปลี่ยนเส้นทางสัญจรสู่ชั้นสองนี้ นอกจากจะทำเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของบ้านเปลี่ยนไปแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อบ้านในแนวตั้งเพิ่มขึ้นด้วย

ครัวตกแต่งไม้และอิฐดูอบอุ่น

ซุ้มประตูไม้

รูปแบบการแบ่งห้องนั่งเล่นและห้องนอนชั้นล่าง ใช้ประตูและผ้าม่านเป็นที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมบ้านของครอบครัวในเวียดนาม พื้นบ้านปูด้วยหินขัดที่ดูแลง่าย ให้ความรู้สึกย้อนยุคเล็ก ๆ ไปถึงช่วงหนึ่งที่บ้านคนจีนนิยมทำพื้นหินขัด ส่วนห้องน้ำจะกระเบื้องดินเผาสีส้มอมแดง ทำให้บรรยากาศของบ้านเต็มไปด้วยความอบอุ่นของความทรงจำเดิม ๆ ที่ยังคงกรุ่นอยู่ในทุกตารางเมตรของบ้านที่ตกแต่งใหม่ทั้งหมดนี้

ชั้นสองก่อนปรับปรุง

บ้านประตูบานไม้

จากจุดมุ่งหมายที่ทีมสถาปนิกมุ่งหวังจะให้บ้านคงคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในย่านเมืองเก่า โดยยังคงปรับให้เข้ากับบ้านที่มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ภายในจึงใส่โซลูชันที่บ้านเดิมไม่มีเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นประตูที่เปิดเชื่อมต่อสวน บานไม้ระแนงช่วยกรองแสงและพรางสายตา และยังมีพื้นเพดานชั้นที่ 2 ที่เคยเทเต็มพื้นที่จะถูกเจาะออก เพื่อสร้างห้องโถงสูงที่ผสมผสานกับบันไดไม้ ใส่การเชื่อมต่อระหว่างสองชั้นให้มีปฏิสัมพันธ์กัน พร้อมช่วยให้แสง-ลมเดินทางไหลเวียนภายในได้ดีขึ้นด้วย

บ้านมีที่ว่างโถงสูงมองเชื่อมต่อระหว่างชั้นได้

ก่อนรีโนเวท

ห้องนอนหลังคาเฉียงสูงหน้าต่างไม้บานใหญ่

ห้องส่วนตัวที่ชั้นสองทั้งหมดมีระเบียงและพื้นที่เปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะเปิดออกสู่พื้นที่ส่วนกลางเพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยหลายชั้น ผนังได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะกับสถานที่ใหม่โดยไม่ต้องทาสีหรือฉาบปูนเพิ่มเติม มีเพียงพื้นที่ปูด้วยกระเบื้องดินเผาที่มาจากฝีมือคนท้องถิ่น

ห้องนอนตกแต่งอิฐและไม้มีชั้นลอย

ผลงานจากการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่เดิม ไม่ลืมคุณค่าของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ผนวกกับการออกแบบและก่อสร้างใหม่ๆ ทำให้มั่นใจได้ว่ามรดกอันน่าทึ่งของสถาปัตยกรรมเวียดนาม จะถูกหล่อหลอมพร้อมส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างยั่งยืน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ตกแต่งบ้าน


โพสต์ล่าสุด