
ออกแบบบ้านสามชั้น
ความว่าง บางครั้งก็ดีเช่นกัน ลองนึกภาพว่างานศิลปะที่เต็มไปด้วยความเกี่ยวพัน ไม่เว้นช่องให้ได้พักสายตา บ้านที่มีแต่ห้องและห้อง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่อัดแน่น มองไปทางไหนก็รู้สึกเหมือนอึดอัดหายใจไม่ออก ดังนั้น การใส่พื้นที่ว่างเข้าไปในงาน บ้าน และชีวิตบ้างก็จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้นนะครับ เหมือนตัวอย่างของบ้านหลังนี้ในประเทศอินเดียที่ผสมผสานกับธีมที่ทันสมัย ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ การใช้พื้นที่ เพิ่มความต่อเนื่องและความกว้างใหญ่ในบ้านที่มีถึง 3 ชั้น แต่กลับไม่รู้สึกถึงความทึบ ขาดแสง ขาดลม หรือถูกตัดขาดระหว่างชั้น
ออกแบบ : Amruta Daulatabadkar Architects adaa
ภาพถ่าย : PHX India
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Govardhan Villa เป็นบ้าน 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 353.4 ตารางเมตร ด้วยความจำกัดของขนาดที่ดินที่ไม่สมดุลกับจำนวนสมาชิกในบ้าน ทำให้ต้องเพิ่มพื้นที่ขึ้นไปในแนวตั้ง ปกติถ้าเป็นบ้านตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปเราจะคุ้นเคยกับการเทพื้นเพดานปิดแยกเป็นชั้นๆ มีเพียงโถงบันไดเชื่อมต่อทางสัญจร แต่บ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบมาให้มีประสบการณ์ของพื้นที่อยู่อาศัยที่ดูกว้างใหญ่ เปิดโล่ง เชื่อมต่อถึงกัน และมีพื้นที่ที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ เป็นทำงานบนหลักการของความเรียบง่าย แต่วางแผนการใช้งานภายในให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
การวางแปลนภายในดำเนินการโดยแบ่งแกนของบ้านแกนสองแกน คือ แกนตะวันออก-ตะวันตกจากทางเข้าหลักไป โดยมีบันไดทำหน้าที่เป็นจุดหมุนเวียนกลาง ในขณะที่แกนเหนือ-ใต้จะเปิดออกกว้างช่วยให้มองเห็นภาพภายในและนอกที่พัก เหนือห้องนั่งเล่นชั้นล่างสุดจะเจาะเป็นโถงสูงเชื่อมต่อพื้นที่แนวตั้งขึ้นมาบนชั้นสองที่เป็นชั้นลอย บันไดที่มีคอร์ทอยู่ติดกันช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อภายในกับธรรมชาติภายนอก ในขณะที่เป็นสื่อกลางในการเคลื่อนย้ายข้ามระดับของบ้าน
การจัดตำแหน่งฟัง์ชันต่างๆ ในบ้าน จะเป็นการประยุกต์ใช้หลักการ Vaastu (ระบบการวางแผนทางสถาปัตยกรรมแบบฮินดู) โดยจัดให้ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องนอนใหญ่อยู่ในทิศทางตะวันออกเฉียงใต้, เหนือ และ ตะวันตกเฉียงใต้ ตามลำดับ ขณะที่ห้องอาหารวางอยู่ที่แกนกลางเป็นพื้นที่สูงสองเท่า อำนวยความสะดวกในการรับแสงตลอดจนการเชื่อมต่อภาพและเสียงจากต่างชั้น ความสูงสองเท่าในที่อยู่อาศัยแบบ Double Space ใจกลางบ้านช่วยเสริมการเชื่อมต่อของพื้นที่ด้วยอากาศ แสง และภูมิทัศน์
ช่องว่างที่เชื่อมต่อกันอย่างแนบเนียนทั้งภายใน และส่วนที่ยื่นออกไปนอกกำแพงและกลายเป็นหนึ่งเดียวกับภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นโดยรอบ ประสบการณ์ของความต่อเนื่องและความกว้างใหญ่ Skylights, ฉากระแนง และการเล่นกับมิติของแสง การเพิ่มช่องทางไหลเวียนของอากาศ วิธีการปฏิสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่ระหว่างชั้นเดียวกัน และชั้นบนกับชั้นล่าง ทำให้สถาปัตยกรรมนี้นำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ที่สมาชิกในบ้านได้ทั้งความสนุกสนานและประโยชน์ในการใช้งานจริง
ความเรียบง่ายผสมผสานกับธีมที่ทันสมัย กลายเป็นแนวคิดของการออกแบบภายใน โดยนำการใช้สีวัสดุน้อยที่สุดและมีความเป็นธรรมชาติช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ เราจะเห็นการเลือกใช้คอนกรีตดิบ ๆ สลับด้วยงานไม้ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่ผนังชั้นล่างถึงเพดานชั้นสอง ในขณะที่บางส่วนก็ตกแต่งกระเบื้องเคลือบ แผ่นหินที่ตกแต่งจากคอร์ทภายในไปยังส่วนหน้าด้านนอก องค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ เช่น หัวเตียงไม้แกะสลักแบบสั่งทำในห้องนอนใหญ่ก็เป็นความพยายามสร้างความต่อเนื่องของอารมณ์และบรรยากาศให้สอดคล้องกับภายนอกเช่นกัน
ด้วยแบบแปลนที่ตัวอาคารใช้พื้นที่เกือบทั้งหมดที่สร้างได้ ทำให้บริเวณรอบบ้านไม่มีพื้นที่สีเขียว เราจะเห็นการจัดคอร์ทยาร์ดวางต้นไม้เพิ่มความสดชื่นเป็นจุด ๆ และสร้างขอบเขตเล็กๆ ของภูมิทัศน์ภายนอกชานหรือระเบียง จัดเป็นสวนไผ่ สวนน้ำให้เย็นฉ่ำชื่นใจ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในบ้านตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ตามปกิแล้ว เราจะเห็นว่าการแบ่งระหว่างชั้นจะใช้วิธีเทพื้นหรือวางพื้นสำเร็จรูปปิดทั้งชั้น มีช่องว่างเพียงโถงบันไดเท่านั้น ด้วยการก่อสร้างแบบนี้จะทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นทำได้ยาก การเดินทางของแสง และระบบการไหลเวียนอากาศในอาคารจากชั้นล่างลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบนได้ยากขึ้น บ้านใหม่ๆ จึงเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการสละพื้นที่ส่วนหนึ่งเจาะเป็นโถงสูงขึ้นไป ทำให้แสงกระจายไปยังพื้นที่รอบช่องว่างได้ดีขึ้น การหมุนเวียนและระบายอากาส รวมถึงการติดต่อมองเห็นระหว่างชั้นก็ดีตามไปด้วย
|
แปลนบ้าน