
บ้านหน้าแคบลึก
การก่อสร้างที่มีความหนาแน่นสูง การขาดแสงธรรมชาติ พื้นที่อับ และการขาดการเชื่อมต่อกับบริบทแวดล้อม เป็นลักษณะทั่วไปของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเวียดนามใหม่ๆ ด้วยข้อจำกัดของที่ดินปัจจุบันที่ถูกตัดแบ่งซอยย่อย ๆ แบบหน้าแคบลึก เพื่อให้ได้จำนวนแปลงเยอะที่สุด แน่นอนว่าจำนวนไม่น้อยไม่มีสถาปนิกเป็นที่ปรึกษา ข้อจำกัดต่างๆ จึงไม่ถูกแก้ไขให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิต แต่กับบ้านหลังนี้โชคดีที่มีทีมงานออกแบบเข้ามาดูแล ซึ่งเจ้าของและสถาปนิกมีความเห็นร่วมกันว่าบางอย่างที่เป็นรากเหง้าของเวียดนามก็ยังคงไว้ แต่บางจุดก็จำเป็นต้องเปลี่ยนให้คุณภาพชีวิตในอาคารดีขึ้น
ออกแบบ : Hinz Studio
ภาพถ่าย : Quang Tran
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านหน้ากว้าง 6 เมตร ลึก 20 เมตรหลังนี้ สร้างอยู่ในเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เจ้าของเป็นคู่แต่งงานที่ถึงวัยเกษียณ ผู้ชื่นชอบความสงบและใกล้ชิดธรรมชาติ แต่เมื่อหันมามองที่ดินที่ติด ๆ กันกับแปลงข้างๆ แล้วไม่มีพื้นที่สำหรับทำสวนเหลือ สถาปนิกจึงใช้วิธีแก้ปัญหาคือนำพื้นที่สาธารณะของบ้านไปไว้ด้านหน้า เพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในครอบครัว และให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในทุกมุมของพื้นที่ใช้งาน หลังคาที่เฉียงต่ำลงมาด้านหน้าเห็นกระเบื้องดินเผาลายเกล็ดปลา ชวนให้นึกถึงชนบทของเวียดนามท่ามกลางบริบทใหม่ๆ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
จากลานจอดรถกว้างๆ หน้าบ้านจะมีพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับจัดสวนให้บ้านได้มีพื้นที่สีเขียวเติมความสดชื่น ลานนี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนกันชนระหว่างบ้านกับชุมชนให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ระหว่างลานกับตัวบ้านถูกคั่นด้วยประตูกระจกบานเลื่อน ที่ทำหน้าที่เบลอขอบเขตให้ภายในภายนอกกลายเป็นเหมือนพื้นที่เดียวกัน พร้อม ๆ กับรับแสงจากด้านหน้าได้แบบไม่ต้องกลัวร้อน เพราะชายคาที่ยื่นยาวไหลลู่ลงด้านหน้าทำหน้าที่ปกป้องบ้านจากแดดและฝนไปด้วยในตัว
เมื่อเข้าสู่ภายในบ้านจะเห็นว่าพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางถูกจัดวางด้านหน้า ให้สมาชิกในครอบครัวได้มีส่วนร่วมกับสวนหน้าบ้านได้ง่าน ส่วนวัสดุหลัก ๆ คือ งานไม้ คอนกรีต และอิฐที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่น นำมาตกแต่งบ้านในแพทเทิร์นต่างๆ ทั้งเรียงแแบบโชว์แนว เรียงแบบเส้นช่องลม หรือแบบสานขัดแตะบนผนังสีขาว เมื่อเงยหน้าขึ้นไปจะเห็นหลังคาเฉียง ๆ สูงขึ้นไปหลายเมตร รูปทรงของหลังคาและวัสดุต่างๆ บ่งบอกถึงภาพลักษณ์ของบ้านเรือนในชนบทของเวียดนาม และนี่คือแรงบันดาลใจหลักของการออกกแบบบ้านนี้
เพดานที่ค่อย ๆ เฉียงสูงขึ้นไป ทำให้รู้สึกถึงสเปซโล่งกว้างที่ทำให้บ้านดูมีมิติ ความสูงรับกับช่องแสง skylight ที่วางเป็นจังหวะ ประกอบกับโถงประตูโล่งๆ ผนังช่องลมที่อนุญาตให้แสงผ่าน ทำให้จากทุกที่ในบ้าน แม้แต่ในห้องนอน เราจะสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของแสง อากาศ และลมได้ตลอดทั้งวัน บ้านจึงเต็มไปด้วยสภาวะสบายตอบโจทย์บ้านเขตร้อนชื้นได้อย่างดี
บ้านมีทางเข้าสองทาง คือ จากห้องครัวด้านข้างและห้องนั่งเล่นด้านหน้า สำรับคุณแม่บ้านหากจอดรถแล้วก็สามารถหิ้วอาหารที่ซื้อมาแวะเข้าด้านข้างก่อนได้สะดวกดี ในส่วนห้องครัวใช้ผนังอิฐแบบชนบทตรงข้ามกับเครื่องใช้ที่ทันสมัย โทนไม้สีน้ำตาลเข้มเพิ่มความเชื่อมโยงกับเฟอร์นิเจอร์
ถัดจากห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว จะเห็นโถงลึกเข้าไปเป็นทางยาวมีห้องนอน ห้องน้ำ จัดเรียงอยู่จนสุดอาคาร โดยปกติความยาวของอาคารเท่านี้แถมยังมีชั้น 2 มักจะไม่มีช่องแสงด้านข้าง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของบ้านหน้าแคบลึ แต่ที่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสถาปนิกออกแบบให้มีสกายไลท์เป็นระยะที่ด้านหน้า ด้านหลัง และเหนือโถงสูงสองชั้นโล่งๆ ตรงกลางของบ้าน เพื่อให้บ้านเต็มไปด้วยแสงสว่างลงมาจากด้านบนแทน และยังช่วยสร้างความลึกให้กับตัวบ้าน
ที่ว่างในแนวตั้งทำหน้าที่เอื้อให้อาากศร้อยลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงและระบายออกจากตัวอาคารได้ดี ทำหน้าที่กระจายแสงจาก skylight ลงสู่พื้นที่ใช้งานภยในแล้ว ยังช่วยเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นไม่ให้ขาดหาย สมาชิกในบ้านจึงผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในบ้านพื้นที่หน้าแคบและลึกยาว สถาปนิกในเวียดนามมักจะมีเอกลักษณ์ในการออกแบบ โดยแบ่งออกเป็นหลายบล็อกที่มีความสูงแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการทำซ้ำในพื้นที่ที่ลึกยาวมาก ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าบ้านดูน่าเบื่อ หลาย ๆ จุดของบ้านตกแต่งด้วยเส้นโค้ง เพื่อให้ความรู้สึกอ่อนพริ้วตัดกับความแข็งกระด้างของอาคาร ให้บ้านดูมีมิติมากกว่าการใช้เส้นตรงกับบ้านทั้งหลัง ในชั้นล่างมักจะจัดบ้านแบบ open plan เรียงฟังก์ชันสาธารณะให้ต่อเนื่อง บ้านจึงดูโปร่งโล่งไม่ทึบอับ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ แบ่งอาคารออกเป็นสองส่วน (ครึ่งหน้าและครึ่งหลัง) แล้วใส่สวนคั่นตรงกลาง วิธีนี้ก็ทำให้บ้านรับแสง รับลมได้ และไม่ทำให้บ้านดูยาวเกินไป |
แปลนบ้าน