
บ้านแฝดหลังคาจั่ว
ใครที่มีพี่น้องที่สนิทสนมกลมเกลียวกันมาก ๆ และฝันอยากจะมีพื้นที่บ้านอยู่บริเวณใกล้ ๆ กันเมื่อเติบโตขึ้น ต้องลองเข้ามาดูไอเดียบ้านแฝดที่ปลูกหน้าตาเหมือนกัน 2 หลังนี้ในเยอรมันที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2012 และได้รับรางวัลประเภทที่อยู่อาศัยในปี 2014 แน่นอนว่าถ้าได้รับรางวัลขนาดนี้นี้บ้านหลังคาทรงจั่วแหลมสูงหน้าตาธรรมดาต้องแอบมีความพิเศษซ่อนอยู่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ การจัดรระบบระบายอากาศ ระบบพลังงานในบ้าน ไปจนถึงการแบ่งสรรพื้นที่ที่มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวในบ้านแต่ละหลังและพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันกลางแจ้ง ทำให้บ้านนี้กลายเป็นจุดศูนย์รวมของคนในครอบครัวที่สุดยอดมาก ๆ ค่ะ
ออกแบบ : Christian Stolz
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านทรงน่ารัก 2 หลัง ขนาด 132 ตารางเมตร (ไม่รวมชานบ้าน) นี้สร้างขึ้นที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน ที่ดินตรงนี้มีข้อจำกัดคือพื้นที่แคบลึก ถนนหลักอยู่ทางด้านใต้ของพื้นที่ ทิศเหนือเป็นสวนแอปเปิ้ล เป้าหมายของเจ้าของบ้านคือทำอย่างไรก็ได้ให้ห้องนั่งเล่นทางด้านใต้ได้รับแสงและไม่บดบังทัศนียภาพของสวนแอปเปิ้ล ปฏิบัติการสร้างบ้านเป็น 2 อาคารหันหน้าเข้าหากันเชื่อมด้วยทางเดินที่ทำเป็นกล่องตรงกลางจึงเริ่มขึ้น โดยทีมสถาปนิก Christian Stolz ออกแบบตัวบ้านให้ปิดทึบด้วยไม้เหมาะกับสภาพอากาศของเยอรมันที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยหน้าร้อน 20-23.5 ° C และฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ย -0.3 ถึง 1.0 ° C มีหิมะตกปีละ 1 -2 ครั้ง ดังนั้นบ้านจึงต้องเก็บความอบอุ่นได้ดี หลังคาจั่วสูงช่วยให้หิมะไม่เกาะติดบนหลังคา และเลือกเปิดมุมมองบ้านบางส่วนให้สามารถมองเห็นสนามหญ้าและสวนแอปเปิ้ลได้
เปลือกบ้านจากไม้สีธรรมชาติสไตล์ Contemporary แต่ภายในเป็นการตกแต่งแบบโมเดิร์นที่ลงตัวทั้งดีไซน์การใช้สอยและการตกแต่ง หลังคาสีเทาเข้มช่วยดูดซับความร้อนจากพระอาทิตย์ได้ดี (ต่างจากบ้านเราที่ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้สะท้อนแสงลดร้อน) สถาปนิกคิดมาอย่างดีเรื่องการจัดการระบบทำความร้อนในบ้านในฤดูหนาวโดยติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ที่หลังคา และมีระบบการจัดทำท่อความร้อนใต้อาคารโดยการใส่โครงสร้างเหล็กเซลลูล่าร์บีม (Cellular Beam) หรือคานรับน้ำหนักแบบมีช่องเปิดกลม ๆ ตลอดชิ้นงานเพื่อให้ง่ายต่องานวางระบบท่อ และติดตั้งปล่องไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่ก็จัดการรับมือกับช่วงหน้าร้อนด้วยการจัดระบบการไหลเวียนอากาศให้ถ่ายเทด้วยการติดตั้งประตูบานใหญ่ที่เปิดรับได้ทั้งแสงและลม
ตัวบ้านตีไม้ทับด้านนอกในแนวตั้งทั่วทั้งบ้านซึ่งทำให้บ้านมีความเป็นส่วนตัวจากสายตาคนภายนอก มีลูกเล่นเล็ก ๆ ด้วยการโชว์ลายเส้นแนวแถวของไม้และสกรูที่ใช้ยึดทำให้บ้านเรียบ ๆ มีรายละเอียดเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ แม้จะดูทึบจากด้านนอก แต่ด้านในสถาปนิกเลือกใส่ประตูกระจกในบริเวณที่หันหน้าเข้าหากัน และเจาะช่องแสงในบางระยะของตัวบ้านเพื่อรับแสงจากธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านและช่วยให้บ้านไม่ทึบจนเกินไป
ระหว่างบ้าน 2 หลังทำห้องทรงกล่องคั่นกลาง ตัดสีจืด ๆ ของบ้านที่ขนาบ 2 ข้างด้วยการทาสีดำ บริเวณนี้ยังเพิ่มความพิเศษด้วยการต่อชานด้วยไม้ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร เชื่อมจากตัวบ้านออกมาสู่สนามหญ้าให้กลายเป็นพื้นที่กลางแจ้งที่สมาชิกทั้งสองบ้านจะมารวมตัวนั่งกินลมชมบรรยากาศธรรมชาติรอบสวนสบาย ๆ
บ้านที่ต่อเชื่อมจากกล่องสีดำตรงส่วนกลาง เป็นโซนครัวที่มีพื้นที่กว้างขวางตกแต่งง่าย ๆ ดูสบายตาและอบอุ่นด้วยชั้นและเคาท์เตอร์ครัวจากไม้สน และปูพื้นปาร์เก้ไม้โอ๊ค ห้องครัวได้รับแสงต่อเนื่องมาจากประตูกระจกและช่องแสงด้านบนทำให้ครัวดูสะอาด สว่าง และไม่เก็บความชื้น
บันไดขึ้นชั้นใต้หลังคาสไตล์โมเดิร์นปิดลูกตั้งและลูกนอนด้วยไม้ ไม่มีราวกันตก มีเพียงราวจับเป็นไม้สำหรับพยุงตัวขึ้นเป็นไม้กลึงกลมท่อนเดียวรองรับด้วยเหล็กดูเรียบง่ายแต่เก๋
อยากมีพื้นที่นั่งชิลล์หรือจัดเป็นมุมโรแมนติกยามเย็นแบบเป็นส่วนตัวก็ต่อเชื่อมทำเป็นชานเล็ก ๆ ในพื้นที่บ้านฝั่งของตัวเองได้ เป็นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ชีวิตได้ครบถ้วนหลากสไตล์
แปลนบ้าน