
บ้านอิฐโชว์แนว
ถ้าพูดถึงความกะทัดรัดของบ้าน เราคงนึกภาพต่างกันไปตามความคิดและประสบการณ์ สำหรับบ้านสองชั้นขนาด 106 ตารางเมตร ในประเทศอินเดียหลังนี้ ถ้าเทียบกับสเกลของบ้านที่ใหญ่โต (มาก) ก็ถูกจัดว่าเป็นบ้านแบบกะทัดรัด ไม่กว้างเกินไปและไม่ได้มีหน้าแคบเหมือนบ้านในเวียดนาม ภายในพื้นที่นี้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด พร้อมทั้งใส่ความกลมกลืน ความเรียบง่าย และความสงบ โดยมีวัสดุง่ายๆ อย่างอิฐโชว์แนวเป็นลักษณะเฉพาะที่ออกแบบโดย Studio4A
ออกแบบ : Studio4a
ภาพถ่าย : Arjun Krishna
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านขนาด 1,150 ตารางฟุต (ประมาณ 106 ตารางเมตร) หลังนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนในเขตชานเมืองเบงกาลูรู รัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย เป็นที่พักพิงอันแสนสบายสำหรับครอบครัวคุณพ่อคุณแม่และลูกสาวของพวกเขา โครงการที่อยู่อาศัยสองชั้นนี้ตั้งอยู่ติดกับทุ่งอ้อยสีเขียวชอุ่ม เจ้าของบ้านยินดีที่จะใส่การทดลองใหม่ๆ ที่ไม่เคยคุ้นลงไป อย่างเช่น การแบ่งสัดส่วนด้วยการสร้างพื้นที่หลายระดับชั้น พื้นที่ส่วนกลางและห้องนั่งเล่นแยกกัน ในขณะที่ชั้นบนเป็นห้องนอนหลัก เป็นต้น
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
Studio4A เน้นการใช้วัสดุในการก่อสร้างแบบดั้งเดิมและหาได้ง่ายในท้องถิ่น อาทิ อิฐ คอนกรีต ไม้ มานำเสนอในรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ การใช้อิฐและคอนกรีตทำให้การออกแบบดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยขยายความรู้สึกถึงความต่อเนื่องทางสายตาและความเรียบง่ายอีกด้วย เสริมด้วยไม้ กระจก ด้านหน้าจะเห็นว่ามีส่วนยื่นเล็กน้อยที่ชั้นบน ช่วยเพิ่มความลึกและมิติให้กับสถาปัตยกรรม ส่วนนี้ทำหน้าที่คลุมโรงจอดรถและรองรับพื้นที่แยกชั้นพร้อมพื้นที่ใช้สอยด้านบน
จากประตูหลักเปิดเข้าไปในโถงทางเข้า เป็นโรงรถและลานคอนกรีตที่ทำให้เกิดการหยุดพักอย่างตั้งใจ ก่อนที่พื้นที่ภายในจะค่อยๆ ถูกเปิดเผย เสาคอนกรีตสีเทาดิบๆ ที่ดูทันสมัยในโถงทางเข้าช่วยเพิ่มความเป็นธรรมชาติให้กับการตกแต่งตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ตัวบ้าน
แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภายในบ้าน จะคำนึงถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตประจำวัน และความจำเป็นด้านพื้นที่ของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก ทำให้นักออกแบบบริเวณใช้งานส่วนกลางอยู่รวมกัน มีห้องครัวแบบเปิดโล่งและพื้นที่รับประทานอาหารเป็นหัวใจสำคัญของบ้าน และเป็นจุดพักผ่อนของครอบครัว ห้องครัวนี้ยังเปิดโล่งสู่ลานสวนที่จัดสวนไว้ด้านหลังบ้านได้ด้วย
ด้านหนึ่งของชั้นนี้เป็นห้องนอนเรียบๆ ดูผ่อนคลายด้วยสีขาวและเทาเป็นหลัก ภายในมีเตียงเหล็ก โต๊ะทำงานวางอยู่ข้างเตียงเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่จำกัดให้มากที่สุด ตู้เสื้อผ้าและตู้เก็บของแบบบิวท์อินที่ออกแบบเอง ได้รับการปรับแต่งโดยคำนึงถึงแนวทางการใช้รูปทรงเรขาคณิตทั่วทั้งบ้าน ด้านข้างเป็นระเบียงที่จัดสวนส่วนตัวไว้ด้วย ส่วนนี้จะใช้ผ้าม่านแทนผนังหรือประตูช่วยแบ่งพื้นที่ให้มีความโปร่งสบาย
จากห้องครัวและทานข้าวจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปผ่านบันไดที่ไม่สูงมาก เพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่แบบเล่นระดับสำหรับแวะพักเป็นมุมนั่งเล่นที่เป็นส่วนตัวขึ้น ก่อนที่จะไปโซนห้องนอนสองห้องชั้นบน โดยโถงบันไดคอนกรีตนี้จะมีช่องแสง skylight บนหลังคา เพื่อรับแสงจากด้านบนให้ส่องลงมา เป็นการเพิ่มแสงธรรมชาติในตัวบ้าน เพิ่มความสว่าง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และให้ความปลอดภัยเมื่อเดินขึ้นลงบันได
ห้องนั่งเล่นมีรูปแบบการออกแบบที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ของบ้าน มีผนังก่อโชว์แนวอิฐตัดด้วยความเรียบของคอนกรีตสีเทา และสีสันน้ำเงินเข้มของโซฟาหน้าต่างบานสูงจากพื้นจรดเพดานช่วยให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้เต็มที่ ชุดหน้าต่างนี้เปิดไปทางทิศใต้ ทำให้มองเห็นทุ่งหญ้าและทุ่งนาที่แสนสดชื่นได้เต็มที่ ระเบียงอยู่ติดกับห้องนั่งเล่นทำหน้าที่เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง ที่มีเฉดสีม่วงจากดอกควีนเครปไมร์เทิล (Lagerstroemia speciosa) หรือดอกจารุลในภาษาฮินดีเบ่งบานอย่างมีชีวิตชีวา
โทนสีและพื้นผิวที่เข้ากันของคอนกรีต อิฐ และหินโคตาตลอดทั้งหลัง ซึ่งช่วยสร้างความสดชื่นให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันวิธีการเล่นระดับของบ้าน ก็ทำหน้าที่ช่วยแยกสัดส่วนใช้งานออกจากกันอย่างหลวมๆ แบบไม่ต้องมีผนังปิดแบ่งเป็นห้องๆ ทำให้ยังรู้สึกถึงการเชื่อมต่อแม้จะอยู่ต่างระดับกันก็ตาม
ในส่วนของการตกแต่งภายในห้องนอนหลัก ก็ให้ความต่อเนื่องกับวัสดุโทนสีดินและอิฐ เนื่องจากไม่มีหัวเตียงที่กินพื้นที่แนวตั้ง ทำให้ผนังอิฐกลายเป็นจุดเด่นของห้อง แม้แต่ส่วนระเบียงนั่งเล่นข้างนอกก็มีผนังแบบนี้ให้เป็นจุดโฟกัสสายตา ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่สังเกตว่าจะเลือกก่ออิฐโชว์เต็มพื้นที่เพียงด้านเดียวของห้องเท่านั้น เพื่อไม่ให้บานดูอึดอัดเกินไป