
บ้านหลังคาจั่ว
การแก้ปัญหาของแต่ละคน ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ที่ได้พานพบมา แต่การแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น นอกจากประสบการณ์และยังต้องอาศัยสติควบคู่ในการตัดสินใจด้วย เฉกเช่นเดียวกับกับการสร้างบ้าน นอกจากจะอิงกับหลักพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรมแล้ว การพิจารณาถึงบริบทรอบด้านอย่างพินิจถี่ถ้วน ย่อมเป็นการดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย เพราะไม่เพียงแค่สวยงามเท่านั้น ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สอยตัวบ้านได้อย่างลงตัวและเหมาะสมด้วย
ออกแบบ : Tales of Design
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บนที่ดินแคบชานเมือง Parakkad ประเทศอินเดีย ลักษณะแปลงที่ดินทำให้บ้านเหมาะกับการวางให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สถาปนิกตั้งใจในการแก้โจทย์ของพื้นที่จำกัดให้เจ้าของบ้านสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบายและไม่ติดขัด รูปทรงอาคารจึงเน้นไปที่ความปลอดโปร่ง ใช้หลังคาจั่วทรงสูงมาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความร้อนสะสม และเพิ่มความโล่งกว้างให้กับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน
มีการผสมผสานระหว่างเส้นสายทันสมัยให้เข้ากับวัสดุท้องถิ่นที่มีราคาไม่แพง เพื่อประหยัดงบประมาณก่อสร้างไม่ให้บานปลาย อีกทั้งอิฐและไม้ ยังทำให้บ้านมีเสน่ห์ มีความเรียบง่ายได้อย่างน่าสนใจ สีสันของวัสดุเติมเต็มความผ่อนคลายให้แก่อาคารทรงสูงได้เป็นอย่างดี
พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านประมาณ 230 ตารางเมตร ทำการใส่ฟังก์ชันแบบ Double Volume ลงไปตรงกลางของบ้าน เพื่อเพิ่มระดับความสูงโปร่งของโถงหลังคาจากพื้นชั้นล่างจนถึงฝ้าเพดานชั้นสอง มวลอากาศจะได้มีพื้นที่ว่างสร้างสภาวะการอยู่สบายในขณะที่กำลังพักผ่อนร่วมกัน
ไม่เพียงเท่านี้ ยังทำการจัดสวนไว้ภายในบ้านเพื่อสร้างความสดชื่นให้กระจายไปยังทุกตารางเมตรภายในอีกด้วย สีเขียวขจีจากไม้ยืนต้น ไม้ประดับ ไม้คลุมดิน เหมือนกำลังส่งพลังของธรรมชาติออกมา เพื่อเพิ่มพลังชีวิตให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว
ห้องครัวถูกแบ่งแยกเป็นสัดส่วน ได้ความสะดวกในการใช้งาน อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นเรื่องควันที่วิ่นวนไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพราะมีประตูปิดอย่างมิดชิด อีกทั้งยังออกแบบให้มีช่องหน้าต่างสำหรับระบายอากาศได้อีกด้วย
ความเงางามของพื้นช่างเหมาะกับบ้านอินเดีย ผิวที่เปล่งประกายส่องแสงระยิบระยิบในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะที่แสงธรรมชาติได้สาดส่องเข้ามากระทบกับผิวพื้น ยิ่งทำให้วัสดุเรียบ ๆ มีชีวิตชีวา เหมือนกำลังเริงระบำสร้างความสนุกให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ
หากไม่มีสีสันฉูดฉาด อาจไม่รู้สึกถึงความเป็นภารตะ พื้นที่บนชั้นสองของบ้านได้แต่งแต้มสีสันสดใสเอาไว้ในแต่ละห้อง อย่างเช่น ห้องทำงานที่ตั้งใจไว้สำหรับ Work From Home ทาผนังด้านหนึ่งด้วยสีเหลืองอร่าม เข้ากันได้ดีกับสีขาวและสีน้ำตาลของเฟอร์นิเจอร์ไม้ ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขณะทำงานได้มากเลยทีเดียว
ชั้นล่างมีห้องนอน 2 ห้อง ชั้นบนก็มีอีก 2 ห้องเช่นเดียวกัน ทุกห้องทำการตกแต่งอย่างเรียบง่ายแต่มีสีสันสดใส รวมถึงยังมีช่องหน้าต่างไม้ที่เปิดรับลม รับแสงแดดให้สาดส่องเข้ามาไล่ความมืดมิดและอึดอัดภายในห้องได้ สถาปนิกได้มีการใส่ไอเดียเก๋ ๆ เข้าไปในมุมเล็ก ๆ ตรงริมหน้าต่าง พื้นที่เข้ามุมรูปทรงสามเหลี่ยม เนรมิตออกมาให้เป็นที่นั่งชมวิว ทอดสายตาออกไปชมความเคลื่อนไหวภายนอกได้อย่างเพลิดเพลิน
ห้องนอนด้านหน้ามีระเบียงเล็ก ๆ ไว้ให้ออกมานั่งเล่น กั้นด้วยระแนงเส้นแนวตั้ง นอกจากช่วยกันตกแล้ว ยังช่วยพรางสายตาและพรางแสงแดดในช่วงเวลากลางวันอีกด้วย ดีไซน์ให้มีองศาแนวเฉียงเพื่อหลบแดด และเพิ่มความเก๋ให้กับหลังคาจั่วให้ชวนมองมากยิ่งขึ้น
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ฟังก์ชันหนึ่งที่น่าสนใจภายในบ้านสองชั้นหลังนี้ คือ การออกแบบให้มีอ่างล้างมืออยู่ใกล้ ๆ กับโต๊ะรับประทานอาหาร เนื่องจากวัฒนธรรมของอินเดียในบางเมนูยังมีการใช้มือในการทานเป็นหลัก เมื่อมีอ่างล้างมืออยู่ใกล้ ๆ จึงสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ช่วยป้องกันการเลอะเปอะเปื้อนของอาหาร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสุขลักษณะให้มีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรคมากขึ้นด้วย |