เมนู

บ้านโมเดิร์น ออกแบบให้หน้าตาทั้ง 2 ด้านต่างกัน

บ้านโมเดิร์นหลังคาจั่ว

บ้านโมเดิร์น

ร้อนกับเย็น มืดกับสว่าง ขาวกับดำ สิ่งที่ตัดกันสุดขั้วนี้เหมือนจะอยู่ร่วมกันไม่ได้หรือไม่ควรนำมาจับคู่กัน แต่หลาย ๆ ครั้งเราพบว่าการนำความแตกต่างคนละฝั่งมาอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล กลับสร้างความงามเฉพาะตัวที่น่าสนใจ อย่างเช่นบ้านหลังนี้อยู่ใน Mount Pleasant ประเทศออสเตรเลีย พื้นที่บ้าน 245 ตร.ม. ซึ่งสถาปนิกหยิบเอาคู่สีตัดกันสุดขั้วอย่างสีขาวกับดำมาสร้างความโดดเด่นสะดุดตาให้บ้านตั้งแต่ภายนอก พร้อมกับนำเสนอเส้นสายที่เรียบคมสะอาดตา เป็นความเรียบง่ายที่กระชากใจได้ไม่ยาก

ออกแบบRobeson Architects
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นสีขาวดำ

บ้าน 2 ฟอร์มด้านหน้ากับด้านหลังไม่เหมือนกัน

เมื่อพูดถึงการสร้างฟอร์มของบ้านจะเป็นที่น่าแปลกใจมาก เพราะมีสองรูปแบบหน้าตาไม่เหมือนกันในบ้านหลังเดียว หากเรามองจากถนนจะเห็นรูปแบบบ้านสองชั้นดูเป็นเส้นตรง มีองค์ประกอบที่ทันสมัยและเรียบง่าย พร้อมช่องเปิดน้อยที่สุดเพื่อความเป็นส่วนตัว รูปแบบข้างหน้านี้ซ่อนอาคารหลังคาจั่วแหลมสูงที่จัดเป็นพื้นที่นั่งเล่นด้านหลังเอาไว้อย่างแนบเนียน ซึ่งจะมีผนังกระจกที่เปิดโล่งกว้างกว่ารับแสงจากทิศเหนือเข้ามาสู่ภายในบ้าน ในส่วนหลังนี้ไม่ได้ออกแบบอาคารให้มีชั้นบนเหนือพื้นที่ใช้สอย ทำให้บ้านมีเพดานสูงลิ่วซึ่งเป็นไปตามข้อจำกัดความสูงของสภาท้องถิ่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านหลังคาจั่วโมเดิร์น

บ้านหลังคาจั่วโมเดิร์นผนังดำ

บ้านสำหรับครอบครัวที่กำลังเติบโตซึ่งพวกเขามีสมาชิกหลากหลายวัย จึงต้องสร้างบ้านให้สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง อาคารข้างหน้า ภายในประกอบด้วยห้องนอน 4 ห้องห้องน้ำ 2 ห้องพื้นที่นั่งเล่น และรับประทานอาหารกึ่งกลางแจ้งที่กว้างขวาง

หลังคาเมทัลชีทสีเทาดำ

ครัวและมุมทานข้าวโล่ง ๆ กว้างๆ

โปร่ง โล่ง ยืดหยุ่น เชื่อมภายในภายนอก

ขนาดของบ้านมีผลโดยตรงต่อต้นทุน การจัดวางที่ชาญฉลาดและพื้นที่มีความยืดหยุ่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้บ้านดูกว้างและลดต้นทุนได้มาก ส่วนอาคารข้างหลังสถาปนิกจึงวางแนวบล็อกทางเหนือสร้างพื้นที่ใช้สอยแบบเปิดเชื่อมต่อกันแบบไม่มีผนังกั้นที่สะดวกสบายและใช้งานได้สูงสุด จัดให้ห้องครัว ห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่นพักผ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและวิ่งในแนวเหนือ-ใต้ตามความยาวของที่ดิน และสร้างลานโล่งๆ ด้านทิศตะวันออก (ตรงกลางระหว่าง 2 อาคาร) ที่มีประตูกระจกเปิดออกสู่ห้องครัว ดึงให้แสงแดดยามเช้าไหลผ่านเข้ามาสร้างความอุ่นสบาย การแบ่งคอร์ทยาร์ดให้อยู่ตรงกลางและทำห้องรับประทานอาหารกึ่งกลางแจ้งที่มีหลังคา ทำให้บ้านมีพื้นที่สีเขียวทั้งสองด้าน บ้านจึงมีทั้งความโปร่ง สว่าง และเขียวขจีน่าอยู่มาก ๆ

ห้องนั่งเล่นผนังกระจก

บ้านที่น่ารื่นรมย์กับวิวที่สร้างเอง

โจทย์จากลูกค้าคือ การปรับทิศทางการออกแบบให้ตรงกับมุมมองหากมีวิวที่ต้องการ คำว่า “มุมมอง” ในบริบทของเมืองเพิร์ทโดยทั่วไปหมายถึงการมองเห็นเส้นขอบฟ้าของเมือง แม่น้ำ หรือมหาสมุทร ในหลาย ๆ กรณีสถาปนิกเชื่อว่าการเชื่อมบ้านเข้ากับวิวที่อยู่ห่างออกไปใช้งานได้น้อยเกินจริง เพราะปกติเราจะใช้เวลานั่งลงแล้วจ้องไปที่วิวไกล ๆ โน้นหรือเปล่า? หรือบางทีสิ่งที่เราโหยหาจริงๆ คือความรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วได้กลิ่นทะเลหรือรู้สึกถึงลมเย็น ๆ เท่านั้นก็พอใจ สำหรับบ้านหลังนี้เจ้าของเห็นพ้องต้องกันว่าจะลองใช้แนวคิดของบ้านแบบ “กลับหัว” โดยให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยชั้นล่างที่มีการเชื่อมต่อกับภูมิทัศน์ในบ้านอย่างแนบสนิทมากกว่า

ตกแต่งบ้านโทนสีเทาดำ

ผนังและประตูกระจกเชื่อมต่อห้อง

การตกแต่งบ้านเน้นธีมสีขาวและดำเป็นหลักล้อไปกับภายนอก เสริมด้วยของตกแต่งสีอื่น ๆ บ้างเพื่อให้รู้สึกถึงความมีมิติ และมีต้นไม้เข้ามาเป็นองค์ประกอบในทุกจุด ช่องเปิดขนาดใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สถาปนิกให้ความสำคัญ เพราะที่นี่จะมีช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดเหมือนไทย ทำให้ต้องมีประตูเปิดกว้าง ๆ มีหน้าต่างบานเกล็ดขนาดใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดานให้รับลมระบายอากาศได้ดี

หน้าต่างบานเกล็ดจากพื้นถึงเพดาน

ห้องเด็ก

สถาปนิกตั้งคำถามว่าทำไมห้องเด็กไม่สามารถใช้เล่นได้ จะดีไหมถ้าใช้ห้องนอนเด็กให้เป็นมากกว่าแค่นอน สถาปนิกจึงสร้าง “ผนัง” ที่ทำเป็นบานเลื่อน pocket door ซ่อนอยู่ในผนังระหว่างห้องนอนของเด็กๆ  เพื่อให้พวกเขาสามารถเปิดห้องถึงกันได้ กลายเป็นพื้นที่เล่นขนาดใหญ่ เมื่อเด็กโตขึ้นพวกเขาสามารถเลือกที่จะล็อคถาวรเพื่อให้ห้องสองห้องแยกกัน แต่จากการสอบถามการใช้งานที่ผ่านมาเด็ก ๆ ในครอบครัวนี้ไม่ยอมปิดกำแพงเลย เพราะชอบที่พวกเขาจะได้นอนห้องเดียวกันในพื้นที่กว้าง ๆ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ประตูมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีผลกับความรู้สึกของบ้านและการจัดการพื้นที่ อย่างเช่น ประตูบานผลัก บานดึง จะกินพื้นที่ด้านหน้าและหลังประตูไปด้วย แต่ถ้าใช้ประตูบานเลื่อน หรือบานรางแขวนจะช่วยประหยัดพื้นที่หน้า-หลังประตู สามารถนำของตกแต่ง โต๊ะ ตู้ วางเพิ่มได้ ส่วนบาน Pocket Door จะค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา เพราะมีลักษณะเป็นเหมือนบานสไลด์เลื่อนซ่อนบานเก็บไว้ในผนัง ซึ่งจะทำให้บ้านดูเหมือนไม่มีประตูแบ่งกั้นห้อง เป็นอีกหนึ่งแบบประตูที่น่าใช้งานแต่การติดตั้งจะซับซ้อนกว่า

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด