
ปรับปรุงบ้านโบราณต่อเติมบ้านใหม่เข้าด้วยกัน
บ้านบางหลังที่เคยเป็นพื้นที่ความทรงจำอันแสนงดงามของครอบครัว แต่เมื่อสมาชิกเติบโตแยกย้ายกันไปบ้านก็อาจจะถูกทิ้งไว้อย่างน่าเสียดาย เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในเวียดนามเป็นอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 ซึ่งใช้เป็นเพียงสถานที่พบปะสังสรรค์ในช่วงเทศกาลเต๊ด (Tet) หรือเทศกาลอรุณแรกแห่งปี และจัดแสดงไม้ประดับเท่านั้น เนื่องจากไม่มีใครอยู่อาศัยประจำจึงขาดการดูแล บ้านค่อนข้างทรุดโทรม รก มืด และเต็มไปด้วยแมลง หลังจากถูก “ลืม” มานานเกือบ 20ปี เมื่อพ่อส่งต่อเป็นของขวัญถึงลูกชายจึงคิดจะปรับปรุงและต่อเติมพลิกฟื้นให้บ้านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ออกแบบ : Limdim House Studio
ภาพถ่าย : Quang Dam
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านนี้อยู่ในเมืองเว้ บนพื้นที่เกือบ 200 ตารางวา เป็นอาคารยกสูงมีใต้ถุนที่ตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของเวียดนามเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงจิตวิญญาณของวิถีชีวิตอันงดงามของคนสมัยโบราณอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ใครจะมองว่ารูปแบบบ้านล้าสมัยไปแล้ว แต่เจ้าของรุ่นใหม่กลับต้องการประสานคุณค่าดั้งเดิมและสมัยใหม่เข้าด้วยกัน ในการปรับปรุงทีมงานจึงพยายามคงรูปแบบเดิมไว้เกือบทั้งหมด แต่ยังคงความสมดุลของปัจจัยด้านความสะดวกสบายที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย
จากประตูรั้วหน้าบ้านกำแพงศิลาแลงและประตูไม้ขนาดใหญ่ดูอลังการ เปิดเข้ามาจะพบกับทางเดินรถปูหินสี่เหลี่ยมให้อารมณ์ธรรมชาติ ก่อนจะเห็นสนามหญ้าเขียวๆ ตกแต่งโอ่งและไหขนาดต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นภาชนะใส่น้ำดินเผาโบราณที่เจ้าของบ้านสะสมไว้ และอาคารไม้ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า
ทีมออกแบบพิจารณาว่าโครงการปรับปรุงบ้านไม้สองชั้นมีใต้ถุนนี้ถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากบ้านไม้เก่าขนาดใหญ่และครอบครัวเล็กๆ สมัยใหม่ดูเหมือนจะเป็นสองสิ่งที่ตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม ที่ดินมีข้อดีคือมีขนาดกว้างขวาง ดังนั้นสถาปนิกจึงใช้การประนีประนอม เพื่อให้ครอบครัวเล็กสามารถอาศัยอยู่ในบ้านที่มีพื้นไม้ ซึ่งเก็บความทรงจำมากมายได้อย่างสะดวกสบาย โดยต่อเติมอาคารใหม่โดยมีสถาปัตยกรรมคล้ายกับบ้านแบบเก่า เพื่อเน้นสถาปัตยกรรมของบ้านไม้และให้สิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแก่เจ้าของบ้าน
พื้นที่สวนขนาดใหญ่ยังคงรักษาต้นไม้ใหญ่เอาไว้จำนวนมาก พร้อมทั้งออกแบบภูมิทัศน์ด้วยแผ่นหญ้าเพิ่มเติม ล้อมรอบด้วยรั้วหินศิลาแลงสีส้มนูนและเว้า เพื่อสร้างจุดเด่นและตัดกันกับสีเขียวของสวน
โครงสร้างบ้านโดยทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สภาพบ้านเสาสูงในปัจจุบันเป็นระบบเสาและคานไม้ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ทำให้เกิดความรู้สึกโหวงเหวงได้ง่าย สถาปนิกจึงแนะนำให้สร้างกำแพงหินเพิ่มเติม เพื่อช่วยสร้างความโดดเด่น ให้ความรู้สึกถึงปริมาตรและความกลวงของพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบกระจกอลูมิเนียมบานเลื่อนบริเวณส่วนล่างของบ้าน เพื่อเปิดให้อากาศและแสงผ่านเข้ามาเมื่อจำเป็น หรือปิดเมื่อมีพายุฝนหรือสภาพอากาศที่ไม่พึงประสงค์ แต่ยังคงรักษาพื้นที่เปิดโล่งและทัศนวิสัยกว้างเอาไว้ พร้อม
ชั้นล่างของวิลล่าเป็นพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลาง สถานที่ทำกิจกรรมทั่วไปของสมาชิกและเป็นที่รับแขก การตกแต่งที่มีทั้งไม้เก่า แผ่นหิน เหล็ก ประตูอลูมิเนียม กระจก คานไม้เก่า ชุดเฟอร์นิเจอร์โทนสีเอิร์ธโทนที่มีดีไซน์โมเดิร์น รายละเอียดการตกแต่งมีสไตล์ร่วมสมัยสร้างเสน่ห์ให้กับบ้านไม้ทรงสูงของ Chum Villa และยังกลายเป็นหนึ่งจุดตัดระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่มีความชัดเจนมากในพื้นที่อยู่อาศัยส่วนกลางนี้
ปลายสุดของบ้านไม้หลังนี้เป็นพื้นที่อาบน้ำกลางแจ้งที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ห้องน้ำส่วนกลางเพื่อสร้างความรู้สึกสีเขียวและโปร่งสบาย
ส่วนห้องครัว-ห้องทานอาหารจะอยู่ในที่สร้างใหม่ ซึ่งทีมงานต้องออกแบบอย่างพิถีพิถันสไตล์อินโด-จีน กลมกลืนกับบ้านพื้นไม้โดยรวม เพื่อให้เข้ากันได้และการเชื่อมต่อกับบล็อกบ้านไม้เก่า โดยที่ไม่ตัดกันหรือขัดแย้งกัน ทำให้เกิดความารู้สึกเป็นหนึ่งเดียว
สถาปนิกได้จัดห้องนอนให้พ่อแม่เจ้าของบ้านได้พักผ่อนสบายๆ ที่บ้านเล็ก เพราะห้องนอนนี้เข้าถึงง่ายไม่ต้องขึ้นบันได จึงสะดวกเหมาะกับผู้สูงวัย จากห้องนอนยังสามารถมองเห็นวิวสวนได้โดยตรง ทุกครั้งที่ตื่นนอนก็จะได้รับพลังงานอันสดชื่นจากธรรมชาติได้ทันที เหมาะสำหรับการพักผ่อนทุกครั้งที่แวะมาเยี่ยมลูกๆหลานๆ
Before: ภาพบ้านก่อนได้รับการปรับปรุง เป็นบ้านแบบเวียดนามโบราณที่เต็มไปด้วยงานไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง เข้มขรึม แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงความมืดที่ทำให้บรรยากาศค่อนข้างวังเวง
After: บันไดไม้นำไปสู่ชั้น 2 ของวิลล่าในสภาพปัจจุบันยังคงรักษารูปลักษณ์และงานทำมือที่ประณีตไว้ แต่ปรับปรุงดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้นพร้อมติดตั้งดวงไฟให้ความสว่าง
ชั้นบนของบ้าน เป็นพื้นที่ห้องนอนหลักของเจ้าของบ้าน ทีมงานตกแต่งโดยไม่ทำลายสถาปัตยกรรม 3 ห้องแบบดั้งเดิม ด้วยการเก็บระบบไม้ส่วนใหญ่ไว้และจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้เหมาะกับความต้องการใช้งานเท่านั้น ภายในจัดเป็นห้องแบบสตูดิโอ มีห้องนั่งเล่น พื้นที่ทำงาน และเก้าอี้อยู่ริมหน้าต่าง เตียงแบบสี่เสาโบราณมีผ้าม่านคลุม ให้บรรยากาศของยุคสมัยที่คลาสสิค แต่แฝงด้วยฟังก์ชันและของตกแต่งสมัยใหม่ที่จัดวางร่วมกันได้อย่างแนบเนียน พื้นบ้านและเพดานที่รื้อทำใหม่ ช่องหน้าต่างและไฟส่องว่างที่มากขึ้น ทำให้ลดความรู้สึกน่ากลัวของบ้านเก่าได้อย่างสิ้นเชิง