
บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล
ความสงบในความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งข้อกำหนดหลักที่เจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้เป็นโจทย์ให้สถาปนิกตีความ แน่นอนว่าบ้านแต่ละหลังมีโจทย์สำหรับการใช้ชีวิตต่างกันไป ซึ่งทีมงานออกแบบก็ต้องเก็บข้อมูลผ่านการพูดคุยกับผู้อยู่ พร้อมๆ กับการศึกษาบริบทของที่อยู่อาศัย และถ้าจะให้ดีก็ควรสร้างบ้านให้สอดคล้องกับสภาพอากาศด้วย อย่างบ้านหลังนี้ของ Caper สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 485 ตาราเมตร โดยมีถนนเชื่อมต่อทางด้านทิศเหนือ บ้านที่อยู่ใกล้เคียงจะอยู่ทางฝั่งตะวันออก มีทุ่งนากว้างใหญ่ด้านข้าง ตัวบ้านจึงใส่ช่องเปิดให้รับวิวพระอาทิตย์และทุ่งนาได้ ส่วนวัสดุใช้คอนกรีตและอิฐธรรมชาติเป็นหลัก ภายในก็มีแสง ลม สวน ชวนให้รู้สึกผ่อนคลายจริงๆ
ออกแบบ : Su.En Studio
ภาพถ่าย : Spirit Wall Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านสองชั้นหลังใหญ่พื้นที่ 232 ตารางเมตรหลังนี้สร้างอยู่ใน Palakkad ประเทศอินเดีย ดูเผิน ๆ ก็เหมือนบ้านโมเดิร์นทั่วไป แต่รายละเอียดภายในจะมีการแบ่งโซนตามทิศทางลม เส้นทางแสงแดด ทางเข้าถนน และทิวทัศน์ของทุ่งนาที่อยู่ใกล้เคียง ทางเข้าบ้านจะมีลานจอดรถยนต์ และประตูทางเข้าบ้านอยู่ทางทิศใต้ ห้องนอนอยู่ทางทิศตะวันออกเพื่อชมทัศนียภาพพระอาทิตย์ขึ้นในนาข้าวยามเช้า ห้องบูชาตั้งอยู่ทางทิศเหนือตาม Vaastu Shastra (ระบบการวางแผนทางสถาปัตยกรรมแบบฮินดู)
ซุ้มทางเข้าได้รับการออกแบบในสไตล์มินิมอลด้วยเสาโลหะทรงเพรียวบางและแผ่นพื้นคอนกรีต ภาพรวมบ้านใช้เฉดสีเทาของคอนกรีตเปลือย ส้มอมแดงจากอิฐ และสีขาว เพื่อขับเน้นด้านหน้าอาคารแบบเรียบง่าย แต่ใส่สะดุดตากับกรอบหน้าต่างคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาบนชั้น 2 สีของผนังอิฐตัดกันฉับกับสีเขียวของสนามหญ้า เพียงแต่ก้าวเข้ามาถึงหน้าบ้านก็รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายแล้ว
จากประตูทางเข้านำไปสู่พื้นที่ใช้ชีวิตหลักที่มีเพดานสูงแบบเปิดโล่งในแนวตั้ง ( Double Space) ห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหาร แกนกลางอาคารนี้ออแบบมาสำหรับการระบายอากาศตามธรรมชาติภายในบ้าน และเป็นจุดที่เชื่อมโยงสายตาขึ้นไปถึงชั้นบนได้ ในจุดนี้จัดสวนเล็ก ๆ เอาไว้ให้สดชื่นกับธรรมชาติเขียวๆ แบบส่วนตัว ที่ผนังก่ออิฐจาลีสูง 2 ชั้นบริเวณที่หันออกด้านหน้าเป็นช่องลม ช่วยให้รับแสงแดดและสายลมเข้าภายในบ้านได้ดี ส่วนผนังตรงลานบ้านที่วางแพทเทิร์นใส่อิฐนูนเป็นปุ่มแบบสุ่มสร้างลวดลายที่ดูแปลกตา
ห้องครัวแบบเปิดอยู่ถัดในมุมของบ้าน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับพื้นที่รับประทานอาหาร โดยไม่ทำผนังแบ่งกั้นเป็นห้องแยกต่างหาก บ้านจึงยังคงดูกว้างและต่อเนื่องอย่างไหลลื่นกับส่วนอื่นๆ ภายในครัวโทนสีเทาขาวดูทันสมัยฟังก์ชันการใช้งานครบ พื้นที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้สามารถใช้งานพร้อมกันได้หลายๆ คน ส่วนห้องบูชาจะตั้งอยู่ในลานภายในส่วนตัวใกล้กับห้องอาหาร
การระบายอากาศตามธรรมชาติ เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบที่อยู่อาศัย แกนกลางสูงสองเท่าและโถงบันไดโปร่งๆ ที่มีอยู่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความโปร่งโล่ง เชื่อมต่อสายตาของบ้านขึ้นไปในแนวตั้งเท่านั้น แต่ระยะห่างจากหลังคาถึงพื้นที่มากขึ้น จะช่วยลดทอนความร้อนที่ส่งผ่านจากหลังคาลงมาในตัวบ้าน และยังเอื้อให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงและระบายออกนอกบ้านได้ดี ภายในบ้านจึงมีอากาศไหลเวียนไม่อบอ้าว
นอกจากลมแล้วแสงยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในบ้านแม้จะเป็นบ้านเขตร้อนชื้นอย่างอินเดียก็ยังต้องการแสงเพื่อเติมความสว่างภายในและช่วยลดความชื้นแต่ต้องใส่ในจังหวะที่ถูกต้อง เช่น การใส่ช่องแสง sskylight ที่บริเวณเหนือโถงบันไดทำจากวัสดุโปร่งแสงและมีบางส่วนตกแต่งด้วยบล็อกช่องลม ซึ่งจะทำให้บ้านสองชั้นสว่างสดใส ไม่ทืบ แต่สถาปนิกก็มีตัวช่วยอย่างระแนงเหล็กที่ช่วยพรางแสงในบางส่วน
ห้องนอน 2 ห้องพร้อมห้องน้ำในตั วตั้งอยู่ติดกันเพื่อความเป็นส่วนตัว ทุกพื้นที่มีเพดานคอนกรีตที่เผยให้เห็นการตกแต่งแบบอารมณ์ชนบทอินเดีย ห้องนอนทั้งหมดมีการระบายอากาศแบบไขว้ (cross ventilation) มีช่องเปิดขนาดใหญ่และในทิศทางตรงข้าม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี เกิดความสบายในการพักผ่อน ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศ ซึ่งปรับให้เข้ากับสถานที่และอาคาร ทำให้ภายในบ้านมีอุณหภูมิลดลง 4 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับภายนอก
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในบ้านเขตร้อนสิ่งที่น่ากลัวก็คือแสงแดด เพราะความร้อนที่แแผดเผาทำให้อยู่อาศัยไม่สบาย เจ้าของจึงพยายามหาวิธีในการลดทอนความร้อน ซึ่งความร้อนส่วนใหญ่จะส่งผ่านมาจากหลังคา อาจจะเลือกใช้วัสดุหลังคาที่สะท้อนความร้อนได้ดี พร้อมใส่แผ่นฟอยล์สะท้อนความร้อน ฉนวนกันความร้อนใต้ฝ้าหลังคา การติดฝ้าชายคาแบบมีช่องระบายอากาศให้ความร้อนไหลออกจากโถงหลังคา เป็นต้น แต่เจ้าของบ้านส่วนหนึ่งเข้าใจว่าผนังบ้านควรปิดทึบเพื่อกันแดด ซึ่งจะยิ่งทำให้บ้านทึบอับและร้อนอบอ้าว ควรใส่ช่องเปิดขนาดใหญ่ แล้วใช้ระแนง ฉาก หรือแนวต้นไม้พรางแสงแดดแทนจะดีกว่า |
แปลนบ้าน