
ที่พักบนพื้นที่เล็ก ๆ หน้ากว้าง 4.5 เมตร
เกสต์เฮาส์หรือ Hostel เป็นธุรกิจที่พักที่แบบประหยัดขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศอย่างอินโดนีเซียก็มีเช่นกัน เสน่ห์ของเกสต์เฮาส์จะอยู่ที่พื้นที่ไม่ใหญ่ ดีไซน์ที่เป็นกันเองเข้าถึงได้ง่าย อยู่ใกล้แหล่งชุมชนที่สามารถเดินชมความเป็นอยู่รอบ ๆ ได้ เหมาะกับนักท่องเที่ยวประเภทแบ็คแพ็ค หรือครอบครัวที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศในการเดินทางท่องเที่ยว บทความนี้เราจะพาไปดูอาคาร 4 ชั้นเล็ก ๆ ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ 14 ห้อง เผื่อใครที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในการทำที่พักราคาถูก ก็ลองเก็บไปเป็นหนึ่งไอเดียครับ
ออกแบบ : Archiplus
ภาพถ่าย : Mansyur
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ภาพรวมของอาคารที่ใส่พื้นที่ว่างบริเวณบันไดเชื่อมต่อพื้นที่และมุมมองทางสายตาระหว่างชั้น
Guesthouse ดีไซน์เท่ในงบประหยัด
C-Guesthouse แห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ค่อนข้างแออัดใจกลางเมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ดิน 100 ตารางเมตร หน้ากว้างประมาณ 4.5 เมตร X 22 เมตร ก็สามารถทำเป็นที่พักเก๋ ๆ รองรับนักท่องเที่ยวได้ อาคารนี้รับการปรับปรุงโดยสถาปนิกซึ่งเป็นเจ้าของด้วย ทำอาคาร 4 ชั้น (รวมดาดฟ้า) โดยวางแนวคิดหลักเอาไว้ว่าอยากทำห้องพักที่เรียบง่ายแต่ดูดี และสัมผัสได้ถึงต่อเนื่องระหว่างชั้น
ในงบประมาณและพื้นที่น้อย ๆ แต่ต้องการให้เกิดความโดดเด่นดึงดูดสายตาจากอาคารรอบ ๆ สถาปนิกจึงใช้ลูกเล่นของการสร้างลายเส้นบนผนังคอนกรีตเป็นแนวทะแยงสลับกัน เส้นสายง่าย ๆ เท่านี้ก็สร้างมิติของ texture ที่แตกต่างโดยไม่ต้องลงทุนไปกับวัสดุแพง ๆ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ที่พักสไตล์อินดัสเทรียลเรียบและเท่
การออกแบบสถาปนิกได้จัดห้องพักตามระดับความเป็นส่วนตัวของแต่ละห้องจากสาธารณะไปถึงส่วนตัว ชั้นแรกและชั้นสามเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เช่าหอพัก ประกอบด้วยห้องพัก 14 ห้อง ห้องคาเฟ่ใช้งานร่วมกัน ห้องแม่บ้าน ห้องครัวสาธารณะ พื้นที่บาร์บีคิว ศาลานั่งเล่น และ 8 ห้องน้ำ ในขณะที่ชั้นสี่เป็นพื้นที่ของเจ้าของและพื้นที่ส่วนกลางทำให้อาคารหลังนี้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงทุกตารางนิ้ว
สถาปนิกพยายามรวมองค์ประกอบของธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าด้วยกันโดยใช้วัสดุ เช่น อิฐและไม้ สีที่ปรากฏในอาคารหลังนี้ดูเป็นธรรมชาติไม่แต่งแต้มเพิ่มเติม
แม้จะเต็มไปด้วยห้องพักและพื้นที่ใช้สอยมากมาย แต่ก็ยังมีความสะดวกสบายในอาคาร เช่น การระบายอากาศตามธรรมชาติผ่านช่องว่างในอาคาร และแสงธรรมชาติที่สาดส่องผ่านช่องแสงบนผนังและ skylight
บันไดสไตล์อินดัสเทรียลจากแผ่นเหล็กและราวบันไดสีเทาดำที่แสดงความชัดเจนของเส้นสาย ที่ดูเข้ากันได้กับผนังปูนเปลือยและอิฐโชว์แนว ซึ่งเป็นธีมวัสดุที่คุมภาพรวมในทุกชั้นที่ต้องการความดิบแบบเท่ๆ ตอบโจทย์ผู้เข้าพักที่ชอบสไตล์แบบนี้
ช่องเปิดและช่องแสงทำให้โปร่งโล่ง
ทุกสิ่งที่รวมกันทั้งวัสดุ ตำแหน่งของช่องเปิด บล็อกช่องลม และความสัมพันธ์ระหว่างการตกแต่งภายในและภายนอกสร้าง microclimate สภาพแวดล้อมในบรรยากาศแบบท้องถิ่นซึ่งแตกต่างจากพื้นที่โดยรอบในเกสต์เฮาส์นี้ ทำให้ผู้เข้าพักสามารถเพลิดเพลินได้แม้แต่ในห้องนอน
ห้องน้ำขนาดเล็กแต่เป็นส่วนตัวใช้งานสะดวก พื้นผิวผนังเป็นคอนกรีตเปลือยขัดมันตัดเส้นสายตาด้วยสีดำและท่อสายไฟที่ใช้สีดำเช่นกัน เติมความรู้สึกอบอุ่นลดทอนความดิบกระด้างด้วยลายไม้ วัสดุและสีเพียงไม่กี่สีก็สร้างบรรยากาศที่ดูดีได้เช่นกัน
ห้องนอนเล็กแต่สบาย
ห้องพักชั้นบนสุดที่เป็นห้องเล็ก ๆ ขนาด 2 ที่นอนเหมือนศาลาบนชั้นดาดฟ้า ลักษณะหลังคาจั่วสูงสไตล์โมเดิร์นทำให้ห้องนอนมีความคมชัด ความสูงของเพดานทำให้รู้สึกถึงความโปร่งสบาย และยังเหลือพื้นที่ทำเป็นชั้นลอยเก๋ๆ สำหรับนั่งเล่นเหนือห้องน้ำ
จากห้องนอนเชื่อมต่อออกมายังดาดฟ้าส่วนตัว และอีกด้านของห้องเป็นโซนดาดฟ้าใช้งานสาธารณะที่ผู้เข้าพักสามารถขึ้นมาออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ ชมวิวเมือง จัดปาร์ตี้ปิ้งย่างยามค่ำ หรือจะหอบแล็ปท็อปมาทำงานในช่วงที่สภาพอากาศดีก็ได้เช่นกัน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การตกแต่งอาคารที่มีลักษณะแคบยาวและติดกับอาคารอื่น ๆ อาจจะยากกว่าอาคารที่กว้างและมีพื้นที่ เพราะจะมีข้อจำกัดเรื่องช่องแสงและความอึดอัดภายใน แต่หากมีการออกแบบช่องแสงที่ดี หาจุดที่จะเพิ่มแสงเข้าไปในอากาศ เพิ่มช่องว่างภายในอาคารด้วยการรื้อพื้นและเพดานในบางจุดออก ก็จะลบข้อจำกัดและเพิ่มอิสระในการใช้งานตึกหน้าแคบลึกลงได้ครับ |
แปลนบ้าน