
บ้านหลังคาจั่วสูง
โปแลนด์ เป็นประเทศตอนกลางของยุโรปมีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมยุคกลางที่โดดเด่น อย่างเมืองทอรูน (Toruń) หรือวิหารสวยๆ จึงเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่หลายๆ คนอยากไปเยือน นอกจากอาคารขนาดใหญ่ที่ดูน่าตื่นตาแล้ว บ้านยุคใหม่ในโปแลนด์ก็น่าสนใจเช่นกัน อย่างบ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบในเขตเทศบาลเมือง Oporów ใน Wrocław ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีบ้านเดิมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ การจะต่อเติมบ้านใหม่เข้าไปจึงเป็นสิ่งพิเศษ เนื่องจากการออกแบบบ้านต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมด้วย งานนี้ผลจึงออกมาเป็นบ้านที่มีเอกลักษณ์ดูเรียบง่ายโมเดิร์นแต่ความรู้สึกกลับน่ารักอบอุ่น
ออกแบบ : S3NS Arachitectura
ภาพถ่าย : Maciej Lulko
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านหลังคาจั่วสูงทูโทนชวนให้รัก
ความท้าทายในการออกแบบบ้านนี้ คือ การสร้างบ้านที่มีความร่วมสมัย พยายามสร้างรูปแบบและขนาดตามแบบฉบับของอาคารขึ้นใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาลักษณะของเมือง และคำนึงถึงความต้องการทั้งหมดของผู้อยู่อาศัย จึงออกแบบบ้านให้เป็นหลังคาแหลมสูงแบบโบสถ์ไม่มีชายคาแบบดั้งเดิม แต่ลดทอนให้เหลือรายละเอียดน้อยที่สุด เป็น 2 อาคารที่มีระดับความสูงหลังคาไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งสีขาวด้านหนึ่งสีน้ำตาลอมแดง แทรกด้วยไม้ระแนงซีดาร์ที่ทำให้บ้านดูทันสมัยขึ้นแต่อบอุ่น ด้านหน้าจัดสวนเล็ก ๆ และรั้วคอนกรีตสลับไม้เตี้ย ๆ ให้ความรู้สึกเป็นมิตร
โครงร่างของ Broken House ที่เหมือนมีบ้าน 2 หลังคนคละสีต่างวัสดุวางเหลื่อมกันอยู่ เป็นผลมาจากความพยายามที่จะแสดงสัดส่วนดั้งเดิมของอาคารก่อนหน้า ให้แต่ละอาคารแบ่งฟังก์ชันภายในที่แตกต่างกัน คือ โซนส่วนตัวและส่วนที่ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างวัน เพื่อเป็นการเน้นรูปแบบดั้งเดิมสถาปนิกจึงใช้วัสดุกรุผนังและหลังคาที่ต่างกันสองชนิด คือ แบบ “ผนังหยาบ” ใช้แผ่นอิฐตกแต่งของ Petersen Tegl และ “ผนังเรียบ” ฉาบปูนทาสีขาวที่ตัดกันซึ่งกันและกันในสีและพื้นผิว เมื่อวางเหลื่อมกันจะเห็นความตัดต่างกันได้ชัดเจนขึ้น
ผนังวัสดุแตกต่างแต่ทำไมต้องอิฐ?
อิฐเป็นวัสดุที่อยู่คู่กับงานสถาปัตยกรรมที่นี่มาโดยตลอด และเป็นร่องรอยที่พบได้เสมอเมื่อเราค้นลงไปในประวัติศาสตร์ของสถานที่ สำหรับเซรามิกจะเป็นวัสดุทางสถาปัตยกรรมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอดีตและปัจจุบัน แต่อิฐคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความอบอุ่น ความทนทาน ในราคาที่ไม่แพงนั่นเป็นเหตุผลที่ผู้คนยังคงใช้ผนังอิฐในการสร้างบ้าน
ด้านในของบ้านจะประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร และห้องครัว ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 พร้อมวิวสวนเขตร้อน บนชั้นใต้หลังคาจะเป็นห้องนอนใหญ่ที่อยู่เหนือพื้นที่ส่วนกลาง ห้องนอนที่ 2 และห้องทำงานอยู่ด้านหน้าบ้าน ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือห้องนั่งเล่นพักผ่อนที่เติมออกมาเป็นแขนยาว ๆ ติดบานกระจกใสเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานในบ้านออกมายังเฉลียง ชานบ้าน และต่อเนื่องออกไปยังสนามหญ้ากลางแจ้ง ทำให้การใช้งานระหว่างภายในภายนอกไหลลื่น
อบอุ่นในหน้าหนาว เย็นในฤดูร้อน
สภาพภูมิอากาศโปแลนด์ประกอบด้วย 4 ฤดูเหมือนกันทั่วประเทศ ช่วงฤดูหนาวค่อนข้างหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย -1 °C ถึง -5 °C และมีหิมะตกในบางช่วง ฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 16.5 °C – 19 °C แต่บางวันอุณหภูมิสูงจะถึง 35 °C สำหรับเมืองวรอตซวาฟนี้ปริมาณฝนค่อนข้างน้อย ทำให้การสร้างหลังคาแหลมสูงความลดเอียงหลังคามากตอบโจทย์สภาพอากาศของยุโรปที่ต้องให้หิมะไหลลงได้ดีไม่ติดค้างบนหลังคา ในขณะที่มีบางส่วนเป็นกระจกรับความอบอุ่นช่วงหน้าหนาว และยังมีช่องเปิดบนผนังขนาดใหญ่เพื่อระบายอากาศที่ร้อนจัดในบางวันของหน้าร้อน
รอบ ๆ บ้านโรยด้วยกรวดและจัดสวนเล็ก ๆ เพื่อให้กรวดช่วยซับน้ำฝนไม่ให้ทำร้ายผิวผนัง ส่วนของผนังที่เป็นแผ่นอิฐตกแต่งที่ทนสภาพอากาศชื้นได้ดี ไม้ซีดาร์ก็มีคุณสมบัติในเรื่องทนทานต่อสภาพอากาศเหมาะสำหรับใช้ภายนอก ถัดไปเป็นสนามหญ้าเขียว ๆ ที่ช่วยลดความแข็งกระด้างของตัวอาคารลง เมื่อยามค่ำมาเยือนแล้วเปิดไฟตกแต่งเฉพาะจุดตรงสวนจะเห็นมิติของแสงที่ทำให้บ้านมีชีวิตชีวามากขึ้น ลืมบรรยากาศที่ดูอึมครึมของยุโรปไปได้เลย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : วัสดุหลักในการสร้างบ้าน ควรเลือกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในท้องถิ่นซึ่งสำคัญมาก อย่างในบ้านเขตร้อนชื้นก็ควรเป็นวัสดุที่ระบายอากาศได้ง่าย ไม่เก็บความร้อนนาน บ้านเขตหนาวควรเก็บความอบอุ่นได้ดี สำหรับรูปทรงหลังคาก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างหลังคาจั่วสูงโมเดิร์นที่ไม่มีกันสาด ไม่มีชายคา อาจดูหากสร้างในเขตภูมิอากาศที่ฝนไม่แรง อากาศแห้งไม่มีความชื้นสะสม แต่ถ้าสร้างในเขตร้อนชื้นที่ฝนชุกและตกค่อนข้างหนัก ผนังที่รับความชื้นบ่อย ๆ จะเกิดเชื้อราได้ง่าย เพียง 1-2 ปีก็หมดสวย ดังนั้นจึงควรปรับประยุกต์รูปแบบหลังคา วัสดุ และมองหาวิธีป้องกันปัญหาก่อนตัดสินใจเลือก
|
แปลนบ้าน