
บ้านเขตร้อนผนังอิฐแดง
เคยรู้สึกไหมว่าเสื้อผ้าบางชุดที่เราซื้อมาเวลาสวมใส่แล้วรู้สึกอึดอัด อาจจะเป็นเพราะขนาดที่พอดีตัวเกินไปหรือเส้นใยที่ระบายอากาศไม่ดีทำให้ไม่สบายตัว บ้านก็เหมือนกันกับคน เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนถูกล้อมจากเพื่อนบ้านทุกด้าน ทำให้เกิดความอึดอัดไม่เป็นส่วนตัว ยิ่งถูกล้อมรอบด้วยผนังบ้านที่สร้างกรอบให้อยู่ภายในขอบเขตจำกัดทั้ง 4 ด้าน ก็ยิ่งเหมือนหายใจไม่ออก เนื้อหานี้เรามีแนวคิดแปลก ๆ ในการสร้างผนังบ้านที่ไม่เหมือนบ้านไหน เห็นแล้วต้องลืมจำกัดความของผนังบ้านแบบเดิม ๆ ไปเลย
ออกแบบ : Wall Makers
ภาพถ่าย : Jino Sam
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านที่เต็มไปด้วยสเปซและอิฐ
บ้านพื้นที่ใช้สอย 196 ตารางเมตรนี้ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Trivandrum รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่แวดล้อมด้วยบ้านเรือนทั้งสี่ด้าน ซึ่งทำให้รู้สึกเหมือนบ้านถูกบีบจนขาดอากาศหายใจ แนวคิดของที่อยู่อาศัยนี้คือการมีบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวและมีอิสระ สถาปนิกจึงหันหน้าบ้านเข้าด้านใน ทำสเปซโล่ง ๆ ในอาคารที่ห้อมล้อมด้วยผนังอิฐแดง เชื่อมต่อกับลานกลางแจ้งนอกบ้าน ตัวบ้านจัดวางในแนวตะวันออก – ตะวันตก รอบ ๆ บ้านมีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่อำนวยความสะดวกในการระบายอากาศตามธรรมชาติได้เต็มประสิทธิภาพ
ผนังอิฐที่ดูมี Texture และพริ้วไหวนี้ ใช้วิธีการก่อแบบ Rat trap bond หรือผนัง 2 ชั้น ที่มีช่องว่างตรงกลางช่วยลดทอนความร้อนจากผนังเข้าสู่ตัวบ้านได้เป็นอย่างดี
มุมมองจากด้านบนจะเห็นมิติใหม่ของผนังที่ไม่ได้ตรงก่อทึบทั้งอาคาร แต่ลดปริมาณการใช้อิฐลงก่อให้เป็นแผงสูงบิดเป็นเกลียวตัวเอียงไปทางซ้ายและขวาดูเหมือนคลื่น เพื่อปกป้องพื้นที่ด้านในจากลม แสง สายตา และรองรับโครงสร้างหลังคาที่ใช้ skylight แทนการมุงด้วยกระเบื้องทั่วไป ทำให้บ้านดูโปร่งโล่งและเต็มไปด้วยอิสระ
โปร่งสว่างสานธรรมชาติเข้ากับบ้าน
ภายในบ้านรู้สึกได้ถึงความโปร่ง โล่ง ยืดหยุ่นและสว่าง จากการออกแบบแปลนบ้านให้มีความต่อเนื่องของพื้นที่ทั้งแนวนอนโดยลดผนังแบ่งสัดส่วนในบ้านน้อยที่สุด และการเชื่อมต่อพื้นที่แนวตั้งด้วยการเจาะเพดานให้เป็นโถงสูงขึ้นไป ผนังภายในบางส่วนจะใช้โครงเหล็กสานพรางตาด้วยหวายเพื่อความเป็นส่วนตัว ทำให้แสงสว่างส่องกระจายเข้ามาลดความชื้นในบ้านได้ในปริมาณที่พอดี และระบายอากาศตามธรรมชาติให้บ้านหายใจได้อย่างที่ต้องการ
พริ้วไหวไหลลื่นในทุกมุมของบ้าน
ห้องนั่งเล่นและครัวยังคงตกแต่งผนังด้วยอิฐแดงที่จัดเรียงให้มี texture สร้างภาพแบบ 3 มิติในบ้าน ตกแต่งเพิ่มเติมเส้นสายเรขาคณิต อย่างเช่น ผนังปูนเปลือยวงกลมในห้องนั่งเล่น ท็อปเคาน์เตอร์ครัวเส้นฟรีฟอร์ม ซึ่งทำให้บ้านดูมีความเคลื่อนไหว เป็นการเพิ่มลูกเล่นให้วัสดุบ้าน ๆ พร้อมกับช่วยลดทอนความรู้สึกแข็งกระด้างของวัสดุอย่างคอนกรีตดิบ ๆ ได้เป็นอย่างดี
อินเดียอยู่ในเขตร้อนชื้นเหมือนบ้านเรา จึงต้องการพื้นที่อยู่อาศัยที่เต็มไปด้วยช่องทางรับลมเพิ่มความเย็นสบาย ไม่สะสมความร้อน ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการแสงที่จะช่วยลดความชื้น เพื่อตอบโจทย์นี้สถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับการสร้างช่องเปิดขนาดใหญ่รับสายลมในแนวนอน และโถงสูงภายในบ้านที่จะเอื้อให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงและระบายออกจากอาคารได้ดี นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางรับแสงในจุดที่บ้านต้องการ และหาตัวช่วยกั้นกรองแสงในจุดที่บ้านไม่ต้องการ แต่ไม่ใช้วิธีการปิดบ้านทึบทุกด้านเพื่อหลบเลี่ยงแสง ซึ่งจะทำให้บ้านอับ ทึบ ชื้น สะสมเชื้อโรคได้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : Rat trap bond เป็นวิธีการก่ออิฐก่อผนังรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอิฐจะถูกวางในแนวตั้งแทนที่จะเป็นแนวนอนแบบเดิมและแพทเทิร์นการวางที่ทำให้เกิดโพรง (ช่องว่าง) ภายในผนัง เป็นผนัง 2 ชั้นเสริมเหล็กเส้นข้างในเพื่อเพิ่มความแข็งแรงได้ ซึ่งสถาปนิก Laurie Baker สถาปนิกชาวอินเดียที่เกิดในอังกฤษได้เปิดตัวการก่อผนังอิฐแบบนี้ครั้งแรกใน Kerala เมื่อปี 1970 และต่อมามีการใช้อย่างกว้างขวางเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง ลดความต้องการวัสดุ และประสิทธิภาพการระบายความร้อนที่ดีกว่าผนังก่ออิฐทั่วไปโดยไม่สูญเสียความแข็งแรงของผนัง |
แปลนบ้าน