
บ้านสไตล์โรงนาโมเดิร์น
รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน ในช่วงหนึ่งอาจจะดูเชย ดูเก่า ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างตกยุค แต่อย่างที่เราทราบดีว่าเทรนด์ในการสร้างบ้านสามารถวนกลับมาฮิตใหม่ได้เสมอ เพียงแต่อาจจะถูกนำเสนอในมุมมองใหม่ๆ ตามสายตาของคนในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรามองมาเป็นสิ่งที่ดี เพราะการผสมผสานระหว่างใหม่กับเก่าที่เดินไปคู่กัน ทำให้สิ่งที่เคยมีในอดีตจะยังคงอยู่ไม่เป็นงานที่ตายไปแล้ว เหมือนเช่นบ้านสไตล์โรงนาในชนบทห่างไกลของประเทศทางซีกโลกตะวันตก ที่ดูต่างจากอาคารหรูหราในเมือง เมื่อนำมาปรับประยุกต์กลับเป็นบ้านที่อบอุ่น น่าอยู่ และดูโมเดิร์นร่วมสมัย
ออกแบบ : Lannuzzi Studio
ภาพถ่าย : Rafael Gamo
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Briarcliff เป็นชื่อโครงการบ้านนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ชนบทขนาด 3.5 เอเคอร์ (ประมาณ 8.8 ไร่) ในย่านประวัติศาสตร์แฟรงคลิน รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาปนิกสร้างความสมดุลระหว่างรูปแบบและด้านหน้าที่เรียบคมสง่างาม กับการตกแต่งภายในที่ดูมีสีสันขี้เล่น เพื่อให้เหมาะสำหรับครอบครัวส่วนตัวที่หลงใหลในดนตรีและโรงละคร โดยการออกแบบของบ้านได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบคลาสสิกของฟาร์มในชนบทของมิชิแกน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลังคาทรงจั่วที่ถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน ให้ออกมาทันสมัยแบบบ้านนอร์ดิกที่กำลังฮิต
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
รูปแบบที่คุ้นเคยเหล่านี้เชื่อมโยงบ้านเข้ากับบริบททางประวัติศาสตร์ แต่ได้รับการถ่ายทอดด้วยเทคนิคการก่อสร้างและวัสดุสมัยใหม่และรายละเอียดที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ด้านนอกใช้ไม้ซีดาร์ลายไม้แนวตั้ง หลังคาแต่ละหลังเป็นเมทัลชีทสีดำ สีที่แตกต่างและเส้นที่คมชัดเน้นให้เห็นความสูงและความสว่าง ในส่วนด้านบ้านที่ต่ำและกว้างถูกหุ้มด้วยแผงไฟเบอร์ซีเมนต์ความหนาแน่นสูง การเรียงตัวอาคารสลับแนวตั้งกับแนวนอน ผลรวมที่ได้นอกจากช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็สนุกกับการเดินข้ามจากอาคารหลังหนึ่งไปอีกหลัง
อาคารแผ่นไม้ซีดาร์มีส่วนทำให้บ้านดูผสานเข้ากับภูมิทัศน์ หลังคาแบนเหนือโถงทางเดินกระจกที่เชื่อมถึงกันยังปูด้วยหญ้าพื้นเมืองด้วย ทุกครั้งที่เดินผ่านจึงไม่รู้สึกร้อน หากสังเกตจากภาพถ่าย Bird eye’s view จะเห็นว่าการจัดตำแหน่งบ้านจะพยายามรบกวนต้นไม้น้อยที่สุด โดยเฉพาะต้น American Elm อายุกว่า 100ปี และต้น Climbing Hydrangea แต่ละโซนได้รับการจัดวางอย่างระมัดระวังโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลมที่พัดแรง มุมแสงแดดตามฤดูกาล และความสมดุลของความเป็นส่วนตัวและมุมมอง เพื่อการปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างรูปลักษณ์ภายนอกที่ทันสมัย การตกแต่งภายในที่อบอุ่น และธรรมชาติโดยรอบ
ฟังก์ชั่นของบ้านถูกแยกออกเป็นสี่อาคารที่แตกต่างกัน เพื่อให้แยกระหว่างโซนส่วนตัวและส่วนรวมอย่างชัดเจน ได้แก่ 1) ห้องชุดห้องนอนหลัก 2) พื้นที่การใช้ชีวิตและความบันเทิง 3) พื้นที่ครอบครัวส่วนตัว และ 4) โรงจอดรถ โดยพาวิลเลียนที่ยาวที่สุด (นั่งเล่นและเอนเตอร์เทนนิ่ง) จะอยู่ตรงกลางทอดยาวจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านของที่พักแบบไม่ขาดตอน โดยมีกระจกบานใหญ่ที่หันไปทางพื้นที่ชุ่มน้ำด้านหลัง
ในอาคารใช้งานสาธารณะตรงกลาง เป็นเหมือนศูนย์กลางที่ทุกคนจะเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกัน ถูกออกแบบให้เป็นเหมือนห้องโถงยาวหลังคาจั่วสูงตีฝ้าเพดานตามแนวหลังคา โชว์เส้นสายของเหล็กสีดำตกแต่งที่ทำให้รู้สึกถึงพื้นที่จากพื้นถึงเพดานที่ชัดเจนขึ้น ปลายด้านหนึ่งเป็นห้องนั่งเล่น โต๊ะทานข้าว มีเตาไฟที่หุ้มด้วยไม้ซีดาร์ย้อมสีน้ำตาลเข้มและเหล็กทำสีดำ และตรงข้ามกันคือห้องครัวที่มีตกแต่งด้วยไม้วอลนัท เคาน์เตอร์สแตนเลส ผนังกันเปื้อนลายหิน ข้างๆ มีแผงผนังทายูรีเทนสีเขียวมรกต
ด้านหนึ่งของตัวบ้านที่ต้องการความเป็นส่วนตัวจากถนนจะทำผนังทึบมีช่องแสงแนวนอนในมุมสูง เน้นเพื่อรับแสงไม่ได้เน้นเปิดมุมมอง ส่วนของผนังยังสร้างประโยชน์ได้ด้วยการบิลท์ม้านั่งและชั้นวางเป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนประกอบของบ้านได้สูงสุด ในอีกด้านของบ้านที่เชื่อมต่อกับสวน สระว่ายน้ำ จะเป็นประตูกระจกตลอดทั้งแนว เชื่อมต่อพื้นที่ชีวิตภายนอกภายในให้เหมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสายตาของบุคคลภายนอก
จากส่วนนี้เราจะเห็นว่าภายในบ้านมีการใช้ทั้งชุดสีที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติ อย่างสีของไม้ต่างชนิด สีของผนัง แต่ก็จะมีส่วนผสมของสีสันเข้ามาเพิ่มความมีชีวิตชีวา เช่น ผ้าม่านโทนสีนำเงินและสีเขียวเหลือบสลับสีอ่อน พรมปูพื้นสีขาวดำ ผนังตกแต่งกรอบรูป Abstract Art ที่ทำให้รู้สึกว่าบ้านสไตล์โรงนาไม่ได้ดูจืดชืดหรือต้องตกแต่งด้วยความรู้สึกแบบชุมชนเกษตรกรรมเท่านั้น
เติมความน่าสนุกขึ้นอีกขั้นด้วยการใช้พรมสีรุ้งผืนใหญ่บนพื้นข้างหน้าต่าง และตรงบันไดขึ้นสู่ชั้นสอง ในห้องน้ำใหญ่ยังเต็มไปด้วยกระเบื้องรูปห้าเหลี่ยมโทนสีเขียวใบไม้ทั้งพื้นและผนัง ขณะที่กำลังอาบน้ำจะรู้สึกเหมือนกำลังถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้ที่เขียวชอุ่มรอบตัว
แม้จะตกแต่งบ้านด้วยความสนุกของสีสัน แต่ถ้ามากเกินไปจะรู้สึกไม่สบายตา สถาปนิกจึงมีจังหวะเบรคความรู้สึกอยู่ด้วย เช่น ในมุมนั่งเล่นนอนเล่นพักผ่อนริมหน้าต่างที่ใช้ชุดสีกลางๆ อ่อน ๆ ให้เหมาะกับบรรยากาศของความผ่อนคลาย และห้องน้ำโทนสีขาวตัดเส้นสีดำ สร้างสมดุลของบ้านที่มีครบทุกอารมณ์ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านที่ตกแต่งด้วยไม้ช่วยให้ความรู้สึกอบอุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงความเชยและตกยุคสมัยได้ การนำไม้มาใช้งานให้มีความทันสมัยขึ้น จะเน้นการนำเสนอที่เรียบง่าย เช่น ไม้ระแนงชิ้นเล็ก ๆ แผ่นไม้เซาะร่อง ติดตั้งแบบไม่ซ้อนเกล็ดหรือมีบังใบ รายละเอียดน้อยไม่มีคิ้วบัวร วมทั้งอาจจะปล่อยโชว์ธรรมชาติของเนื้อไม้แบบไม่ทำสี (ยิ่งสีเข้มจะทำให้ภาพรวมของบ้านดูมีอายุ) และถ้าใช้สำหรับภายนิก อย่าลืมเลือกคุณสมบัติของไม้ที่ทนทานกับสภาพอากาศ เช่น ไม้ซีดาร์ ไม้ฮิโนกิ ไม้สัก
|
แปลนบ้าน