
บ้านจากเทคโนโลยี 3D Printing
โลกที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทำให้ได้ทันเห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ การสร้างบ้านก็เช่นเดียวกัน ในทุกวันยังมีการค้นคว้าวิธีการก่อสร้างบ้านที่ประหยัด เร็ว และยั่งยืนเข้าสู่ตลาดบ้านอยู่เสมอ จากวิธีการที่เคยค่อย ๆ ก่ออิฐทีละก้อน จนเมื่อหลายปีก่อนเริ่มมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติเข้ามาสู่วงการอสังหาสหรัฐอเมริกา ใครจะคิดว่าเครื่องปรินท์จะทำบ้านออกมาได้เป็นหลังจริง ๆ มาถึงปีนี้บ้านจาก 3D printer เริ่มกระจายไปประเทศต่าง ๆ อย่างบ้านที่นำมาให้ชมในเนื้อหานี้ เป็นการสร้างหลังแรกในประเทศเนเธอร์แลนด์ครับ
ที่มา : dwell
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านหลังนี้เป็นการผสมผสานผนังคอนกรีตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติเข้ากับวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน เช่น ผนังภายในของยิปซั่มบอร์ด และกรอบหน้าต่างและประตูมาตรฐานโรงงาน ใช้เวลาเพียง 120 ชั่วโมง ในการพิมพ์ส่วนต่างๆ ทั้ง 24 ส่วนของบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดมีน้ำหนัก 12 ตันและสูง 2.5 เมตร จากนั้นจึงขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังไซต์งานและยึดเข้ากับฐานราก แล้วค่อยติดตั้งหน้าต่าง ประตู และหลังคาในสถานที่ เมื่อบ้านหลังแรกสร้างเสร็จใน Eindhoven แผนต่อมาคือการเปิดตัว Project Milestone ไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่ง Huysmans เจ้าของโปรเจ็คกล่าวว่า “บ้านหลังแรกมีราคาสูง แต่เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย เรารู้ว่าในอนาคตการพิมพ์คอนกรีต 3 มิติจะช่วยให้การก่อสร้างเร็วขึ้น ถูกกว่า และยั่งยืนมากขึ้น”
บ้านใน Eindhoven ของ Bosrijk ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นบ้านที่อยู่อาศัยตามกฎหมายแห่งแรกในยุโรปที่มีผนังรับน้ำหนักจากการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นของ Elize Lutz และ Harrie Dekkers คู่รักชาวดัตช์วัยเกษียณจะย้ายเข้ามาอย่างเป็นทางการ Elize เล่าว่า ” ความรู้สึกแรกของฉันเมื่อเห็นภาพของบ้าน มันเป็นบ้านก้อนหินขนาดมหึมา ทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเด็กที่เคยชมการ์ตูนบ้านมนุษย์หิน Flintstones!”
บ้านสองห้องนอนในขณะที่กำลังก่อสร้าง ในอนาคตจะเพิ่มเทคนิคในการพิมพ์พื้นและหลังคาเข้าไป และบ้านจะถูกปริ้นท์บนไซต์งานมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะทำสำเร็จรูปจากในโรงงานเหมือนก่อน
บ้านมีมุมมนแสดงให้เห็นชั้นของคอนกรีตเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านที่พิมพ์ด้วยแขนหุ่นยนต์ แขนที่ว่านี้ที่มีลักษณะเหมือนเครนขนาดมหึมาติดตั้งหัวฉีดพิมพ์บ้านด้วยคอนกรีตเป็นชั้นๆ นักพัฒนาอธิบายว่าการพิมพ์ด้วยคอนกรีตมีข้อดีมากกว่าการก่อสร้างแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง การกันเสียงรบกวน การปกป้องบ้านจากความร้อน รวมถึงสร้างรูปทรงที่น่าสนใจได้โดยไม่ต้องใช้แบบหล่อ และด้วยธรรมชาติของเทคนิคนี้ การก่อสร้างจึงสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง สร้างโดยตรงจากการออกแบบดิจิทัลโดยไม่ต้องใช้คนงานก่อสร้าง ทำให้การผลิตจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเทคโนโลยีใหม่ในการสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งตรงกับความต้องการของการใช้ชีวิตที่ทันสมัย
บ้านมีพื้นที่ใช้สอย 94 ตารางเมตร พร้อมห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องครัวแบบเปิดโล่ง และห้องนอน 2 ห้องหลังนี้ ด้วยลักษณะการพิมพ์ที่เครื่องจะเดินงนไปมา ทำให้ผนังมีความหนาเท่าผนังก่อ 2 ชั้น เท่ากับบ้านมีฉนวนกันเสียงไปด้วยในตัว “ในบ้านเงียบมากในทุกห้อง” เอลีซ เจ้าของบ้านกล่าว “ทันทีที่คุณปิดประตูเข้ามาใช้ชีวิตภายใน คุณแทบไม่ได้ยินอะไรเลยเหมือนถูกหุ้มอยู่ในฟองสบู่ส่วนตัวจริงๆ” ฉนวนที่หนาเป็นพิเศษและการเชื่อมต่อกับระบบทำความร้อนที่ส่งมาจากหน่วยงานของชุมชน ยังทำให้บ้านยังประหยัดพลังงานสูงอีกด้วย
หน้าต่างบานใหญ่ในห้องนอนทำให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายใน ห้องครัวบิวท์อินและห้องน้ำได้รับการติดตั้งในสถานที่ พร้อมด้วยหน้าต่าง พื้น หลังคา และรายละเอียดการตกแต่งอื่นๆ ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีการพิมพ์บ้านด้วยเครื่องปริ้นท์ 3D นี้สร้างที่อยู่อาศัยที่อยู่ได้จริงและตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างได้
แม้ว่าบ้านมีค่าสัมประสิทธิ์ประสิทธิภาพพลังงานที่ 0.25 ทำให้ประหยัดพลังงานได้สูง แต่นักพัฒนาเชื่อว่ายังมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุงการใช้วัสดุได้อีก โดยพยายามหาทางลดปริมาณคอนกรีตสำหรับบ้านในอนาคต ซึ่งนำไปสู่การปล่อย CO2 ที่ลดลง การเรียนรู้จากการดำเนินการบ้านหลังนี้จะนำไปสู่การออกแบบบ้านเพิ่มเติมอีกสี่หลัง ที่จะประกอบเป็นชุมชน Project Milestone บ้านแต่ละหลังช่วยเพิ่มการเรียนรู้และผลักดันขั้นตอนการก่อสร้างให้ก้าวไปสู่ความสามารถในการพิมพ์ในที่ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องทำที่โรงงานแล้วมาประกอบหน้างาน และอีกไม่นานคงจะมีบ้านจาก 3D Printing ในเมืองไทยอย่างแน่นอน