เมนู

Lake­side Tea­house เมื่อความเรียบง่ายและความหรูหรามาพบกัน

ตกแต่งคาเฟ่

ปรับปรุงร้านน้ำชาเก่าให้ทันสมัย

ชา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของชาวจีน ชาในวัฒนธรรมจีนไม่เพียงแต่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมเท่านั้น ยังการร่วมวงดื่มชาเป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้คนได้ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนจะมีโรงน้ำชามากมายที่กลายเป็นศูนย์กลางการพบปะของผู้คน แต่ก็มีช่วงเวลาของร้านน้ำชาที่เป็นขาลงเช่นกัน จึงต้องเกิดการปรับปรุงหรือรีแบรนด์ขึ้น ตัวอย่างเช่นโครงการนี้ ที่เป็นการปรับปรุงโรงน้ำชาของ YI+MU ช่วงที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2566 และในที่สุดก็ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะชนในฐานะโรงน้ำชาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่ได้รับการจัดอันดับบนโซเชียลมีเดีย

ออกแบบ : YI+MU
เนื้อหา บ้านไอเดีย

ปรับปรุงร้านน้ำชาเก่าให้หรูหรา

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

Before: โรงน้ำชาเก่าสร้างในปี 2013 โดยนักออกแบบชาวอิตาลี Luca Nichetto เดิมตั้งใจให้อาคารหลังนี้เป็นพื้นที่จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์สำหรับ Tales นับ 10 ปีผ่านไป อาคารเก่าเป็นเหมือนหินผุกร่อนในพื้นที่สีเขียวของสวน และค่อยๆ เลือนหายไปในความเงียบงัน บรรยากาศจากสว่างไปสู่ความมืดไม่เหมาะสมอีกต่อไป และยังมีการปะทะกันของรูปแบบที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศอย่างชัดเจน จึงต้องยกเครื่องอัตลักษณ์ใหม่ให้ชัดเจนขึ้น หลังจากการค้นคว้าอย่างละเอียด YI+MU ได้ค้นพบวิธีที่จะผสมผสานทั้งเก่าและใหม่ โดยการสาดความเรียบง่ายและความอิสระเข้าไปในโครงสร้างเก่าเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่และเวลาเข้าด้วยกันใหม่อีกครั้ง

เฉลียงรอบอาคารใช้งานกึ่งกลางแจ้ง

เฉลียงกว้างเปิดเชื่อมต่อสวน zen

เนื่องจากโครงสร้างเดิมเชื่อมต่อโดยตรงกับทิวทัศน์กลางแจ้งอยู่แล้ว แต่พื้นที่อาคารเหมือนจมอยู่ การออกแบบใหม่จึงเน้นไปที่ตัวอาคารและดันภูมิทัศน์โดยรอบลงให้อยู่ในระดับเดียวกับตัวอาคารและด้านนอกอีก 4 เมตร ทำให้เกิดการแบ่งแยกที่นุ่มนวลระหว่างพื้นที่ส่วนกลางและโครงสร้างหลัก จากนั้นเติมเฉลียงกว้าง2 เมตรยื่นออกมาจากเป็นทางเดิน มีที่นั่งอยู่เป็นจุด ๆ ดึงดูดสายตาผู้ที่เข้ามาใหม่ บริเวณที่ขนานกับเฉลียงจัดสวนหินญี่ปุ่นที่มีลายคลื่นเป็นตัวแทนของน้ำ กลุ่มหินเป็นเรือ โรงน้ำชาเปรียบเสมือนเกาะลอยน้ำที่มีปฏิสัมพันธ์กับทะเลสาบในสวน นำเสนอฉากที่เป็นธรรมชาติอย่างที่สุด

ผนังตกแต่งโทนไม้ธรรมชาติ

ตกแต่งไฟสวยๆ ทางเข้าอาคาร

ประตูทางเข้าใหม่ของโรงน้ำชาจะเปิดขึ้นทางด้านทิศเหนือของอาคารเดิม โดยประตูทิศใต้เดิมใช้เป็นทางเข้าบริการ ก่อนมาถึงต้องค่อยๆ เดินผ่านสวนและทางเดิน จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการเข้าไปในโรงน้ำชา ซึ่งจะทำให้มีเวลาได้ซึมซับบรรยากาศและทอดอารมณ์ เพียงแค่วิธีการเข้าร้านก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ใหม่ของผู้มาเยือน

ภายในโรงน้ำชาโอ่อ่าด้วยโถงสูง

สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สื่อถึงจิตวิญญาณ และโรงน้ำชาริมทะเลสาบก็มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ทีมงานจึงวางแนวคิดเอาไว้ว่าภายในควรมีทั้งความหรูหราและเป็นธรรมชาติ โดยพยายามไม่ให้มีความรู้สึกยิ่งใหญ่มากเกินไป เพื่อให้ผู้คนยังคงสามารถดื่มชาในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายผ่านวัสดุและบรรยากาศ

ภายในโรงน้ำชาโอ่อ่าด้วยโถงสูง

การตกแต่งเน้นให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาอย่างเพียงพอ โดยสถาปนิกเปิดหลังคาตรงกลางของอาคารเป็นช่องแสง skylight เพื่อขจัดความมืดและสอดท่อแกนแนวตั้งเพื่อรองรับบันได มีหน้าต่างยาวห้าบานรอบส่วนหน้าของอาคารเชื่อมต่อทัศนียภาพกลางแจ้ง และทำให้ในทุกมุมของร้านมีแสงธรรมชาติอันเจิดจ้าบอกลาความมืด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของพื้นที่ที่จะเชื่อมโยงอาคาร ผู้คน และธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ตกแต่งภายในด้วยตะแกรงไม้เนื้อแข็ง

ผนังตกแต่งโครงไม้เนื้อแข็ง
จุดที่เป็นเสมือนไฮไลท์ของโรงน้ำชา คือ แกนกลางของบันไดที่ล้อมรอบด้วยตะแกรงไม้เนื้อแข็งเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยม ด้านข้างหันหน้าไปทางประตูหน้าและที่นั่งทุกด้านจะเป็นแบบเว้าเข้าสู่ตัวบันไดแต่เว้นพื้นที่ตรงกลางไว้ ทำให้มองเห็นเป็นช่องกลวงสามารถเชื่อมต่อภายในและภายนอกได้ บันไดใช้เฉพาะลูกนอนไม้เนื้อแข็ง ไม่มีแผ่นแนวตั้ง และปิดขอบด้วยเหล็กสีดำ ซึ่งมีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่น กระจังหน้าเว้านี้นอกจากจะคลุมพรางตาบันไดแล้ว และทำหน้าที่เสริมฮวงจุ้ยเป็นกำแพงกั้นะหว่างประตูทั้งสองบานที่อยู่ตรงด้วย

บันไดแบบหักกลับไม่มีลูกตั้ง

บันไดแบบหักกลับไม่มีลูกตั้ง

พื้นที่เปลี่ยนผ่านบนชั้นสองมีไว้เพื่อการจัดนิทรรศการเป็นหลัก และมีบูธตามทางเดินด้านใน แผ่นพื้นยังได้รับการขยายจากเดิม 2.3 เมตร เป็น 3 เมตร ไปสู่พื้นที่ว่างเพื่อให้มีพื้นที่นั่งเล่นที่กว้างขวางมากขึ้น

โคมไฟเหล็กดัดดีไซน์แปลกตา

สิ่งที่สะดุดตานอกจากตะแกรงไม้เป็นช่องตารางขนาดใหญ่ ที่ทอดลงมาจากเพดานราวกับน้ำตกในโซนบันไดแล้ว ยังมีโคมไฟลวดตาข่ายรูปทรงแปลกตาแขวนลงมาจากหลังคาโถงสูง  สิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพื้นหลังของโต๊ะน้ำชาทรงบาร์ ให้จังหวะของความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง

ปรับปรุงโรงน้ำชาเก่าให้โปร่ง สว่าง สงบ

ตกแต่งภายในด้วยตะแกรงไม้เนื้อแข็ง

แนวคิดเรื่องโรงน้ำชาได้รับการพัฒนามานานกว่าพันปีแล้ว พิธีชงชาจีนจึงมีความหลากหลายอย่างมาก ทางร้านจึงยังคงสร้างพิธีในรูปแบบของตัวเองต่อไป แต่ไม่ว่าจะไปทางไหน การพักผ่อนและความเงียบ นิ่ง สงบจิตใจ ยังคงเป็นเวทีแห่งชาจีนที่น่าพึงพอใจที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ YI+MU มุ่งเน้นไปที่พื้นที่ภายในที่วัสดุเรียบง่าย อบอุ่น และน่านั่ง โทนสีหลักเป็นสีเบจ สีเทา และไม้เป็นตัวกำหนดโทนสี เสาเหล็กทำหน้าที่เป็นเสมือนโครงกระดูก และผนังตกแต่งตะแกรงไม้เนื้อแข็งยังทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ออกไปและเชื่อมพื้นที่เข้าด้วยกัน

มุมดื่มชาสงบผ่อนคลายตกแต่งโคมไฟโครงเหล็ก

พื้นที่นั่งจิบชาบรรยากาศสงบผ่อนคลาย

ชั้นบนมีห้องดื่มชาแบบส่วนตัวเจาะเพดานสูงที่ตกแต่งด้วยโทนสีเบจและงานไม้ มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นจากเสื่อและการจัดแจกันดอกไม้เครื่องปั้นดินเผา หลังคากระจกคลุมด้วยเสื่อไม้ไผ่ให้ร่มเงา เมื่อมีแดดส่องแสงเงาที่ส่องประกายจะตกกระทบพื้นและผนังประดับประดาพื้นที่ ชวนให้มาดื่มชาอย่างเพลิดเพลินในพื้นที่ที่สว่าง สงบ สะอาด และมีความเป็นศิลปะ เมื่อความมืดมาเยือนออร่าของความอบอุ่นจากไม้และแสงไฟประดิษฐ์ก็จะแผ่ซ่านไปทั่ว

พื้นที่นั่งจิบชาบรรยากาศสงบผ่อนคลาย

ห้องกระจกหรูหราเห็นวิวรอบด้าน

ส่วนเฉลียงผู้ออกแบบยังคงรักษาช่องรับแสงแบบเดิมไว้ และเปลี่ยนเป็นศาลาดื่มน้ำชาผนังกระจกพร้อมโต๊ะเตี้ยๆ และเบาะสำหรับนั่ง ต้นไม้ภายในสวนตั้งตรงและมีทรงพุ่มที่ร่มรื่นล้อมรอบระเบียง จากศาลาน้ำชาจะมองเห็นฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านได้ชัดเจน ผู้มาเยือนรุ่นเยาว์หลั่งไหลมาอย่างไม่สิ้นสุด ทำให้สถานที่นี้กลับมามีชีวิตชีวาดึงดูดจิตวิญญาณของจีนให้ยังคงเติบโตขึ้นที่นี่ด้วย

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบร้านกาแฟ เบเกอรี่


โพสต์ล่าสุด