
บ้านชั้นเดียวกลิ่นอายญี่ปุ่น
ถ้าคุณขอให้เด็ก ๆ วาดภาพบ้านให้ดู ส่วนใหญ่จะวาดกล่องสี่เหลี่ยมง่าย ๆ ที่มีหลังคารูปสามเหลี่ยม มีประตู หน้าต่าง 2 บาน และอาจจะมีแถมปล่องไฟมาให้ด้วย (แม้ว่าบ้านเราจะร้อนและไม่มีปล่องไฟก็ตาม) ความเป็น “บ้าน” ที่ดูอบอุ่นน่ารักไม่ได้อยู่ในความทรงจำที่ชัดเจนสมัยเป็นเด็กเท่านั้น แม้แต่วัยผู้ใหญ่จนถึงผู้สูงวัยบางคนก็ยังชื่นชอบบ้านในบรรยากาศแบบนี้ แต่ในการใช้งานยุคใหม่บ้านที่สร้างมานานแล้วอาจไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้ทั้งหมด ต้องมีการปรับปรุงและต่อเติมเข้าไปบ้าง เนื้อหานี้เราจะพาไปชม Chapter ใหม่ของบ้านแบบคอทเทจอายุกว่า 100 ปี ที่อยู่ร่วมกับบ้านกลิ่นอายญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมาอย่างกลมกลืน
ออกแบบ : Inbetween Architecture
ภาพถ่าย : Peter Bennetts
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
“เรายังต้องการให้บ้านสะท้อนแนวทางการใช้ชีวิตของเรา” เจ้าของบ้านผู้ชอบความเรียบง่าย ใช้งานได้จริง และมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องการทำงานแบบไม่ได้พัก เพื่อสร้างบ้านหลังใหญ่ขึ้นหรือซื้อรถที่ใหญ่กว่าเดิม นี่คือวิธีที่ศิลปิน Phil และ Katrina มองมายังบ้านใน Ivanhoe อันเป็นที่รัก ทั้งคู่อธิบายว่า ‘เมื่อบ้านเก่าถูกปรับปรุงขยายออกไป คำว่า “รวม” มักจะแสดงให้เห็นการผนวกบ้านเก่าเข้ากับใหม่จนสูญเสียความสมบูรณ์ สำหรับทั้งคู่ต้องการปรับปรุงบ้านเดิมให้มีการไหลเวียนระหว่างสวนและบ้านมากขึ้น แค่เพิ่มบางอย่างให้มากขึ้นอีกนิดเดียว ด้านหน้าจึงยังคงแบบกระท่อมชานเมืองดูอบอุ่นน่ารัก แต่เปลี่ยนบรรยากาศเป็นญี่ปุ่นที่ด้านหลัง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เพื่อปรับปรุงความน่าอยู่ของบ้านอายุ 100 ปี โครงการนี้ขับเคลื่อนด้วยความคิดที่จะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แทนที่จะรื้อถอนพื้นที่เดิม สถาปนิกใช้การเพิ่มเติมอาคารขนาดเล็ก ๆ พื้นที่ 15 ตร.ม. เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงพื้นที่สูงสุดโดยไม่กระทบของเดิมที่มีอยู่ ตัวอาคารโครงสร้างทำจากไม้ที่ผ่านการถนอมด้วยไฟ (SHOU SUGI BAN) ให้สีดำขรึม บ้านยกสูงจากพื้นเล็กน้อยห้อมล้อมด้วย ‘engawa’ หรือเฉลียงทางเดินในบ้านแบบญี่ปุ่นที่สร้างความต่อเนื่องและช่วยเพิ่มปริมาตรภายในให้สามารถแบ่งปันคุณภาพเชิงพื้นที่กับลานส่วนตัวที่อยู่ไกลออกไป พร้อมทั้งให้ความยืดหยุ่นไม่ว่าจะเปิดหรือปิดภายใน บริเวณมุมชายคามีโช่รางน้ำฝนห้อยอยู่ ได้อารมณ์แบบ้านญี่ปุ่นที่สงบร่มเย็น
แม้ว่าทั้งคู่จะเห็นตรงกันว่าบ้านญี่ปุ่นมีความสวยงาม ด้วยขนาดกะทัดรัด สงบ ไม่เกะกะ และเน้นความงามตามธรรมชาติของไม้ แถมยังสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ก็ตาม แต่เจ้าของบ้านรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเองหรือบริบทแวดล้อม อย่างเช่น ประตูโชจิ คงจะไม่เหมาะกับการเปิดบ้านในช่วงดื่มน้ำชายามเช้า ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นประตูกระจกแทน นอกนั้นทีมงานได้ผสมผสานการออกแบบกลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่นเล็กๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่เป็นการพยายามจำลองบ้านแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม จึงเป็นที่มาของชายคาไม้ที่ยื่นออกมาและเฉลียงด้านหลังสไตล์เอนกาวะ ส่วนภายในบ้านก็เน้นงานไม้ เคาน์เตอร์ครัวแบบที่มักเห็นในบ้านญี่ปุ่นสมัยใหม่ มีชั้นวางของตกแต่งที่นำเสนอบรรยากาศแบบญี่ปุ่นวางอยู่ เป็นต้น
หนึ่งเป้าหมายหลักของการตกแต่งภายใน คือ การจัดเตรียมฉากหลังที่เรียบง่ายและเปิดกว้างสำหรับใส่ความสนใจ บุคลิกภาพ และศิลปะอันหลากหลายของฟิลและแคทรีนาให้แสดงอย่างเต็มที่ กลยุทธ์ของสถาปนิกคือให้ทุกซอกมุมเป็นพื้นที่ทำงาน และแสดงงานศิลปะและของสะสมที่ค่อย ๆ เก็บมาตลอดชีวิตได้จนอยู่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
ห้องน้ำเคาน์เตอร์ไม้ อ่างอาบน้ำไม้แบบญี่ปุ่นที่ทำจากไม้ซีดาร์ให้สัมผัสที่ผ่อนคลายยิ่งขึ้น อ่างนี้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในห้องน้ำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ทำโดยช่างฝีมือท้องถิ่นของ Melbourne เป็นความงามที่เรียบง่าย เมื่อลงไปแช่ตัวจะมีกลิ่นเหมือนดินสอ กลิ่นของต้นซีดาร์ก็โชยเข้ามาในบ้าน ให้ความใกล้ชิดธรรมชาติและผ่อนคลายสูงสุดเมื่ออาบน้ำ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : เทคนิคการถนอม ไม้ด้วย ‘ไฟ’ ที่รู้จักกันในชื่อ SHOU SUGI BAN หรือ YAKISUGI เป็นการเผาผิวไม้ตามภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น โดยให้เปลวไฟเผาผิวไม้ให้ไหม้เกรียมจนดำ ให้ลวดลายของแผ่นไม้มีความชัดเจนขึ้น เปลวไฟจะทำหน้าที่การเปลี่ยนแปลงสภาพและสารเคมีภายในไม้ ช่วยให้ไม่ทนต่อสภาพอากาศได้ดีขึ้น มีคุณสมบัติป้องกันแมลงกัดแทะ กันน้ำ และเป็นฉนวนป้องกันไฟได้ด้วย |