
บ้านผนังบล็อกแก้ว
ถ้าเป็นเมื่อก่อน “บล็อกแก้ว” จะถูกมองว่าเป็นวัสดุราคาถูก และมักจะถูกใช้ในส่วนที่ไม่ต้องการให้ผู้คนมองเห็นเข้ามาด้านใน โดยเฉพาะบริเวณผนังห้องน้ำ ซึ่งจะไม่มีบริเวณที่โชว์ด้านหน้าอาคาร แต่ระยะหลัง ๆ นี้บ้านยุคใหม่ๆ จะใช้บล็อกแก้วเป็นองค์ประกอบตกแต่งโชว์ภายนอกมากขึ้น และหลังนี้ที่ออกแบบโดย Baracco+Wright Architects ก็เช่นเดียวกัน จากด้านหน้าจะเห็นผนังบ้านที่เป็นสี่เหลี่ยมโปร่งแสงทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงความสวยงามที่สร้างได้แม้ไม่มีรูปทรงซับซ้อนและวัสดุราคาไม่แพง
ออกแบบ : Baracco+Wright Architects
ภาพถ่าย : Rory Gardiner
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
โครงการนี้เป็นอาคารต่อเติมจากบ้านบล็อกคอนกรีตยุค 80 ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งออกแบบโดย Ross Perrett อาคารหลังนี้สูง 1.5 ชั้น มีชั้นลอย และมีพื้นที่เพียง 26 ตารางเมตร นี่คืออาคารก่ออิฐหลังที่สองของ Baracco+Wright เลือกใช้ โครงสร้างอันเป็นเอกลักษณ์นี้ประกอบด้วยโครงเหล็กที่ไม่สมมาตร (ตามพื้นที่ดิน) หุ้มด้วยอิฐบล็อกแก้วทั้งหมด ซึ่งต้องคำนวณอย่างแม่นยำและฝีมือการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นวัสดุที่ตัดเจาะไม่ได้ และต้องลดความเสี่ยงที่อิฐแก้วจะแตกร้าว
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
แผนผังบ้านเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหนึ่งเป็นมุมแหลม อีกด้านหนึ่งเป็นเส้นโค้ง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การตอบสนองต่อรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่ายของบ้านหลังเดิม ตลอดจนการผลักและดึงของพื้นที่แคบที่เอียงออกจากเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้บดบัง รูปทรงนี้ทำให้รับรู้ความลึกที่เกิดจากแปลงสวนที่มีอยู่แล้วได้ดีขึ้น ในทางกลับกัน สวนเหล่านี้ได้สร้างปลายแหลมที่สนทนากับบ้านและมุมมองจากภายในออกสู่ภายนอก เอฟเฟกต์ของสวนทั้งสองข้างพรางตาให้อาคารดูเล็กเมื่อมองจากตัวบ้าน ในขณะที่สวนดูใหญ่กว่า
อาคารนี้ใช้เป็นอาคารสำหรับห้องนอนหรือพื้นที่ประเภทโรงรถเพิ่มเติม ซึ่งแยกเป็นอาคารแยกต่างหาก เนื่องจากตัวบ้านที่มีอยู่เดิมไม่เหมาะกับส่วนขยายนี้ ใช้เก็บจักรยาน อุปกรณ์ทำสวน และพื้นที่ยืดหยุ่นสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีส่วนของผนังโค้งและผนังมุมชนกันแบบสามเหลี่ยมุมแหลม เป็นรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่ายที่มักพบในสไตล์บรูทัลลิสต์ยุคหลัง ความแข็งแกร่งของบ้านจึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความโปร่งแสงผ่านบล็อกแก้ว ที่ให้แสงส่องผ่านเข้าไปในสวนและบ้าน ทำให้บ้านดูโปร่งสว่างแต่ยังคงเป็นส่วนตัว
ในบ้านจะมีช่องระบายอากาศ โดยสร้างที่ว่างโถงสูงสองเท่าเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งจะเห็นเสากลมสูงสีครีมเป็นตัวรับน้ำหนักเต็มความสูงเชื่อมต่อชั้นลอยและชั้นล่าง
ในบรรดาหลายๆ สิ่งที่พบในบ้านนี้ คุณสมบัติที่สะท้อนถึงตัวตนมากที่สุดประการหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์กับแสง ซึ่งการเลือกใช้วัสดุโปร่งแสงแบบนี้ ทำให้พื้นที่นั้นมีชีวิตชีวาด้วยแสงและเงา หากมองจากภายในออไป เมื่อแสงแดดสาดส่องจะเห็นเงาลางๆ ของใบแพนซี่สีเบอร์กันดีเข้มและกำแพงอิฐแดงข้างเคียงสร้างแสงสีชมพูอ่อนๆ ร่วมกับสีฟ้าและสีเหลืองที่ได้จากสภาพแวดล้อมโดยรอบ และเงาของใบไม้บางครั้งก็เหมือนเต้นรำไปตามสายลม เงาและสีเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามวัน โดยเข้มขึ้นและชัดเจนขึ้นก่อนจะหายไปในตอนกลางคืน
เมื่อช่วงค่ำอาคารจะนำเสนอตัวเองในแบบที่ย้อนกลับ คือ เมื่อเปิดแสงไฟภายในผนังก็เหมือนจะเรืองแสงและเปล่งประกายสว่างไสวแข่งกับแสงจันทร์ ให้บรรยากาศแตกต่างจากช่วงกลางวันในอีกรูปแบบหนึ่ง
แปลนบ้าน