
บ้านโมเดิร์นฟาซาดระแนงไม้
“ไม้” เป็นหนึ่งวัสดุที่ผู้คนนิยมนำมาสร้างอาคารบ้านเรือนในยุคก่อน ๆ แต่ในปัจจุบันด้วยจำนวนไม้ที่ลดลง ราคาที่สูงขึ้น และมีวัสดุใหม่ ๆ มาทดแทนบวกกับภาพลักษณ์ของบ้านไม้ที่ดูไม่อินเทรนด์ ทำให้งานไม้เริ่มลดความนิยมลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามไม้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในการช่วยเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นให้กับบ้าน ทำให้หลายปีมานี้บ้านในหลาย ๆ ประเทศเริ่มนำไม้กลับมาตีความแบบใหม่ ๆ ใส่ความโมเดิร์นเข้าไปอย่างน่ามอง บ้านหลังนี้ในอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน
ออกแบบ : Aaksen Responsible Aarchitecture
ภาพถ่าย : KIE
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านฟาซาดระแนงไม้
บ้านสไตล์โมเดิร์น เป็นโปรเจ็ครีโนเวทบ้านที่ใส่เปลือกบ้านใหม่ด้วยไม้ระแนงสีน้ำตาล ตัดกับหลังคาเมทัลชีทสีขาวที่ทำให้บ้านน่าสนใจ ด้านหน้าบ้านยังเพิ่มความโดดเด่นด้วยการเจาะหลังคากันสาดเป็นช่องให้ต้นไม้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของอาคารได้ นอกจากดีไซน์เหล่านี้แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ ไม้ที่ใช้ในการมุงหลังคาบ้านและส่วนอื่น ๆ ซึ่งเป็นไม้เก่าอายุหลายสิบปีแต่สภาพยังดีมาก ไม้เหล่านี้ถูกค้นพบระหว่างการรื้อบ้านคุณยาย (เจ้าของเดิม) มาจากต้นไม้ที่มีชื่อว่า Moluccan Albizzia ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เติบโตเร็วและราคาไม่แพง นำมาผ่านกระบวนการถนอมไม้ที่เรียกว่าการทำมัมมี่ไม้ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของไม้ธรรมชาติให้มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น
หน้าบ้านปกคลุมด้วยไม้ระแนงเป็นซี่ ๆ ฟาซาดแบบนี้นอกจากจะเป็นปราการให้บ้านมีความเป็นส่วนตัวจากสายตาผู้คนที่ผ่านไปมาแล้ว ยังช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติและรับแสงเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างพอเหมาะในขณะที่ทำหน้าที่กั้นกรองแสงไปด้วยในคราวเดียว
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เรียบง่ายโล่งตาชวนสบาย
กระบวนการออกแบบเน้นคงบางส่วนที่ยังใช้ได้เอาไว้และขยายโครงหลังคารวมถึงการวางเชิงพื้นที่ใหม่ให้ใช้งานได้มากขึ้นและดีขึ้น ในห้องนั่งเล่นใส่ผนังกระจกเปิดรับแสงสว่างและเพิ่มความโปร่งเบา กลางบ้านเจาะพื้นเพดานออกเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ในแนวตั้งระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง การตกแต่งเรียบง่ายไม่รกตาเน้นเฟอร์นิเจอร์โทนสีกลาง ๆ ที่ดูทันสมัย แล้วนำสิ่งก่อสร้างเก่าสู่โครงสร้างใหม่ โดยใช้ไม้ Moluccan Albizzia มาตกแต่งไว้รอบ ๆ บ้าน เช่น เพดานและห้องอ่านหนังสือ เพื่อเพิ่มความรู้สึกแบบท้องถิ่นให้อบอวลอยู่พื้นที่ภายใน
บ้านโถงสูงเปิดให้มองเห็นกัน
การทำบ้านโถงสูง Double Volume เพิ่มความพิเศษในการออกแบบ ด้วยความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานประมาณ 4 -6 เมตร ที่มากกว่าเพดานบ้านปกติ 2 เท่าทำให้จุดนี้มีความโอ่โถง และยังเอื้อให้มวลอากาศร้อนไหลขึ้นที่สูงความเย็นเคลื่อนเข้ามาแทนที่ได้ดี จึงทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นด้วย สามารถรับและกระจายแสงธรรมชาติเข้าสู่บริเวณใกล้เคียงของบ้านได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดของบ้านสองชั้นที่มักจะรู้สึกทึบเพราะมีเพดานปิดกั้นลงได้ด้วย
พื้นที่รอบ ๆ ช่องว่างโถงสูงทำเป็นชั้นลอย ที่สมาชิกในบ้านสามารถติดต่อสื่อสารกันระหว่างได้ง่ายขึ้น เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่ทำให้หลาย ๆ บ้านเริ่มหันมาสร้างบ้าน Double Space กันมากขึ้น
คอร์ทในบ้านเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบบ้านมากขึ้น เพื่อช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติและใส่ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ในบ้านหลังนี้จัดเป็นพื้นที่ห้องกระจกเล็ก ๆ หลังห้องนั่งเล่น ปูพื้นด้วยไม้โรยกรวดล้อมรอบ เพิ่มความรู้สึกของลานนั่งเล่นกลางแจ้งด้วยการใส่ช่องแสง Skylight ดึงแสงเข้าสู่ตัวบ้าน ให้บ้านดูไร้หลังคาเหมือนยกพื้นที่กลางแจ้งมาเก็บไว้ภายในโดยไม่ต้องกังวลเรื่อง แดด ลมและฝน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ภูมิปัญญาในการรักษาเนื้อไม้ให้อยู่ในสภาพดีของแต่ละท้องถิ่น ก็แตกต่างกันไปตามประสบการณ์และความเหมาะสม อย่างในประเทศไทยก็ใช้วิธีการนำไม้เนื้อแข็งไปแช่ในน้ำเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งจะช่วยเจือจางแป้งและน้ำตาลในเนื้อไม้ ทำให้มดหรือปลวกไม่กัดกิน ในญี่ปุ่นมีการถนอมเนื้อไม้ด้วยไฟ (Shou Sugi Ban) โดยใช้เปลวไฟเผาผิวไม้ช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพและสารเคมีภายในไม้ ส่วนในอินโดนีเซียเกษตรกรใน Ciamis (ชวาตะวันตก) จะใช้วิธีทำมัมมี่ไม้ หรือ การฝังไม้ท้องถิ่นเอาไว้ในนาข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งการบดอัดดินนี้จะเพิ่มคุณสมบัติของเนื้อไม้อย่างมีนัยสำคัญทำให้สามารถใช้งานได้นานถึง 30-45 ปี |
แปลนบ้าน