
ออกแบบแสงไฟสร้างบรรยากาศในบ้าน
ระบบแสงสว่างในบ้าน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำหน้าที่หลัก ๆ คือ ทำให้เรามองเห็นภายในได้ชัดเจน แต่ในแง่ของงานสถาปัตยกรรมแสงยังมีส่วนสำคัญในการเติมบรรยากาศบ้านไม่น้อย เพียงสีของแสงเปลี่ยนอารมณ์และความรู้สึกของพื้นที่นั้นๆ ก็ต่างไป เจ้าของบ้านรุ่นใหม่ๆ จึงใส่ใจกับการออกแบบแสงมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการสร้างสภาพแวดล้อมแบบที่ต้องการ บางคนอาจจะชอบแสงสีขาว แสงสีธรรมชาติ แต่บางคนกลับชอบแสงสีนวลตาดูอบอุ่น สำหรับเนื้อหานี้เราจะพาไปดูการออกแบบตกแต่งภายในห้องชุดที่ใช้แสงสร้างบรรยากาศอบอุ่นแต่ทันสมัยมาฝากกันครับ
ออกแบบ: Studio B
เนื้อหา: บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
อพาร์ทเมนท์นี้อยู่ในเทเป ไต้หวัน พื้นที่ห้อง 45 ตารางเมตร ออกแบบตกแต่งภายในโดย Studio B ในสไตล์ Mix and Match ที่เรียบคลีน เลือกใช้โทนสีหลักแบบเอิร์ธโทน มีสีหลักคือเทาคอนกรีตของผนังรอบบ้าน ตัดด้วยเฟอร์นิเจอร์สีน้ำตาลอิฐ สีดำ และพื้นไม้ลายก้างปลา เมื่อประตูทางเข้ามาด้านขวามือที่เป็นส่วนนั่งเล่นจะเห็นรูปแบบแสง strip light หรือ ไฟเส้น ไฟหลืบ ติดตั้งตรงขอบผนังติดพื้นยาวหลายเมตร นำสายตาเน้นไปที่ส่วนสำคัญของห้องนั่งเล่น เพิ่มความมีมิติและสร้างความน่าสนใจเพียงใช้แสงเท่านั้น
ตามปกติในบ้านจะมีไฟหลักที่ใช้ภายในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ส่องสว่าง และไฟเพิ่มบรรยากาศซึ่งอาจเป็นไฟราง ไฟสปอร์ตไลท์ส่องตามจุด ไฟซ่อนฝ้า ไฟซ่อนในเฟอร์นิเจอร์บริเวณชั้นวางของติดผนัง ไฟซ่อนในกล่องผ้าม่าน หรือโคมไฟตั้งพื้น โคมไฟตั้งโต๊ะสำหรับบ้านนี้ก็มีไฟหลักเช่นกัน โดยจะเป็นโคมไฟแขวนกระจกฝ้าสี Warm white ให้แสงสลัว ๆ นวลตา สร้างบรรยากาศของทั้งบ้านให้ดูผ่อนคลาย สบายตา ไม่เน้นความสว่างจ้า และวางไฟตกแต่งที่ติดตั้งอยู่ตามจุด ในบ้านที่ต้องการเน้นความน่าสนใจด้วยแสง
บริเวณโต๊ะรับประทานอาหาร คือจุดหลักที่ติดโคมไฟแขวน 2 ดวง เป็นจุดเด่นภายในบ้าน แสงไฟแบบนี้หากรวมเข้ากับแสงเทียนยิ่งทำให้บรรยากาศโรแมนติก เหมาะสำหรับจัดมื้อพิเศษได้ที่บ้าน และมีส่วนที่เติมลูกเล่นด้วยแสงไฟเน้นไปที่ตัววัตถุตรงชั้นวางติดผนัง สำหรับโซนเคาน์เตอร์ครัวก็ยังคงใช้แสงสีเดียวกันกับจุดอื่นๆ คือ warm white เป็นไฟกล่องใต้ตู้ครัว ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาทำครัวจะต้องการแสงที่สว่าง เพื่อให้เห็นสีและการสุกของอาหาร แต่ทั้งนี้สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้ใช้งาน
สำหรับการแบ่งโซนในบ้าน จะออกแบบให้มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะส่วนที่ใช้งานสาธารณะ คือ ห้องนั่งเล่นหลัก ครัว ห้องทานข้าว ที่ใช้งานเชื่อมต่อกันได้ โดยไม่ใช้วิธีการก่อปิดทึบแยกเป็นห้องๆ ซึ่งจะทำให้บ้านดูแคบลง แต่เลือกใช้บานกระจกลอนแก้วเป็นผนังบ้านที่เสามารถเลื่อนเปิดออกได้หมดเป็นพื้นที่โล่ง หรือแยกกั้นเป็นอีกห้องหนึ่งเพื่อความเป็นส่วนตัว
ห้องพักผ่อนล้อมกระจกลอนแก้วที่เลือกระดับการเปิดออกเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ ได้นี้ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย โดยที่ไม่ทำให้ภายในไม่ทึบแคบ การกระจายแสงทั้งธรรมชาติและแสงไฟประดิษฐ์ทำได้ดีแม้จะเป็นสีออกโทนส้มที่ไม่ค่อยสว่าง ด้วยความโปร่งแสงของวัสดุ และเมื่อเปิดไฟข้างใน แสงไฟที่ส่องทะลุออกมาลางๆ ทำให้บรรยากาศของบ้านเหมือนอยู่ในกระท่อมที่มีแสงไฟจากกองฟืน ท่ามกลางฤดูหนาวอย่างไรอย่างนั้น
สำหรับพื้นที่ 45 ตารางเมตรนี้ถือว่าอยู่ในระดับความกว้างที่ไม่มากแต่ก็ไม่น้อย การจัดสรรพื้นที่ให้ครบฟังก์ชันแบบไม่รู้สึกว่าถูกผนังสี่ด้านบีบอัดจึงสำคัญ สำหรับบ้านนี้ใช้การตกแต่งชิ้นชิ้นมาก ๆเน้นเฉพาะที่สำคัญ พื้นที่มีวิธีใช้งานที่ยืดหยุ่น วัสดุที่โปร่งแสงหรือโปร่งใสก็ช่วยให้ห้องสว่างเบาลอย ในพื้นที่ผนังห้องตรงโถงทางเดินยังเป็นบานกระจกที่ส่องสะท้อนห้องนั่งเล่นส่วนตัว ช่วยพรางตาทำให้บ้านกว้างขึ้นได้อีกทาง
ในห้องน้ำตกแต่งผนังด้วยกระเบื้องลายหินอ่อนริ้วสีเทาและกระเบื้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีอิฐ ติดตั้งหลอดไฟฝังฝ้าสีวอร์มไวท์ (Warm white) ซึ่งมีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 2,000 – 3,000 เคลวิน ให้แสงสีเหลืองเข้ม ไปจนถึงสีส้ม เมื่อส่องสะท้อนสีของผนังทำให้ภาพรวมของห้องน้ำดูสบาย ผ่อนคลาย เหมือนได้รับการโอบล้อมจากธรรมชาติอย่างดินและหิน